Lifestyle

รัฐ-ประชาสังคมจับมือเดินหน้า สกัดปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อเข้าสู่ชีวิตสูงวัย ปัญหาสำคัญที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ไม่เพียงมีแต่ปัญหาความเสื่อมถอยตามวัยทั้งด้านร่างกาย ซึ่งเป็นความเปราะบางทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากยังต้องรับมือกับความเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมคนรอบข้าง แม้กระทั่งสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตก็ถูกลิดรอน ละเมิด ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะต้องพึ่งพาผู้อื่นในเกือบทุกด้านในช่วงท้ายของชีวิต

การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมและสังคมไทย ได้ส่งผลต่อโครงสร้างความสัมพันธ์และระบบการเกื้อหนุนกันในครัวเรือนและชุมชน ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งรวมถึงสถานการณ์ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป สู่พฤติกรรมที่เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพิ่มมากขึ้น คนในชุมชุนต่างคนต่างอยู่ขาดความเอื้อเฟื้อเช่นในอดีตทำให้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตน่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ถูกละเมิดสิทธิมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.) เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุในไทย”โดย รศ.ดร.จิราพร เกศพิชยวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ สนับสนุนโดย มส.ผส.และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ศึกษาถึงเหตุความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุ ทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทสังคมไทยทุกภาคส่วน พร้อมเก็บรวบรวมสถิติความรุนแรงและการละเมิดที่เกิดจากการนำเสนอในหน้าข่าวของสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ บุคลากร ที่มีส่วนในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

โดยรายงานการวิจัย ระบุว่า  ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในผู้สูงอายุที่เกิดมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือการที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแลที่เหมาะสม พบทั้งประเภทที่มีลูกหลานแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ประเภทที่มีลูกหลานแต่ถูกทอดทิ้ง  บางรายมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ทั้งยังต้องเลี้ยงดูหลานไปด้วย  นอกจากนี้ยังพบการทอดทิ้งผู้สูงอายุให้ต้องอยู่ตัวคนเดียว จากความพิการร่างกายที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ความพิการทางสมอง ที่ร้ายสุดคือการที่ผู้สูงอายุถูกลูกหลานนำมาปล่อยไว้ในสถานที่สาธารณะ เหตุทั้งหมดนี้เมื่อปรากฏข่าวสารทางหน้าสื่อ ก็มักจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลเป็นกรณีๆไป

ปัญหาต่อมาคือ การถูกทำร้ายร่างกาย ที่พบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักเป็นคนในครอบครัว และเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ผู้กระทำมีความเครียด บ้างบกพร่องทางสติปัญญา  ติดสารเสพติด บางครั้งพบผู้สูงอายุถูกทำร้ายร่างกายโดยบุตรหลานที่ต้องการทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง ส่วนการถูกทำร้ายจากบุคคลภายนอกนั้นรายงานวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีอาชญากรรมที่ผู้กระทำมุ่งต่อทรัพย์สินผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว มิจฉาชีพเลือกลงมือเพราะเห็นเหยื่อไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

ที่น่าเศร้าคือ ยังพบการข่มขืนและคุกคามทางเพศ ที่เริ่มพบมากขึ้นและปรากฏบ่อยในสื่อสาธารณะ รายงานวิจัย ระบุว่า  ผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นหลาน แต่เหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกก็มีให้เห็น น่าสังเกตคือผู้ที่กระทำทั้งหมดจะอ้างว่าเมาสุรา แล้วเห็นผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จึงเป็นเหยื่อให้เลือกที่จะลงมือเป็นอันดับแรก  แต่อีกปัญหาที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือการละเมิดด้วยการเอารัดเอาเปรียบหลอกลวงผู้สูงอายุให้เสียทรัพย์สิน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวและคนใกล้ชิดเช่นเคย

“จากการวิจัยภาคสนามพบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดผู้สูงอายุในชุมชน ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว คู่สมรส เพื่อนบ้านใกล้เคียง นอกจากจะมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีลักษณะซ่อนเร้นปัญหา ปัจจัยสำคัญของการละเมิดคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจในครอบครัวบุตรหลานต้องย้ายถิ่นไปหางานทำ ถ้ามีรายได้ไม่พอที่จะเอาตัวรอด ก็จะไม่สามารถส่งเสียดูแลผู้สูงอายุได้จนนำมาสู่การถูกทอดทิ้ง ประกอบกับความเครียดในครอบครัวที่มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็จะนำมาสู่การกระทบกระทั่ง ทะเลาะรุนแรง คาดการณ์ว่า ยังมีปัญหาผู้สูงอายุที่ยังถูกปิดบังซ่อนเร้นอยู่ในสังคมอีกไม่น้อย เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ให้เกิดปัญหากับลูกหลาน และบุคคลในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุรองรับตามหลักการใหญ่ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่มาตรการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง  อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุก็ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ  ดังจะเห็นกรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นผ่านสื่อต่างๆ เป็นระยะ เช่น ผู้สูงอายุถูกฉ้อโกงทรัพย์สิน ถูกหลอกให้โอนมรดกให้ลูกหลาน เหล่านี้เป็นต้น 

จากการเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย  จึงเกิดการขับเคลื่อนครั้งสำคัญ เมื่องภาครัฐบาลแลองค์กรประชาสังคม โดยได้จับมือกันร่วมผลักดันผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การเดินหน้าของภาคนโยบายและหาแนวทางมาตการที่นำมาสู่ทางออกของการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

โดยในเวทีเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ว่า จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย โดยมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นประธาน คือเวทีสำคัญของการนำเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ และนำเสนอข้อเสนอทางนโยบายเพื่อพัฒนาแนวทางการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการสร้างความรู้ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเกิดการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งในการด้านสภาวะทางกายและใจ และการจัดการทรัพย์สินตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และสังคมสูงอายุระดับสุดยอดของประเทศไทยในอนาคต

ซึ่งการจัดเวทีครั้งนี้ได้นำเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความจำเป็นในการสร้างระบบ มาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทาง/ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

เสริมด้วย ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ มาจากการที่ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิ์  ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯสามารถจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดในอนาคต สำหรับนิยามของผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯ คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ปรกติตามอัตภาพ คุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิด หรือได้รับประโยชน์ตามสิทธิที่ควรได้ ทั้งสิทธิส่วนบุคคล  การรักษาพยาบาล  เบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่การให้สมาชิกครอบครัวทำหน้าที่นี้เป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุต่างต้องการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างมีความสุข โดยผลวิจัยเสนอให้เกิดระบบการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ควรดำเนินการไปพร้อมกับการป้องกันอันตราย และการรักษาผลประโยชน์ ขณะเดียวกันควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมาย และการถูกละเมิดสิทธิผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เพื่อนบ้านเข้าใจการถูกละเมิดสิทธิและสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ผู้สูงอายุ รวมถึงควรจัดบุคลากรรัฐไปให้คำปรึกษาด้านสิทธิและกฎหมาย ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านทรัพย์สิน

การเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย ในการต้องเตรียมการ วางแผนพัฒนานโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะดูแลตนเองได้อย่างเต็มที่ให้ได้รับความคุ้มครองในด้านต่างๆ ทั้งความมั่นคงทางด้านทรัพย์สิน การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ (access to quality health care) และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (enabling environments) เพื่อให้เกิดความคุ้มครองพิทักษ์สิทธิให้แก่ผู้สูงอายุในทุกเรื่องและครอบคลุมถึงผู้สูงอายุทุกคนในทุกมิติของการดำรงชีพต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ