คอลัมนิสต์

เลื่อนเลือกตั้ง? และบทสรุปที่แน่ชัด..

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  สำนักข่าวเนชั่น

 

 

          ช่วงต้อนรับศักราช 2562 มีกระแสข่าวว่าจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไป จนเกิดความสับสนในกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นในมุมมองของตัวเองกันหลากหลาย แต่ผู้ที่มีบทบาทชัดเจนในด้านนี้คือรัฐบาลและกกต.นั้นน่าจะไขคำตอบนี้ได้ชัดที่สุด

 

 

          ผลการประชุมครม.ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ยืนยันว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะยังไม่ออกภายในวันที่ 2 มกราคม ตามกำหนดการเดิมที่มีการตั้งไว้ และยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไร เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่จะทำให้เร็วที่สุด ในส่วนของรัฐบาลนั้น ยังไม่ได้มีการพูดถึงการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ยังคงเป็นไปตามโรดแม็พเดิมที่วางไว้ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดคือในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์


          ล่าสุดช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบในเรื่องนี้ก่อนไปหารือกับ กกต.ว่า “ต้องเข้าใจอย่างนี้ เรื่องการเลือกตั้งอย่างไรต้องอยู่ใน 150 วัน คือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม และวันเลือกตั้ง จริงๆ ไม่ได้กระทบอะไรกับพระราชพิธีฯ การหาเสียงก่อนนั้นก็ไม่กระทบอะไร แน่นอนว่าต้องเกิดความสงบเรียบร้อย


          แต่พอหลังจากเลือกตั้ง มีกิจกรรมทางการเมืองที่จะต้องทำหลายอย่าง เมื่อลิสต์ออกมา 10 อย่าง แต่ละอย่างจะทำสะเปะสะปะไม่ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดเวลาไว้หมดแล้ว พอเป็นอย่างนั้น ต้องดูว่าวันเหล่านั้นไปตรงล็อกกับพระราชพิธีฯ หรือไม่ ถ้าตรงล็อก เราจะขยับพระราชพิธีฯ ไม่ได้ แล้วเราจะขยับวันเวลากิจกรรมทางการเมืองก็ไม่ได้




          ฉะนั้นอาจจะต้องยกเอาวันเลือกตั้งออกไปจากเดิมเสีย เพื่อคำนวณกิจกรรมไม่ให้ไปทับซ้อน โดยเราจะทำอย่างนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเอาปฏิทินวันเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มาวาง แล้วไล่ดูไปว่าจะมีการทำกิจกรรมทางการเมืองอะไรทับซ้อนบ้าง ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้กำหนดเองส่งเดช แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทั้งสิ้น ตอนนั้นกำหนดโดยที่เราไม่มีพระราชพิธีฯ บัดนี้ต้องเอาปฏิทินพระราชพิธีฯ ทับลงไปอีก แล้วจะมองเห็นความทับซ้อนเกิดขึ้นทันที


          เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะหนีใคร แล้วถ้าอย่างนั้นก็มีปฏิทินแผ่นที่สามทับลงไปว่า ขยับอย่างนี้ได้หรือไม่ แล้วจะเห็นว่าไม่มีอะไรทับซ้อน ดังนั้นขยับแล้ว วันใดเป็นวันที่เหมาะที่สุด ต้องเร็วที่สุดไม่ขยับแล้วช้า และต้องไม่ทับซ้อน ก็เท่านั้น ก็อาจจะไม่ต้องขยับก็ได้ ถ้าสมมุติว่า เมื่อทับลงไปแล้ว กกต.ปรับอะไรบางอย่างได้ แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็ต้องมีการขยับ”


          เหตุผลทั้งหมดถูกไขออกมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน หลัง กกต.และวิษณุพบกัน โดยเนติบริกรแถลงว่า ได้นำรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีฯ มาแจ้งต่อ กกต. เพราะจากเดิมทราบเพียงว่าจะมีพระราชพิธีฯ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นประมาณ 15 วัน จะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีฯ แล้วก็จะยังมีกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องอีกประมาณ 15 วันเช่นกัน


          “หากยึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือไม่เกินวันที่ 24 เมษายน จากนั้นภายใน 15 วันจะต้องเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมสภานัดแรก ซึ่งจะตรงกับวันที่ 8 พฤษาคม เมื่อ กกต.ทราบขั้นตอนต่างๆ แล้วก็จะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมต่อไป โดยในจุดนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะมีอำนาจเพียงนำพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ซึ่งเดิมคาดว่าจะประกาศในวันที่ 2 มกราคม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกลับลงมา ขณะนี้จึงถือว่าอยู่ในพระราชอำนาจ ซึ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561”


          รองนายกฯ กล่าวอีกว่า การที่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ ทำให้ กกต.ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นข้อดี เพราะจะทำให้ กกต.มีเวลาเตรียมการได้มากขึ้น ลำพังวันเลือกตั้งจะมีเมื่อไรนั้นไม่ได้มีผลต่อพระราชพิธีฯ แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ แน่ เพราะอยู่ในช่วง 150 วันหลังวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ หรือระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2561-9 พฤษภาคม 2562


          ส่วนข้อห่วงใยว่าอาจจะมีความโกลาหลทับซ้อน จึงเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้พ้นพระราชพิธีฯ นั้นทำไม่ได้ เพราะวันอาทิตย์สุดท้ายคือวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งจัดการเลือกตั้งไม่ได้เพราะตรงกับพระราชพิธีฯ จะเลื่อนออกไปไม่ได้ เพราะจะเกินกรอบ 150 วัน ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญได้


          “ถ้าจะใช้กำหนดวันเลือกตั้งเดิมคือ 24 กุมภาพันธ์ ก็ไม่กระทบกับพระราชพิธีฯ เรื่องการหาเสียงก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือระยะเวลาหลังการเลือกตั้งที่ยังมีกิจกรรมทางการเมืองอื่น โดยเฉพาะกำหนดที่ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการทำน้ำอภิเษก กิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีฯ จึงต้องไม่ทับซ้อนกัน ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าการประกาศผลรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสมควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีฯ คือวันที่ 20 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หาก กกต.จะยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็ทำได้ แต่ระยะเวลาในการหาเสียง ก็จะน้อยลง" รองนายกฯ ระบุ


          ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม หรือ 17 มีนาคม รองนายกฯ กล่าวว่า “ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับ กกต. ผมได้บอกรายละเอียดกับกกต.ไป เชื่อว่า กกต.คงมีคำตอบในใจเพื่อจะนำไปหารือกัน เพราะก่อนหน้านี้ กกต.หารือกันแล้วว่าจะเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อ กกต.เห็นกรอบกระราชพิธีฯ 3 วันยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่พอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กกต.จึงรับไปหารือเพิ่มเติม ไม่กล้าบอก กกต.ว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่เหมาะสมที่จะจัดวันเลือกตั้ง เดี๋ยวสื่อจะเอาไปพาดหัวว่าผมมาสอนมวย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ กกต.จะต้องไปพิจารณากันเอาเอง แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งจะต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ”


          แหล่งข่าวจากคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์หารือเกี่ยวกับวันเลือกตั้งกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า การเลือกตั้งต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน ฉะนั้นกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นก่อนวันพระราชพิธีฯ และอย่างน้อย 15 วันก่อนวันพระราชพิธีฯ ไม่ควรมีกิจกรรมใดๆ ทางการเมืองและการเลือกตั้ง 


          แหล่งข่าวกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์มีสองแนวทางที่มอบให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือและสรุปโดยเร็วที่สุดดังนี้ 1.เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องและติดตามมา ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ดำเนินการได้หรือไม่ 2.หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยล่าช้าออกไปบ้าง แต่ขั้นตอนต่างๆ ขอให้ดำเนินการเหมือนข้อ 1 ตรงนี้ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือกัน


          แหล่งข่าวกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า แนวทางใดที่พอจะดำเนินการได้ให้ดำเนินการ และต้องมี ส.ส.475 คนให้ได้ก่อนเพื่อให้เปิดประชุมรัฐสภาได้ ส่วนกิจกรรมการเมืองและผลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น ควรเกิดขึ้นหลังกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป


          ต่างๆ นานาในข้างต้น พอจะอนุมานได้แล้วว่าปฏิทินการเมืองไทยจะออกในรูปแบบใด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ