คอลัมนิสต์

หยุดเถอะ!ค่านิยม"เด็กอ้วนน่ารัก"แนะพ่อแม่ปิดเทอมอย่าตามใจลูก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ...

 


          ผู้ใหญ่ควรเลิกค่านิยมชม “เด็กอ้วนน่ารัก” แต่ควรหันมาให้ความตระหนัก ใส่ใจ ช่วยควบคุมอัตราเด็กอ้วนที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมด้วยการเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้บุตรหลาน ก่อนปล่อยให้เกิดโรคอ้วนในเด็กและนำพาไปสู่ความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต

 

 

          “อุ๊ย อ้วนจ้ำม่ำ น่ารักจัง” คำพูดชื่นชมด้วยน้ำเสียงเอ็นดูเมื่อเห็นเด็กอ้วน ได้ยินมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหมือนเป็นการสนับสนุนว่า เด็กต้องอ้วน จึงจะดูน่ารัก ทำให้ผู้ปกครองขาดการตระหนักถึงภัยคุกคามที่คืบคลานเข้ามาอย่างเงียบๆ เพราะภายใต้ความน่ารัก จ้ำม่ำ ของเด็กอ้วนคนนั้นๆ สุขภาพของน้องอาจจะไม่ดีและมีปัญหาก็เป็นได้ และเมื่อยิ่งน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของอายุ ยิ่งส่งผลเสียให้เกิดโรคร้ายคุกคามตามมาด้วย


          รายงานจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมอนามัย ระบุว่า พ.ศ.2559 มีเด็กวัยเรียนที่มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน มากถึงร้อยละ 13.1 และเด็กที่เป็นโรคอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสเป็นโรคอ้วน 1 ใน 4 และจะส่งผลต่อเนื่องหากเด็กอ้วนจนถึงวัยรุ่น เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 3 ใน 4 ที่จะนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs)


          สอดคล้องกับคำแนะนำของ ผศ.พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “เด็กอ้วน อาจจะดูน่ารัก แต่อาจจะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยแข็งแรง” เนื่องจากเด็กอ้วน น่ารัก จะกลายเป็นโรคอ้วน นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานในเด็ก และมีโรคอื่นๆ ติดตัวไปด้วยเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่




          จากสภาพวิถีชีวิตในปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้อให้เด็กซื้ออาหารรับประทานได้ง่าย จึงง่ายต่อการรับประทานอาหารได้ตามใจปากและต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือ ได้รับพลังงานอาหารเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ได้โรคอ้วน และเบาหวานตามมาในที่สุด ส่งผลให้พัฒนาการของโรคเบาหวาน จากร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 17.9 ในปัจจุบัน


          นอกจากนั้นยังตรวจพบอีกว่า อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยิ่งเพิ่มมากขึ้นในเด็ก ซึ่งยังไม่นับรวมวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น และเนื่องจากคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้รู้เท่าทัน ยกเว้นน้ำตาลสูงหรือต่ำจนเกินไป จึงยากต่อการประเมินได้ด้วยตัวเอง ทางที่ดีคือไม่ปล่อยให้บุตรหลานเกิดโรคอ้วนจนนำพาไปสู่โรคเบาหวาน


          “เราพบว่าอัตราการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กมาจากโรคอ้วน และเบาหวานในเด็กควบคุมยากกว่าผู้ใหญ่ ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เมื่อเริ่มโตเป็นวัยรุ่น ฮอร์โมนเปลี่ยนจะยิ่งควบคุมยากยิ่งขึ้น ทางที่ดีคือ ดูแลสุขภาพไม่ให้เด็กเป็นโรคอ้วน จนเป็นโรคเบาหวานน่าจะดีสุด” ผศ.พญ.หทัยกาญจน์ กล่าว


          ด้าน ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ หัวหน้าโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงอันตรายของโรคอ้วนในเด็กว่า ผู้ใหญ่ควรเลิกค่านิยมชื่นชม “เด็กอ้วนน่ารัก” เพราะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด การปล่อยให้เด็กอ้วนนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ใช่เด็กจ้ำม่ำ หรือเด็กอ้วน คือเด็กน่ารัก ดังที่เคยคิดกัน


          ที่ผ่านมาได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยตนเอง จากการตรวจสุขภาพร่างกายเด็กนักเรียน จาก 5 โรงเรียนในสังกัดเครือข่ายของภาครัฐ สพฐ. ที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการตรวจวัดความดัน พบว่า มีปื้นดำที่คอ ซึ่งเกิดภาวะดื้อของฮอร์โมนในเรื่องการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย เมื่อเวลาอ้วนมากๆ จะมีภาวะดื้อ แล้วจะเกิดปฏิกิริยาต่อเซลล์ผิว ทำให้เกิดเป็นปื้นสีดำขึ้นมา แสดงว่า เด็กอ้วนมากเกินไป และเริ่มจะเสียงต่อการเป็นโรคเบาหวาน


          นอกเหนือจากความเสี่ยงโรคเบาหวาน สิ่งที่พบต่อมาคือ โรคความดันโลหิตสูงในเด็ก เพราะเด็กที่อ้วนมากๆ จะมีความดันสูงมากกว่าปกติ จากการตรวจพบว่า เด็กบางคนมีความดันสูงกว่าผู้ใหญ่ เด็กบางรายเคยตรวจเจอความดันสูงถึง 150 ต้องรีบแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อพาไปรักษา และเมื่อตรวจไขมัน พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอ้วน มีน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเบาหวานทุกคน แต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานสูงมาก แต่ที่น่ากังวลกับสิ่งที่ตรวจพบคือ ร้อยละ 70 ขึ้นไป มีไขมันในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต


          ซึ่งข้อมูลที่ตรวจพบนี้ เริ่มทำให้ผู้ปกครองตระหนักและใส่ใจบุตรหลานเพิ่มมากขึ้นในระยะแรก โดยเริ่มมีการควบคุมจนเด็กมีน้ำหนักลดลง แต่ไม่มีความยั่งยืนเพราะน้ำหนักได้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม ซึ่งผู้ปกครองไม่ได้อยู่ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็กจึงสามารถรับประทานอาหารเองได้ตามใจเพิ่มมากขึ้น


          ศ.พญ.ชุติมา กล่าวเพิ่มอีกว่า แนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เด็กห่างไกลจากโรคอ้วนได้นั้น ต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างอดทน ต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมผู้ปกครองไม่ควรทิ้งอาหารที่ไม่มีประโยชน์ให้เด็กหยิบรับประทานเอง ควรเปลี่ยนจากน้ำอัดลมมาเป็นน้ำเปล่าอยู่ในตู้เย็น และเตรียมอาหารที่มีประโยชน์จัดใส่ตู้เย็นไว้ให้เพื่อง่ายต่อการรับประทาน เช่น อาหารพวกธัญพืช กล้วย 1 ผล ฝรั่งครึ่งผล หรือ มะละกอ 6-8 ชิ้น จัดเรียงใส่กล่องให้พอดีต่อการรับประทานหนึ่งครั้ง และเพื่อง่ายเมื่อเด็กนำมารับประทานด้วยตัวเอง


          พร้อมกันนั้น ผู้ปกครองควรสร้างวินัย 3 ข้อ ให้บุตรหลานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง วินัยข้อหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของการรับประทาน ฝึกให้เป็นเวลา สามมื้อ ไม่กินจุบกินจิบ รวมถึงชนิดของอาหารที่รับประทานก็ต้องมีประโยชน์ และควรฝึกให้รับประทานมื้อเช้าทุกวัน เพราะเป็นมื้อสำคัญที่สุด วินัยข้อสอง ว่าด้วยเรื่องของการใช้เวลา ควรฝึกให้เด็กให้รู้ว่า ช่วงนี้เป็นเวลารับประทาน เป็นเวลานอน และเป็นเวลาออกกำลังกาย เมื่อถึงเวลานอนต้องนอน เพราะเดี๋ยวนี้เด็กนอนดึก ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนของฮอร์โมนซึ่งเกิดความหิว อยากรับประทาน เมื่อรับประทานเยอะก็ยิ่งทำให้อ้วน และ วินัยข้อที่สาม ว่าด้วยเรื่องของการใช้เงิน ควรฝึกและสอนให้เด็กรู้จักเลือกและซื้ออาหาร รู้จักเปรียบเทียบว่า อาหารอะไรเกิดประโยชน์ หรือไม่เกิดประโยชน์ ถ้าอยากรับประทานแต่เป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรซื้อ


          เมื่อทราบถึงภัยร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในความน่ารักของเด็กอ้วนแล้ว ผู้ใหญ่ยุคใหม่ควรเปลี่ยนค่านิยมจากเด็กอ้วนน่ารักมาเป็นการตระหนัก คิดใหม่ว่า เลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรให้สุขภาพดี ห่างไกลจากโรคอ้วนวัยเด็กกันดีกว่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ