คอลัมนิสต์

สัมผัส"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

        


          เส้นทางค้นหา..ยอดเขาขี้อาย “Everest” เทคนิคและเคล็ดลับสำหรับผู้ไม่เคยเดินเขาเดินป่า...แต่อยากทำตามความฝันพิชิต "EBC" เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 

          การทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการไปชื่นชม ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่เบสแคมป์ นั้น ในอดีตต้องใช้พลังขาเดินเขาขึ้นไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8-10 วันเท่านั้น แต่ในวันนี้ใครมีตังค์แล้วไม่อยากลำบากสามารถจ่ายเงินเหมาลำเฮลิคอปเตอร์บินไปลงที่เบสแคมป์ถ่ายรูปเท่ๆ มาอวดเพื่อนได้เลย

 

 


          แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือ การอดพิสูจน์ว่า “ร่างกาย” ของเรามีความอึดหรือความทรหดสะสมไว้มากน้อยเท่าไร เพราะ “ยิ่งขึ้นสูง ยิ่งอยู่นาน ยิ่งท้าทาย” และธรรมชาติมักมีรางวัลรอมอบให้ผู้พิชิตความยากลำบากได้เสมอ...


          วันที่ 4-5 Phakding - Namche Bazaar ความสูง 3,440 เมตร


          “บีไนฟ์” (Binaya) ไกด์ของเราเตือนแต่เช้าว่า ขอให้กินเบรกฟาสต์เยอะๆ เพราะต้องเดินระยะทางไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร ประมาณ 8 ชม. ช่วง 3 กิโลเมตรสุดท้ายจะเป็นบันไดหินสูงชันต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง พวกเราออกเดินทางตั้งแต่ก่อน 8 โมงเช้า การเดินไต่ระดับด้วย “วอล์กกิ้ง สติ๊ก” หรือไม้ค้ำยันช่วยในการทรงตัวเวลาปีนขึ้นบันไดหินใหญ่ๆ ต้องคอยปรับไม้ค้ำ “วอล์กกิ้ง สติ๊ก” ให้เหมาะสม (เคล็ดลับ : หากเดินทางเรียบต้องปรับให้พอดีแขน ขึ้นบันไดต้องปรับสั้นกว่าปกติ ถ้าลงบันไดต้องปรับยาวหน่อย)

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 

 

          ที่สำคัญระหว่างทางเดินต้องระวังจังหวะหลบหลีกขบวนคาราวาน จามรี ม้า ควาย ที่ใช้ขนแบกสินค้าขึ้นลงภูเขา พวกมันเดินกันแบบเจ้าถิ่นไม่หลบให้ใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราต้องคอยหลบแทน เพราะถนนคับแคบ ความกว้างแค่ 2-3 เมตร หลบไม่ดีตกเขาได้ง่าย และต้องเตือนตัวเองให้หลบถูกทางด้วย คือหลบไปทางฝั่งภูเขาไม่ใช่ฝั่งหน้าผา “บีไนฟ์” เล่าว่า เมื่อไม่กี่วันที่แล้ว มีข่าวฝรั่งคนหนึ่งตกหน้าผาเสียชีวิต เพราะยืนหลบขบวนคาราวานเจ้าถิ่นผิดฝั่ง ไปอยู่ฝั่งหน้าผา แล้วโชคร้ายโดนเบียดลื่นไถลตกลงไป ไม่มีใครช่วยได้ทัน

 

 


          วันนี้เดินลัดเลาะมาสักพัก รู้สึกเหนื่อยกว่าเมื่อวานมาก ต้องหยุดพักดื่มน้ำเยอะๆ ปรับร่างกายสมดุล ปกติเวลาอากาศเย็นคนเรามักรู้สึกไม่หิวน้ำ แต่ที่จริงแล้วร่างกายต้องการน้ำไปทดแทนการสูญเสียพลังงานและเหงื่อที่แห้งออกมาโดยไม่รู้ตัว (เคล็ดลับ : ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 5 ลิตร เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ dehydration symptoms)

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 


          จุดที่เป็นไฮไลท์ของวันนี้คือ สะพานฮิลลารี่ (Hillary bridge) สะพานเหล็กผูกผ้ามงคลหลากสีสัน มองลงไปด้านล่างเห็นเป็นลำธารน้ำสีฟ้าใสไหลแรงกระทบโขดหิน จินตนาการว่าน้ำคงเย็นยะเยือกน่าดู บีไนฟ์อธิบายว่า กระแสน้ำในลำธารไหลแรงจนปลาอาศัยอยู่ไม่ได้ ทำให้เมนูอาหารท้องถิ่นไม่มี “ปลา” แม้ว่าหมู่บ้านและที่พักหลายแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากลำธาร


          หลังจาก “สะพานฮิลลารี่” ก็เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงเมืองนัมเช บาซาร์ ถือเป็นเส้นเดินไต่บันไดหินโค้งชันโหดน่าดู พวกเราหยุดพักยืนหอบหายใจเกือบทุก 15 นาที กว่าจะไต่ผ่านมา 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง หลายคนหมดแรงแทบถอดใจ ไกด์หนุ่มของเราส่งเสียงเชียร์และให้กำลังใจเป็นระยะๆ ว่าอีกนิดเดียว อีกนิดเดียว !


          ตอนนี้เข้าใจกระจ่างแล้วว่า ทำไมต้องให้หยุดพักนอนเอาแรงพร้อมปรับสภาพร่างกายที่นัมเช 2 คืน เพราะแต่ละก้าว แต่ละก้าว เหมือนไปดึงพลังแรงงานที่สะสมมาเกือบหมดร่างกาย ยิ่งช่วง 1 ชั่วโมงสุดท้ายหลังจากเดินและปีนเขามาแล้วกว่า 7 ชั่วโมงนั้น กว่าจะก้าวขาขึ้นบันไดแต่ละขั้นได้ ต้องหยุดสูดหายใจลึกๆ 2–3 ที แอบกระซิบบอกตัวเองว่า ไม่รีบๆ สู้ๆ !!

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 


          พวกเราแทบเป็นกลุ่มสุดท้ายที่มาถึงตอนเกือบ 4 โมงเย็น เมื่อมองไปข้างหลังไม่เห็นกลุ่มนักเทรคกิ้งเดินตามขึ้นมาเลย มีเพียงกลุ่มผู้สูงวัยฝรั่งไม่กี่คนเท่านั้น แต่เมื่อมองข้างหน้าเห็น วิวพาโนรามาของเมืองนัมเช บาซาร์ บ้านหินสีเทาขอบประตูสีฟ้าแดงเขียว สร้างเรียงไล่ระดับสูงต่ำสวยงามหลากสีสันและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สายตาเหลือบไปเห็นร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยเปลี่ยนเป็นจินตนาการถึงถ้วยข้าวสวยร้อนๆ ปลาย่าง และซุปมิโซะขึ้นมาทันที


          ระหว่างพัก 2 คืนปรับร่างกายให้คุ้นเคยกับความสูง 3,000 กว่าเมตร พวกเราเดินขึ้นภูเขาเล็กๆ ไปชม Sagarmatha National Park จุดแรกของเส้นทางนี้ที่สามารถมองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ แม้มองเห็นได้ไกลๆ แค่นี้ก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นด้วยตาจริง แม้อยู่ไกลลิบลับและมีเทือกเขาอื่นซ้อนบังอยู่ พวกเรามองด้วยความปลาบปลื้มปีติ แต่ชื่นชมได้แค่ไม่กี่นาที เมฆหมอกก้อนใหญ่ก็พัดมาปกคลุม สมกับที่ได้ฉายาเป็นยอดเขาหนุ่มขี้อายจริงๆ

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 


          ภายในห้องพักที่นัมเช มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำอุ่น หลายคนไม่ได้อาบน้ำมาหลายวันตั้งแต่ลุคลา ก็ได้อาบน้ำที่นี่เป็นครั้งแรกเป็นที่พักแห่งเดียวที่มีไดร์เป่าผมให้ยืม นอกนั้นพวกเราไม่ได้อาบน้ำเลยอีก 6–7 วันข้างหน้า นอกจากบางคนทนไม่ไหวจริงๆ ยอมอาบน้ำกึ่งอุ่นกึ่งเย็น แต่ก็เสี่ยงกับการจับไข้ไม่สบายได้ง่ายๆ


          หลังจากพักผ่อนเดินเล่น กินขนม กินอาหารและช็อปปิ้งอุปกรณ์ที่ขาดหรืออยากได้เพิ่ม ร่างกายก็สะสมพลังขึ้นมาใหม่ พร้อมออกเดินทางต่ออีกครั้ง วันที่ 6  Pangboche ความสูง 3,985 เมตร ระยะทางเดิน 10 กิโลเมตร ไม่มีบันไดหินชันให้ปีนป่ายมากนัก เพียงแต่ต้องเดินช้าลง เพราะออกซิเจนเริ่มน้อย ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชม. เข้าสู่ที่พัก พวกเราเริ่มมีอาการปวดหัวจาก “อาการแพ้พื้นที่สูง” (Altitude sickness) หรือเอเอ็มเอส (Acute Mountain Sickness : AMS) (เคล็ดลับ : พยายามกินน้ำชาใส่ขิงสับกับน้ำผึ้งเยอะๆ วันละหลายๆ แก้ว)


          สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนการเข้านอนคือการปรับตัวให้เข้ากับอากาศ (acclimatization) ด้วยการเดินขึ้นไปให้สูงกว่าที่เราพักประมาณ 200 เมตร อยู่บนนั้นอย่างน้อย 30 นาที เมื่อลงมาถึงที่พักจะทำให้นอนหลับสบายขึ้น เปรียบเสมือนเวลาก่อนออกกำลังกายแล้วยืดขาก้มตัวมากๆ รู้สึกตึงแข็งที่กล้ามเนื้อ แต่พอหยุดทำแล้วจะรู้สึกกล้ามเนื้อผ่อนคลายขึ้นทันที

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 


          พอถึงวันที่ 7 การเดินขึ้นเขาจาก Pangboche ไป Dingboche ความสูง 4,410 เมตร และวันที่ 8 ไปถึง Lobuche ความสูง 5,030 เมตร ระยะทางวันละกว่า 8-9 กม. การเดินเขาด้วยความสูงขนาดนี้ ออกซิเจนเริ่มน้อยลงทำให้ใช้เวลามากขึ้นเรื่อยๆ เดินช้าและหยุดพักระหว่างทางเป็นระยะๆ แนะนำให้เริ่มออกเดินทางเช้าตรู่ตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพื่อให้ไปถึงที่หมายก่อนเย็น


          วันที่ 9 คือวันแห่งความตื่นเต้นที่สุด ! เพราะเรากำลังจะไป Gorakh Shep ความสูง 5,140 เมตร แม้มีระยะทางลดเหลือแค่ 4.5 กิโลเมตร แต่อาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 ชม. อากาศที่มีออกซิเจนเบาบาง หลายคนมาไม่ถึงเพราะอาการแพ้ความสูงแผลงฤทธิ์อย่างรุนแรง นักเทรคกิ้งส่วนหนึ่งร่างกายทนไม่ไหว ปวดหัว อาเจียน เดินเซ กินยาอะไรก็ไม่หาย ไกด์ต้องปลอบใจ พาแยกตัวออกจากทริป เดินกลับลงพื้นที่ต่ำเพื่อให้ร่างกายรับออกซิเจนมากขึ้น


          เมื่อมาถึง Gorakh Shep หลังหยุดพักรับประทานอาหารเที่ยง พวกเราตัดสินใจขอเดินลุยต่อไปอีก 3 ชั่วโมง เพื่อทำความฝันให้กลายเป็นความจริงสักที ขอยอมรับว่าเส้นทางช่วงสุดท้าย 3.5 กิโลเมตร ก่อนพิชิตพื้นที่เป้าหมาย เอเวอเรสต์เบสแคมป์ เป็นช่วงสาหัสสุด เพราะเกิดอาการปวดหัวกันถ้วนหน้า แต่ละก้าวที่เดินไปอย่างช้าๆ นั้นรับรู้ได้ถึงหัวใจเต้นหนักๆ พร้อมเสียงหายใจหอบรัวๆเป็นระยะๆ

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 


          เส้นทางโค้งสุดท้าย เป็นพื้นทางเดินเต็มไปด้วยก้อนหินหลากหลายขนาด แซมด้วยพุ่มไม้ต่ำหรือต้นสนเตี้ยๆ บรรยากาศข้างทางสวยแปลกตา มีธารน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งขาวโพลนล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาหิมาลัยที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะซ้อนๆ กัน ช่วงใกล้ถึงอีบีซี จะมองเห็นเต็นท์สีเหลืองจัดวางเป็นกลุ่มๆ พื้นที่นี้ห้ามเข้าเพราะสงวนไว้สำหรับนักไต่เขาที่หวังจะขึ้นไปพิชิตยอดสูงสุด 8,848 เมตร


          ในที่สุดกรุ๊ปเราก็ทำสำเร็จ ทุกคนมาถึง “ก้อนหินธงชัย” เต็มไปด้วยธงเล็กๆ สีสันสวยงามขึงร้อยเรียงเป็นสัญลักษณ์...


          เอเวอเรสต์เบสแคมป์ ไม่มีป้ายชื่อใหญ่โต นอกจากก้อนหินธงชัยแล้วก็มีก้อนหินยักษ์พ่นสีสเปร์ยกระป๋องเป็นอักษรสีแดงคำว่า "EVEREST BASE CAMP 5364 m" จุดเช็กอินสำคัญที่ต้องปีนป่ายขึ้นไปแอ็กชั่นถ่ายรูปให้ได้

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

 

 


          แทบไม่น่าเชื่อว่า ความรู้สึกปวดหัว ปวดร้าวกล้ามเนื้อแขนขา ที่ทรมานมาหลายชั่วโมง หายเป็นปลิดทิ้งทันที....


          เสมือนว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาแห่งนี้ มอบเป็นรางวัลให้ผู้ทุ่มเทพลังกายและพลังใจจนมาถึงที่นี่ได้ ความรู้สึกที่มองเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ใกล้ๆ ชัดๆ ด้วยตาตัวเองนั้น ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร...


          ใครอยากสัมผัสความรู้สึกนี้ ให้ตัดสินใจวิ่งตามความฝันไปเลย ...สุดยอดเส้นทางมหัศจรรย์ของโลก !


          The best view comes after the hardest climb !

 

 

 

สัมผัส\"ยอดเขาขี้อายเอเวอเรสต์\"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ