คอลัมนิสต์

ทางสามแพร่ง "บิ๊กตู่"นายกฯชัวร์...หรือแต่งตัวรอเก้อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริงพิกัดข่าว  โดย... ปกรณ์  พึ่งเนตร 


 

          นอกจากการลาออกของ 4 รัฐมนตรีแกนนำพรรคพลังประชารัฐเมื่อวานนี้แล้ว สายตาทุกคู่จ้องจับไปที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะมีการแถลงอนาคตทางการเมืองหรือไม่

 

 

          โดยเฉพาะการตอบรับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีข่าวว่าจะส่งเทียบเชิญให้นายกฯ ลุงตู่ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เพราะนับจากวันนี้เหลืออีกเพียง 10 วัน คือภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์เท่านั้นที่พรรคการเมืองจะต้องส่งชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคของตนเองให้ กกต.
ขณะที่ “ลุงตู่” ซื้อเวลาออกไปอีกเล็กน้อย เพราะเพิ่งบอกเมื่อวานนี้เหมือนกันว่าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สังคมก็จะทราบการตัดสินใจของท่าน


          แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมา นายกฯ ค่อนข้างระมัดระวังการแสดงท่าทีทางการเมืองมาตลอด ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะมีความอ่อนไหวสูง โดยในทางทฤษฎีแล้ว เส้นทางการเมืองนับจากนี้ของ “นายกฯ ลุงตู่” หากต้องการ “ตีตั๋ว” เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ต้องบอกว่ามีอยู่ 3 แนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ประกอบด้วย


          1.ตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็จะไม่สามารถช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงได้


          ข้อดีคือยังคงมีอำนาจเต็มในการบริหารบ้านเมือง และผ่าทางตันทางการเมืองโดยใช้มาตรา 44 ได้ต่อไป ทำให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงที่สุด แต่ข้อเสียคือจะโดนแรงกดดันเรียกร้องให้แสดงสปิริต




          2.ตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐเหมือนแนวทางแรก แต่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าคสช. เพื่อเปิดตัวเดินสายหาเสียงร่วมกับพรรคพลังประชารัฐแบบเต็มตัว 


          ข้อดีคือได้ภาพการแสดงสปิริต ยอมสละตำแหน่งเพื่อความชัดเจนทางการเมือง แต่ข้อเสียคือจะหมดอำนาจต่อรองทางการเมืองไปไม่น้อยทีเดียว


          3.ไม่ตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ โดยอาจไปตอบรับกับพรรคอื่น หรือไม่ตอบรับกับพรรคใดเลย


          ทั้ง 3 แนวทาง นายกฯ บอกไว้แล้วว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ แต่ท่านก็พูดตรงๆ เป็นครั้งแรกว่า หากตัดสินใจจะ “ตีตั๋วต่อ” บนเก้าอี้นายกฯ ก็จะไม่มีสูตร “นายกฯคนนอก” นั่นหมายถึงว่าท่านจะต้องรับเทียบเชิญจากพรรคการเมืองเท่านั้น หากไม่รับท่านก็จะวางมือ


          ฉะนั้นเองแนวทางที่ 3 จึงเป็นไปได้น้อยที่สุดเพราะหากท่านต้องการรีเทิร์นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศอีก 1 สมัย ก็น่าจะต้องรับเทียบเชิญจากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้ส.ส.เกิน 25 เสียง ถึงจะได้สิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีของพรรคให้รัฐสภาโหวต ปิดทางการเป็น “นายกฯ คนนอก” เพราะนาทีนี้ต้องบอกว่ายากเนื่องจากมีเสียงสมาชิกรัฐสภารับรอง 500 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง


          จากทางสามแพร่งของ “นายกฯ ลุงตู่” ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าแนวทางที่ 1 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะเสียเปรียบทางการเมืองน้อยที่สุด กล่าวคือ ตอบรับการเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ และอยู่ในตำแหน่งนายกฯ กับหัวหน้า คสช.ต่อไป ก็จะทำให้ยังมีอำนาจเต็มมือ มีอำนาจบริหาร มีอำนาจใช้ ม.44

 

          ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็มีอดีต ส.ส.จำนวนมาก น่าจะโกยคะแนนเข้าสภาได้ไม่น้อย มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของพรรค และน่าจะรวมเสียง 126 เสียง เพื่อไปรวมกับ “ส.ว.ลากตั้ง” ที่ คสช.เคาะเลือกเองอีก 250 เสียง ให้ได้แต้ม 376 เสียง คว้าเก้าอี้นายกฯ ก๊อกแรกไปก่อนได้ไม่ยาก


          นาทีนี้ใครๆ ก็คิดสูตรนี้ แล้วก็เชื่อกันว่า “ลุงตู่” จะเป็นนายกฯ ได้ไม่ยาก เพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียงตุนในมือ ขาดแค่ 126 เสียงเท่านั้น เผลอๆ พรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวก็อาจจะได้เสียงมากพอแล้ว


          แต่ปัญหาที่ “กูรูการเมือง” เตือนให้ระวังก็คือ ก่อนจะโหวตเลือกนายกฯ จะมีการเปิดสภา และโหวตเลือกประธานสภาก่อน ซึ่งการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเลือกจากเสียงเฉพาะ ส.ส. ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายรวมเสียงข้างมากเกิน 250 เสียงได้ (สภาผู้แทนราษฎรมี 500 เสียง) คนของพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะควบตำแหน่งประธานรัฐสภา เวลาประชุมร่วมกับวุฒิสภาด้วย


          ฉะนั้นคนของพรรคเพื่อไทยก็จะเป็น “คนกำหนดเกม” การโหวตเลือกนายกฯ ทั้งเรื่องรูปแบบการโหวต รูปแบบการเสนอชื่อ เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้รูปแบบใด พรรคไหนจะได้เสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของตัวเองก่อน จะโหวตทีละคน ทีละ 2 คน หรือโหวตเป็นพวง รอบละหลายๆ คน แล้วหาคะแนนสูงสุด
ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายที่คุมการออกกติกา ย่อมคุมเกมการโหวตเลือกนายกฯ ฉะนั้นหากมองในแง่ร้าย ถ้าพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งมาไม่เยอะจริง ก็มีโอกาสเหมือนกันที่ “ลุงตู่” จะแต่งตัวเก้อ


          ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย “อดีตว่าที่นายกฯ” ที่ไม่ได้รับตำแหน่ง ได้แต่แต่งชุดขาวรอ คอการเมืองคงยังจำได้แม่นว่าหมายถึงใคร!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ