ชีวิตดีสังคมดี

เอาจริง 'ผู้รับเหมา' ปล่อยปละละเลย ทำงานช้า เกิดอุบัติเหตุ อดประมูลงาน กทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชัชชาติ เอาจริง 'ผู้รับเหมา' ปล่อยปละละเลย ทำงานล้าช้า เกิดอุบัติเหตุ ปล่อยช่วงก่อสร้างต่อ อดประมูลโครงการใหญ่ของ กทม.

หลังจากเกิดเหตุการณ์ สะพานลาดกระบังถล่ม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เชิญผู้ "รับเหมา" ที่ทำโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักการโยธา ซึ่งมีทั้งโครงการก่อสร้างถนน สะพานข้ามแยก ทางลอด ทางยกระดับ โรงพยาบาล อาคารสำนักงานเขต สถานีดับเพลิง มีทั้งหมด 42 ราย เพื่อวางมาตรการป้องกันเหตุการณ์พิบัติระหว่างการก่อสร้าง โครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา "ผู้รับเหมา" เองก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่ามีเหตุการณ์ทางยกระดับเกิดขึ้นที่ลาดกระบัง ส่งผลให้ความไว้วางใจที่ประชาชนมีให้ลดลง กทม. ไม่ได้มองว่าเป็นบริษัทไหน แต่ต้องสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน ดังนั้นในขั้นแรกเลยให้ทุกทีมกลับไปทบทวนมาตรการความปลอดภัยโครงการทั้งหมดของตัวเอง ทั้งในส่วนของสำนักโยธา ผู้ควบคุมงาน ผู้รับเหมา ให้ทบทวนมาตรการทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีช่องว่าง ไม่มีจุดโหว่ต่างๆ

โดยเน้นย้ำมากที่สุดในเรื่องแรกคือ เรื่องความปลอดภัย ทั้งในแง่ของความปลอดภัยในการก่อสร้าง ความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมา เช่น ฝาท่อระบายน้ำที่เปิด คูน้ำที่ไม่มีตัวกั้น ไฟฟ้าส่องสว่างตอนกลางคืน ต้องไปทบทวนทั้งระบบ

 

 

เรื่องที่ 2 คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม การควบคุมฝุ่น PM2.5 สิ่งของตกหล่นที่ตกจากรถ โดยใช้ Traffy Fondue เป็นตัวช่วยในการหาข้อบกพร่อง

 

 

เรื่องที่ 3 การจัดการจราจร ซึ่งก็เป็นปัญหาสำคัญที่ผ่านมากผู้รับเหมาไปเน้นในเรื่องพื้นที่การก่อสร้าง แต่ไม่คืนพื้นที่ให้ กลับไปเอาสิ่งของมากองไว้เอารถมาจอดในพื้นที่สาธารณะแบบนี้คงไม่ได้ต้องไปหาที่อื่น แล้วคืนพื้นที่ทางเท้าให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

 

 

เรื่องที่ 4 เรื่องการระบายน้ำ มีสิ่งของที่กองไว้เข้าไปอุดตันอยู่ในท่อระบายน้ำ หรือว่าการตัดท่อที่ก่อสร้าง มีการอุดท่อไว้แล้วไม่ได้ต่อกลับคืน เวลาฝนตกจึงก่อให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ ก็ต้องไปทบทวนแก้ไขให้เรียบร้อย

 

 

เรื่องที่ 5 การใช้รถบรรทุกพ่วงที่มีการแบกน้ำหนักเกิน หรือไม่ก็ปล่อยควันพิษ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบน้ำหนักอัตโนมัติ จะทำให้ทราบว่ารถบรรทุกที่ผ่านมามีน้ำหนักเท่าไหร่ รถบรรทุกที่น้ำหนักเกินจะส่งผลกระทบไปยังโครงสร้างของถนนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นการนำร่อง ในอนาคตกระจายไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

 

เรื่องที่ 6 เรื่องการจ้างผู้รับเหมาช่วง ซึ่งตามหลักแล้วเราจะไม่อนุญาตให้จ้างผู้รับเหมาช่วง จริงๆแล้วถ้าจะจ้างต้องขออนุญาตให้เป็นไปตามสัญญา ถ้าไปได้ผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ดีคุณภาพก็ไม่ดีด้วย สุดท้ายถ้าเกิดเหตุผู้รับเหมาหลักก็ต้องรับผิดชอบ

 

 

นอกจากนี้ กทม. จะจัดทีมเพื่อตรวจสอบงานโครงการต่างๆ ทุกไซต์งาน ซึ่งจะเป็นผู้บริหารทั้งหมดที่จะลงพื้นที่ และจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อตรวจสอบว่ามีการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ และได้ทำไปตามสัญญาที่ตกลงไว้หรือไม่ หากพบว่ามีการละเลยก็ต้องหยุดการก่อสร้างต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ แม้ว่ากรมบัญชีกลางไม่มีการเตือนในเรื่องนี้ ต่อไปเราจะพยายามหาวิธีการข้อบัญญัติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนได้รับความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

 

"ในอนาคต 3 เรื่องที่เราจะออกมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก "ผู้รับเหมา" ด้วยคือ เรื่องแรก อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายกับชีวิตประชาชน ผู้รับเหมารายไหนทำให้เกิดเหตุรุนแรงและเกิดความเสียหาย จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราไม่อยากจ้าง เรื่องต่อมา การทำงานล่าช้า ก็เป็นเกณฑ์ที่เราไม่อยากจ้าง เพราะทำให้ประชาชนเดินทางยากขึ้น เรื่องสุดท้าย การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 รถบรรทุกปล่อยควันดำ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือทำสิ่งของตกหล่น ในอนาคตจะมีมาตรการที่อยู่ในกรอบ กทม. เป็นตัวแทนประชาชนจะต้องทำให้ประชาชนได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน " นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ