Lifestyle

“ท้องถิ่นเข้มแข็ง” หนึ่งก้าวสำคัญของพลังหนุนร่วมสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“...การนำความเจริญการพัฒนาไปสู่ชนบท หมายถึงไปสู่ประชาชนในชนบทนั้น มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อแรก ก็คือมนุษยธรรม ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศกับเรา...เหตุผลที่สองที่จะต้องพัฒนาชนบทนั้นคือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบ้านเมือง เพื่อความก้าวหน้านอกเหนือจากมนุษยธรรม”พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่คณะผู้บริหารสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2512

เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตโดดเดี่ยวหรืออยู่เพียงลำพังได้ ดังนั้นการรวมกลุ่ม รวมพลัง รวมใจระหว่างกันจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้สังคมนั้นๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีพลังพร้อมจะขับเคลื่อนสังคมของตนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันความร่วมมือร่วมใจภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ กรมการพัฒนาแนวคิดใหม่ (มหาชน) (สปสช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ร่วมกันจัด“เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด ‘ศาสตร์ของพระราชากับการปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน’ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ถอดบทเรียนการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะชุมชนด้วยการนำหลักแนวคิดอันเป็นรูปธรรมจากการทรงงานตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุน สสส.กล่าวถึงหน้าที่ของ สสส. กับการสนับสนุนให้องค์กร หน่วยงาน รวมถึงบุคคลต่างๆ มีขีดความสามารถ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเพื่อการมีสังคมสุขภาวะ ซึ่งในพันธกิจ สสส. ได้ระบุไว้ว่า สสส. มีแนวทางการขับเคลื่อนสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นด้วยการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง โดยมีภาคีเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด รับหน้าที่เป็นพระเอกนางเอกในการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆโดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของ พรบ.กองทุน สสส. ฯ นั่นคือ ‘การสร้างชุมชนเข้มแข็ง’ เพราะเป็นประตูสำคัญสู่การสร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นบทบาทของชุมชนจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ถูกจัดเป็นทฤษฎีสร้างเสริมสุขภาพทั่วโลก ซึ่งสิ่งสำคัญในการสร้างให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้นั้นเกิดจากการสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนในที่นี้หมายถึงท้องถิ่นตามภูมิศาสตร์ องค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการ หรือ กลุ่มภาคีเครือข่าย ที่จะมีบทบาทโดยตรงในการสร้างสิ่งแวดล้อมและกติกาที่ดีในการอยู่ร่วมกันของชุมชนต่างๆ สู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น อันจะนำสู่การสร้างให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีตาม

สำหรับ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ‘ปฏิรูประบบสนับสนุนปฏิบัติการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง’ ไว้ว่าในวิถีการทำงานของ สสส. คือเน้นการสานพลัง เพราะเชื่อว่า เพียงลำพัง สสส. ไม่สามารถขับเคลื่อนงานสุขภาวะด้านต่างๆ ได้มากมาย เราจึงต้องผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสานพลังจัดตั้งเครือข่ายในระบบสุขภาวะ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่จากเดิมมีเครือข่ายเพียงเล็กน้อย จนมาถึงวันนี้เรามีสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่มากกว่า 2,500 ตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกได้ว่า เวทีสานพลังฯ นี้เป็นการพัฒนาท้องถิ่นฐานรากเชิงระบบที่มีโครงสร้างยึดเหนี่ยวกันอย่างเข้มแข็ง เห็นได้ว่าทีมงานเครือข่ายมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม จากการเป็นเพียงผู้รอคอยความช่วยเหลือ ก็สามารถตกผลึกเป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง เรียกได้ว่าเป็นการสานพลังเพื่อสร้างความคิดที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเป็นการทำงานที่สอดรับกับศาสตร์ของพระราชา ด้วยหลักการ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ ‘การระเบิดจากข้างใน’ และ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’จึงขอฝากให้เครือข่ายทุกท่านขับเคลื่อนงานในก้าวต่อไปเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายคือ ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ พึ่งพาตัวเองได้ สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สู่เป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้านหน่วยงานที่ร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมาโดยตลอดนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวถึงส่วนหนึ่งของแนวทางสานพลังชุมชนท้องถิ่นว่า ในปี 2561-2563 พอช. มี 7 นโยบายในการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชน ดังนี้ 1.การพัฒนาพื้นที่รูปธรรมเชิงคุณภาพในประเด็นงานต่างๆ และพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ทั้งระดับชุมชน ตำบล เมือง และจังหวัด 2.การเชื่อมโยง พัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 3.การพัฒนาผู้นำองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ช่วยกับหน่วยงานภาคี 4.เชื่อมโยงและขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานภาคีพัฒนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยการกระจายอำนาจไปยังภาคและชุมชน และการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงานในทุกระบบ 6.การส่งเสริมการบริหารจัดกาแบบธรรมาภิบาลของ พอช. และขบวนองค์กรชุมชน 7.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนไทยและขบวนองค์กรชุมชนในประเทศอาเซียน โดยจะขับเคลื่อนงานผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง 2.การจัดการระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายต้องสร้างการร่วมมือกัน  3.การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน 4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรที่ดี

นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ผนึกกำลังระหว่างหน่วยงาน ทั้งกรมการพัฒนาชุมชน สสส. และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ โครงการชุมชนท้องถิ่นต้นแบบ นำร่องต้นแบบ 5 พื้นที่จาก 5 ภาค จากพื้นที่ 117 ตำบล 3 ชุมชน โครงการพัฒนาแกนนำ หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน เป็นต้น

และด้วยความที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายว่า ทุกพื้นที่รอบๆ ตัวเราจะรายล้อมไปด้วยผู้สูงอายุ โดยนางสาวศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในงานดูแลผู้สูงอายุในชุมชนว่า เราทำงานร่วมกับ สสส. สปสช. อปท. ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพ (ศพอส.) กระจายทุกตำบล ทุกอำเภอของประเทศ 878 แห่ง ซึ่งปัจจุบันขยายได้ครอบคลุม 1 อำเภอ 1 ตำบล 1 ศูนย์ ถือเป็นศูนย์จัดกิจกรรมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุและคนทุกวัย ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ (ออกกำลังกาย) ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ โรงเรียนผู้สูงอายุ อบรมความรู้ 5 มิติ พัฒนาแกนนำเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ อบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน (CM & CG) เพื่อการอยู่ร่วมกันในชุมชนระหว่างผู้สูงอายุและกลุ่มคนในช่วงวัยอื่นๆ โดยที่ผู้สูงอายุยังคงมีพฤฒิพลังหรือเป็นสูงอายุอย่างมีคุณค่า ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ ถือเป็นสถานที่ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความคิด พัฒนาความทรงจำ ความเข้าใจ หรืออย่างน้อยที่สุดพวกเขาได้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกันก็ทำให้เขามีชีวิตชีวา รู้สึกสดชื่นสดใสมากขึ้น

สำหรับในช่วงท้ายกิจกรรมยังได้มีการมอบประกาศเกียรติคุณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน” ทั้งหมด 56 พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชน พื้นที่สหวัฒนธรรม การจัดการความรู้เฉพาะเรื่อง อาทิ การจัดการความรู้ควบคุมยาสูบ การส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน พัฒนาระบบอาหารชุมชน เป็นต้น  ถือได้ว่าเป็นการมอบรางวัลเพื่อให้กำลังใจทีมงานเครือข่ายที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่มาโดยตลอด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ