คอลัมนิสต์

'สีกากี'ไม่เลือกข้าง..ความสงบเลือกตั้ง'บิ๊กปู'คุม(อยู่)!?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง โดย... มณเฑียร อินทะเกตุ


 


          หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “ปลดล็อก” ให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ นั่นหมายถึงการ “ลั่นระฆัง” ส่งสัญญาณนับถอยหลังเข้าสู่การ “เลือกตั้ง” ที่ประเทศไทยว่างเว้นประชาธิปไตยมานานมากกว่า 4 ปี ซึ่งเดิมทีรัฐบาลมีการวางโรดแม็พวันหย่อนบัตรเป็น 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ถึงกระนั้นช่วงรอยต่อของปีกลับมีกระแสแพร่สะพัดเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป 

 


          แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าเลื่อนหรือไม่เลื่อนวันเลือกตั้ง แต่บรรดาผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ “ส.ส.” ของแต่ละพรรคแต่ละเขต ก็เตรียมเดินหน้าหาเสียง งัดนโยบาย ขายกลยุทธ์เพื่อเรียกคะแนนเสียง ทั้งลงพื้นที่จริง หรือแม้แต่เคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นช่องทางเข้าถึงง่ายทุกเพศวัย หนำซ้ำเป็นช่องทางการสื่อสารที่สังคมยุคปัจจุบันนิยมเสมือนหนึ่งเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิต 


          จะว่าไปแล้วทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ระหว่างการหาเสียงมักมีคดีความเกิดไม่มากก็น้อย ทั้งการป้ายสี สาดโคลน หวังดิสเครดิตซึ่งกันและกัน จ้องจับผิดการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างๆ นานา ลามไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ชนิดที่เรียกได้ว่า “เด็ดปีก” หัวคะแนนคู่แข่ง กลายเป็นคดีอาชญากรรมรุนแรง


          หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า “ศึกเลือกตั้ง” ครั้งนี้น่าจะมีความดุเดือด เข้มข้น เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม “ตำรวจ” ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย และปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชนจึงต้องมีแผนรับมือ โดยทันทีที่ “ปลดล็อกเลือกตั้ง” แม่ทัพสีกากีอย่าง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็ไม่รีรอ มอบหมายให้ “บิ๊กปู” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ที่ดูแลงานความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นผู้ควบคุมสั่งการดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งทั้ง ส.ว.และ ส.ส. 


          ภายหลังรับมอบคำสั่ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ ได้เปิดศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) โดย “บิ๊กปู” นั่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสอดรับกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนที่จะร่อนหนังสือคำสั่งไปยัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 (ภ.1-9) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด​​ โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 ส่วน คือ 1.การลงพื้นที่หาข่าวตรวจสอบข้อมูลที่กระทบการเลือกตั้ง การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 2.อำนวยความสะดวกการรักษาความปลอดภัย 3.การอำนวยการด้านจราจร และ 4.ติดตามก่อน ขณะ หลัง การเลือกตั้ง การหาเสียง การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เตรียมพร้อมศึกษาอำนาจการสอบสวน ว่าเรื่องใดเป็นของ กกต. เรื่องใดเป็นของตำรวจ


          แน่นอนว่าภารกิจของตำรวจเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเน้นย้ำเฝ้าระวังการซื้อสิทธิ์ขายเสียง..! ตามที่ กกต.ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือให้ช่วยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เอนข้าง เอียงฝ่าย ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทั้งส่วนตัวและหน้าที่ความรับผิดชอบ ถ้าพบใครกระทำความผิดต้องดำเนินการจับกุมทันที 


          เกี่ยวกับประเด็นนี้ทาง ผบ.ตร.ก็ได้ย้ำหนักแน่นว่า ตำรวจต้องวางตัวเป็นกลาง เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การไปติดตาม ใกล้ชิด นักการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ว่าที่ผู้สมัครต่างๆ ต้องดูด้วยว่าไปเพื่ออะไร ไปหาข่าวหรือไปทำอะไร โดยหลักการไปได้ แต่ย้ำว่าการไปต้องวางตัวเป็นกลาง หากทำอะไรสุ่มเสี่ยงก็ต้องพิจารณาลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา !


          ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในฐานะ ผอ.ศลต.ตร. เคยบอกว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2562 ศลต.ตร.จับตาพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อาจใช้จังหวะช่วงเทศกาล จัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กกต.เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตำรวจก็ต้องสืบสวนหาข่าว ยอมรับว่าพบมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเคลื่อนไหวในช่วงปีใหม่ ซึ่งกำลังจับตาดูอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมอนิเตอร์มาตลอด อะไรที่เป็นความผิดก็ดำเนินการทางคดีได้เลย อะไรที่ต้องรอการร้องทุกข์จาก กกต. ก็จะมีกระบวนการดำเนินการ ประชาชนก็ไปศึกษากฎหมายดีๆ ว่าอะไรทำได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ตำรวจก็สร้างการรับรู้ เพิ่มความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นนัยสำคัญว่าจะมีการชุมนุม เชื่อว่าตอนนี้เข้าโหมดหาเสียงแล้ว ทุกคนจะเลือกใช้พื้นที่หาเสียงอย่างถูกต้อง ในส่วนสันติบาลก็ลงพื้นที่หาข่าวความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยไม่ไปจำกัดสิทธิของนักการเมืองและประชาชน และทราบว่านักการเมืองมีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียรณรงค์หาเสียงมากขึ้น


          จากนี้ต้องรอชมว่าทีมงาน “บิ๊กปู” ที่คอยมอนิเตอร์นักการเมืองในห้วงเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ผ่านมาจะมีใครเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ การเลือกตั้งที่คาดว่าดุเดือดตำรวจจะเอาอยู่ขนาดไหน..!?
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ