คอลัมนิสต์

ใกล้เข้าคูหาต้องจับตา'ผู้มีอิทธิพล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง  โดย... มณเฑียร  อินทะเกตุ 


 

          การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม แม้จะกำหนดวันเวลาเข้าคูหาที่ชัดเจนแล้ว แต่ “กูรูการเมือง” ยังไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะภาพรวมของฝ่ายการเมืองหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกเปิดทางให้ทำกิจกรรมยังคงโจมตีตอบโต้กันไปมา รวมถึงความเคลื่อนไหวมวลชนอาจจะเกิดการยั่วยุจนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้

 

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความดุเดือดเข้มข้น มีกระแส “ฟีเวอร์” เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงเรื่อง “เซอร์ไพรส์” ต่างๆ นานา ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ใกล้เข้าโค้งสุดท้ายแล้วก็ตาม ฉะนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยให้การเลือกตั้งเดินไปข้างหน้าตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ให้มีความรุนแรงวุ่นวาย ทำผิดกฎหมายซื้อสิทธิ์ขายเสียง


          ว่าด้วยการดูแลความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นกลุ่มบุคคลหรือผู้มีอิทธิพลจึงเป็นอีกปัจจัยที่ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจต้องจับตาดู หาข่าว ดูความเคลื่อนไหว เพื่อรับมือจัดทำแผนป้องกันไม่ให้ก่อความวุ่นวายป่วนการเลือกตั้งครั้งนี้


          ย้อนไปเมื่อปี 2559 ช่วงต้นเดือนมีนาคม คสช. โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึงผบ.พล.1 รอ. เชิญหัวหน้าฝ่ายการข่าวเพื่อร่วมประชุมเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เคยให้ข้อมูลในขณะนั้นว่า ผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในการจับตาของเจ้าหน้าที่มีประมาณ 6,000 ราย โดยมีทั้งบุคคลทั่วไป ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และข้าราชการทหาร ตำรวจ




          สำหรับผู้ที่เข้าข่ายมีอิทธิพลแบ่งเป็น 16 ฐานความผิด ได้แก่ 1.นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ 2.ฮั้วประมูลงานราชการ 3.หักหัวคิวรถรับจ้าง 4.ขูดรีดผู้ประกอบการ 5.ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี 6.เปิดบ่อนการพนัน 7.ลักลอบค้าประเวณี 8.ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย 9.ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 10.แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว 11.มือปืนรับจ้าง 12.รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 13.ลักลอบค้าอาวุธสงคราม-ปืนเถื่อน 14.บุกรุกที่ดินสาธารณะ-ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 15.เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ และ 16.ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 


          ที่สำคัญการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลในครั้งนั้นมีการระบุชื่อผู้มีอิทธิพลในเมืองกรุงโดยอย่างน้อย 2 คน ได้ลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นพรรคใหญ่กองเชียร์เยอะ และพรรคน้องใหม่แต่พลังหนุนดี ด้วยเหตุนี้ “แม่ทัพนครบาล” อย่าง “บิ๊กบัว” พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. จึงไม่อาจนิ่งนอนใจ แม้ที่ผ่านมาการข่าวยังดูนิ่งๆ ไม่มีความเคลื่อนไวของกลุ่มก่อกวน แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมไว้รับมือเพื่อให้การเลือกตั้งสนามใหญ่ในเมืองหลวงเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม


          พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ เปิดเผยถึงความพร้อมในการดูแลรักษาความเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้ง ว่ากองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มั่นใจและมีความพร้อมดูแลการเลือกตั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สำเร็จลุล่วง มั่นใจรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งได้ ซึ่งได้สั่งการให้ตำรวจทุกพื้นที่ทำข้อมูลของทุกกลุ่มที่อาจจะก่อให้เกิดผลต่อการเลือกตั้ง หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการรายงานว่าจะมีเหตุหรือผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ส่วนการดูแลรักษาหีบบัตรเลือกตั้ง คูหา และการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปดูแลอย่างแน่นอน และทำในขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการประสานงาน กกต.กทม.อยู่แล้ว เพื่อนำมาจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อยในคูหาการเลือกตั้งต่างๆ เป็นการเตรียมกำลังตำรวจเพื่อรองรับการเลือกตั้งและรักษาความปลอดภัย


          “เวลานี้ยังไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น เหตุที่มีเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็เป็นการเผา ทำลายป้ายหาเสียง และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวได้ ส่วนกลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มมือปืนเข้ามาทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว สำหรับการดูแลผู้สมัครหาเสียงนั้น ภายหลังจากที่มีการประชุมร่วมกันว่ามีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาแล้ว ก็กำชับให้ตำรวจของเราวางตัวเป็นกลาง ดูแลกลุ่มผู้สมัครทุกพรรคให้เท่าเทียมกัน หากผู้สมัครเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยง สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจคุ้มกันได้ แต่ต้องมีหลักการและเหตุผล ถ้าทุกพรรคบอกว่าตัวเองเสี่ยงทั้งหมดมีการร้องขอไป 10-20 คน ตำรวจจะแย่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการร้องขอตำรวจไปดูแลผู้สมัครตามพรรคต่างๆ และยังไม่มีพื้นที่ใดที่น่าหนักใจที่จะต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษ” พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ ระบุ


          แม้ข่าวกรองของแต่ละหน่วยจะยังไม่พบความเคลื่อนไหว แต่การเฝ้าระวังจับตาไว้ก็ไม่เสียหาย โดยเฉพาะสนามใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าตามไปแก้ทีหลัง ยิ่งเป็นโค้งสุดท้ายใกล้ถึงวันเข้าคูหาใช้สิทธิ์ออกเสียงยิ่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ..!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ