Lifestyle

“ชราเฮโย” แอพใหม่ คู่ใจ “สูงวัย” ที่อยากดูดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดนั้น ยังเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เราเรียกว่า “NCDs”  ซึ่งเกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของคนเรามาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไม่ว่าจะเป็น โรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม โรคถุงลมโป่งพอง/หลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรืออัมพาต ฯลฯ กำลังกลายเป็นโรคประจำตัวที่มักพบในผู้สูงวัยไทยส่วนใหญ่ที่ต้องมีกันอย่างน้อยคนละโรคสองโรคทีเดียว

จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ที่มีการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย พ.ศ. 2559ได้คาดการณ์ว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้สูงอายุวัยปลาย(อายุ 80 ปีขึ้นไป)เป็นโรคความดันเลือดสูงมากกว่าร้อยละ 10ของผู้สูงอายุวัยปลายเป็นโรคเบาหวาน และร้อยละ 35 ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน

ทีนี้หากลองนึกภาพต่อไปว่า กลุ่มประชากรวัยแรงงานที่มีอายุ 33-53 ปีในวันนี้ (รุ่นที่เกิดระหว่างปี 2506-2526)จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้าซึ่งเวลานั้นประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 53-73 ปี เกินกว่าล้านคนต่อปีและจะทำให้ไทยมีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดในปี  2580

แล้วอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป? หากในประชากรกลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้?

หากข้อมูลด้านบนยังดูไกลตัวเกินไป ลองถอยกลับมาดูแค่เฉพาะอีก 3 ปีข้างหน้าก็จะเห็นชัดกว่าเพราะในปี  2564 คาดว่าเรากำลังมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20

แต่หากการเพิ่มจำนวนของประชากรสูงอายุที่สูงขึ้นอย่างมากในอนาคตนี้ คือประชากรสูงวัยไร้คุณภาพเป็นคนป่วยหนักสารพัดโรค นั่นคืออีกภาระสำคัญของสังคมในอนาคต กับการต้องคอยดูแลและรักษา ซึ่งอาจทำให้แต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไปไม่น้อย

ดังนั้นเพื่อการเตรียมการวางแผนชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ จึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ที่คนไทยทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสุขภาพตั้งแต่เยาว์วัย

ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) จึงได้จัดงานเปิดตัว “แอพพลิเคชันชราเฮโย” แอพพลิเคชั่นที่จะช่วยประเมินแนวโน้มสุขภาพในอนาคตที่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพให้กับ “ว่าที่ผู้สูงอายุ” และ”ผู้สูงอายุ” ในวันนี้ ได้ก้าวสู่เส้นทางชีวิตใหม่ของการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาแอพพลิเคชัน “ชราเฮโย”ว่า จากการทำงานด้านผู้สูงอายุมานาน แม้จะมีหลายเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต เช่น ปัจจุบันด้วยสภาพสังคม ครอบครัวเล็กลงหรือบางคนอาจไม่มีครอบครัว ต้องฝึกตัวเองเป็นคนที่ไม่แยกตัวกับคนอื่น ไม่แยกตัวกับสังคม  เพราะเมื่อเข้าสู่วัยชราเราจะอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้

“ผู้สูงวัยควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะเข้าสู่วัยชรา ปรับทัศนคติว่าเราต้องมีสังคม ต้องมีการพัฒนาเครือข่าย ครอบครัว ที่จะดูแลกันจนแก่เฒ่า อาทิ เพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงหรือคนในชุมชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่เรามาปรับทีหลังได้ แต่ยังมีบางเรื่องที่เราพบว่าไม่สามารถมาแก้ไขสถานการณ์ได้ทันในตอนเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว โดยเฉพาะสองเรื่องหลัก คือเรื่องสุขภาพ และการวางแผนการออมเงินซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตั้งแต่วัยเด็กหรือหนุ่มสาวถึงจะทัน”

พญ.ลัดดาเอ่ยต่อว่า แต่ปัจจุบันคนหนุ่มสาวยังมองเรื่องพวกนี้ว่าเป็นเรื่องห่างไกล

“ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เราต้องทำให้เขาตระหนัก เราพยายามค้นหาสิ่งที่เขา(คนหนุ่มสาว) ชอบหรือสนใจ เช่น เขาอยากดูดี แข็งแรง อยากสวยมีเสน่ห์ จุดนี้เป็นจุดนี้เราเอมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาหันมารักษาสุขภาพ”

ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาโปรแกรมในแอพลิเคชัน จึงมุ่งส่งเสริมให้คนวัยแรงงานเกิดความตระหนักและมีความฉลาดรู้ทางสุขภาพ โดยมีการนำข้อมูลต่างๆ  ด้านสุขภาพมาจากการรวบรวมความรู้ทั้งโลกทั้งในไทยตลอดกว่าหนึ่งปี ของคณะทำงานด้านวิชาการด้านสุขภาพให้ครบทุกมิติ ทั้งในด้านความชรา การเกิดโรค และแนวทางชะลอโรค ก่อนจะนำมาสกัดเป็นข้อมูลและประยุกต์เป็นคำถาม ในแอพลิเคชันที่มองว่าจะดึงดูดความสนใจคนได้มากกว่า การให้ข้อมูลบนกระดาษ

“หากเราแนะนำว่าคุณระวังเป็นโรคนั้นหรือโรคนี้คนส่วนใหญ่ฟังแล้วเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ส่วนใหญ่เขาจะคิดว่ายังไม่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง จึงไม่เกิดความสนใจ เราจึงพัฒนาแอพลิเคชันที่ให้ทุกคนเห็นว่า หากคุณไม่ดูแลตัวเองให้ดี ในอนาคตคุณจะปล่อยตัวเองให้ดูน่าเกลียด ดูไม่ได้หรือ พร้อมกันนนี้เรายังมีคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพที่เข้าใจง่ายและตรงกับไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิตัลสอดแทรกในแอพฯ”

ชราเฮโยเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย มีเนื้อหาครอบคลุมพื้นฐานด้านสุขภาพ ทั้งกายและใจ โดยชี้ให้เห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมและเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในอนาคต

ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวเสริมว่า เนื่องจากวัยแรงงานถือเป็นประชากรกลุ่มสำคัญที่มีจำนวนมาก และจะต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้มีจุดเด่นคือสามารถมีอินเตอร์แอคทีฟ ถือเป็นหนึ่งในการสื่อสารและโคชชิ่งให้กับคนรุ่นใหม่ ให้หันมาใส่ใจสุขภาพ

“แอพฯ นี้เหมาะสำหรับคนอายุ 30-40เราพยายามตอกย้ำให้เห็นภาพชัดว่า วันนี้หากเขาไม่แข็งแรงตั้งแต่วันนี้ วันหน้าก็จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้หัวใจหลักของเราคือการสร้างความตระหนักก่อนว่าอยากให้ทุกคนวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าสู่ช่วงสูงวัย

นอกจากนี้ สสส.ยังมีการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ในหลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออมและการวางแผนการเงิน โดยเรามีความร่วมมือและสื่อสารกับหลายภาคส่วน และภาคีด้านการเงิน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ หรือล่าสุด สสส.ได้ทำเอ็มโอยูกับ 5 มหาวิทยาลัย รวมจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุเป็นต้น”

สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน“ชราเฮโย”ฟรีทั้งระบบ Android และ IOS หรือติดตามข้อมูลสุขภาพผู้สูงวัยได้ในกลุ่มไลน์ “ยังแจ่ม”

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ