Lifestyle

ประชาสังคมระดมพลัง ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมหาทางออก “ละเมิดสิทธิ์” สูงวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่เพียงความเจ็บป่วยทางกายหรือปัญหาสุขภาพ หากแต่มิติที่ซ้อนลึกลงไปมากกว่านั้น ยังพบว่าผู้สูงอายุกำลังถูกละเมิดสิทธิมีหลายรูปแบบ ที่บางรายมีความรุนแรงข้ันเสียชีวิตมาแล้ว

วันนี้เรากำลังพบผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงที่สุด รองลงมาคือการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน  ถัดมาคือทำร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้ง รวมถึงละเมิดทางเพศมากขึ้น และปัญหานี้ยังทีท่าว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ: ปัญหาและการจัดการ” ขึ้น เพื่อร่วมมือกันพัฒนากลไกเฝ้าระวังผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุม  และช่วยปกป้องอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางทางสังคม

ลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ประธานในงานยังได้กล่าวปัจฉิมกถา “ยุทธศาสตร์ชาติกับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ”ตอนหนึ่งว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สังคมสูงอายุ” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ซึ่งการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุนั้นถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง โดยพม. เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายจากการถูกกระทำรุนแรง หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง รวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาครอบครัว และเก็บรวบรวมสถิติปัญหาการกระทำรุนแรงในครอบครัว

ดร.ภัทรพร  คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) เล่าถึงข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ในปี 2557มีผู้สูงอายุวัย 60-69 ปี เป็นกลุ่มที่ยังแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ พึ่งพาผู้อื่นน้อย แต่เมื่อสูงอายุมากขึ้น เริ่มมีความเปราะบางทางธรรมชาติที่เกิดในตัวเอง คือปัญหาด้านสุขภาพจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ในทุกด้าน

“พอเรามาดูกลไกมาตรการในประเทศไทยตอนนี้ว่ามันตอบโจทย์กับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่ จากงานวิจัย 6 ชิ้นในปี 2560 มักถูกละเมิดสิทธิ์จากคนในครอบครัว ซึ่งพอเราทบทวดกฎหมายที่มีเกี่ยวกับผู้สูงอายุถึงจะมีหลายฉบับแต่ไม่สามารถปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ผู้สูงอายุได้ และไม่มีกลไกตรวจสอบผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ไร้ความสามารถ อีกทั้งกฎหมายไม่ครอบคลุมการดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เน้นการดูแลทรัพย์สิน”

ดร.ภัทรพรกล่าวต่อว่า หลังจากในปี 2561 มีการนำข้อมูลการวิจัยทั้งหมดมาสู่เวทีวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ได้กรอบแนวคิดหลายประการ โดยมองว่าขณะนี้มีมาตรการเชิงรุก ป้องกันผู้สูงอายุที่จะถูกละเมิดอยู่แล้วทั้งด้านกฎหมาย การศึกษา และสังคม แต่ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมีมาตรการการจัดการทรัพสินย์ด้วย เพื่อช่วยปกป้องไม่ทรัพย์สินถูกโกง

ขณะที่ด้านกลไกการเฝ้าระวังและการเยียวยาช่วยเหลือควรยึดพื้นที่หรือชุมชนเป็นหลัก และใช้เครือข่ายภาคประชาสังคม แต่ที่สำคัญกฎหมายต้องรองรับด้วย เพราะติดปัญหา ทำให้คนที่อยากเข้าไปช่วยเองไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนในมาตรการเชิงรับ มีการเสนอว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยงาน One Stop Service เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถขอคำปรึกษาหรือรับการช่วยเหลือได้

ด้าน แรมรุ้ง วรวัฒน์ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุปี พ.ศ.2546 ที่เปิดให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิ์และสวัสดิการหลายด้าน แต่ไม่ได้มีการพูดถึงผู้พิทักษ์สิทธิ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้สูงอายุ เพราะในยุคนั้นปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุยังไม่รุนแรงเท่ากับปัจจุบัน

“แต่พอเราลงทำงานในพื้นที่พบว่าปัญหาทุกอย่างสอดคล้องไปหมดทุกมิติ ไม่ว่าจะถูกทิ้ง ทำให้ไม่ได้รับการดูแลสุขภาพ ถูกทำร้ายจิตใจ หรือใช้ความรุนแรง ในเชิงการป้องกันภาครัฐมีการทำงานในระดับชาติ โดยการสร้างกลไกป้องกันหลายมิติ เช่น การป้องกันสุขภาพ การมีรายได้ไม่ต้องพึ่งพาผู้สูงอายุ ไปจนถึงการจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน ไม่ใช่ประเมินเฉพาะสุขภาพ แต่ต้องประเมินความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุถูกละเมิด”

ขณะที่ ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้ข้อมูลเสริมว่า ในฐานะที่หน่วยเป็นผู้รับแจ้งเหตุหรือมีผู้ประสบปัญหาทั่วประเทศ จากสถานการณ์การรับแจ้งรายวันบ่งชี้ได้ว่าผู้สูงอายุประสบปัญหาจริง โดยสถิติจากสายด่วนรับแจ้ง 1310 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม พบมีอัตราการแจ้งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 รายต่อวัน ส่วนปี 2561 เพิ่ม 292 ต่อวัน

“เราพบว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีปัญหาสิทธิ สวัสดิการและกฎหมาย รองลงมาเป็นปัญหารายได้และความเป็นอยู่ ถัดมาเป็นปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว” โดยดรุณียังกล่าวต่อว่าจากประสบการณ์ เคยมีกรณีคุณยายวัย 63 ปี ในเขตกรุงเทพฯ มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิ์ โดยอาศัยอยู่เพิง ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา นอนติดเตียงไม่มีคนดูแล แต่เป็นทั้งเอชไอที โรงวัณโรค และยังพิการทางสายตา แต่ไม่มีลูกหลาน จึงถูกปล่อยปะละเลย ถูกสามีทำร้ายและปล่อยให้อดอาหารและน้ำ ซึ่งศูนย์ได้ให้การช่วยเหลือประสานงานส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลเบื้องต้นและต่อส่งไปยังศูนย์เมอร์ซี่ จ.ระยอง”

อีกมุมสะท้อนจากมูลนิธิกระจกเงา โดย สิทธิพล ชูกระจง ที่เอ่ยว่าแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมไทยจะตื่นตัวเรื่องปัญหาของผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่ โดยเฉพาะปัญหาผู้สูงอายุไร้บ้าน ผู้สูงอายุที่สูญหายยังมีสถิติสูงพอสมควร สาเหตุเกิดมีทั้งจากโรคความจำทางสมอง และทั้งกรณีที่น้อยใจลูกหลาน คนที่บ้านจนต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน และคนจนเมืองผู้ป่วยติดเตียง

“ซึ่งวันนี้เรายังมีปัญหาเรื่องการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุเหล่านี้ยังล่าช้าอยู่ จนกลายเป็นการนำไปสู่ความเสี่ยงภัยปัญหาเรื่องอื่นๆ เช่นสุขภาพ เป็นต้น  แต่มาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดได้คือ “ความเอาใจใส่” เป็นปราการแรกเลยที่จะทำให้ผู้สูงอายุไม่หนีออกจากบ้านหรือหนีไปจากเรา การคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งอีกทางหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องนี้มองว่าภาครัฐควรมีกลไกในการจัดหากลไก หรือบุคลากรดูแล เช่นศูนย์ Day Care เป็นต้น”

อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ ภรณี  ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุของ สสส.ว่าการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีการขับเคลื่อนภายใต้การเตรียมความพร้อมสังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง สสส. เป็นผู้สนับสนุน มส.ผส. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสื่อสารสาธารณะให้สังคมทราบและตระหนักถึงสถานการณ์ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย แนวทางการดำเนินงานที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่เพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ต่อผู้สูงอายุ และพิทักษ์คุ้มครองสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุตามแนวทางที่เหมาะสม

“สสส.หวังว่าในระยะเวลาอันใกล้ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน จะร่วมขับเคลื่อนกลไกการเฝ้าระวังการกระทำความรุนแรงและละเมิดสิทธิ์ผู้สูงอายุตามความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อลดสถานการณ์การกระทำความรุนแรง และละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไทยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังของสังคมได้อย่างต่อเนื่องต่อไป” ภรณี กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ