ชีวิตดีสังคมดี

'บุหรี่ไฟฟ้า' ช่วยเลิกสูบได้? หวงนโยบายหาเสียง เพิ่มนักสูบหน้าใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอรามาฯ ระบุทั่วโลกกังขานโยบายแจก "บุหรี่ไฟฟ้า" ของอังกฤษ สวนทางนักการเมืองไทยใช้นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าหาเสียง "นิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่" วอนคิดให้รอบคอบ ไม่ช่วยลดนักสูบหน้าใหม่ แต่จะเพิ่มมากกว่า

"รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช" อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษประกาศนโยบาย "swap to stop" รณรงค์ให้ผู้สูบบุหรี่จำนวน 1 ล้านคนทั่วประเทศ เปลี่ยนมาใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" ร่วมกับบริการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ว่า นโยบายนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในกลุ่มนักวิชาการที่ทำงานด้านควบคุมยาสูบจากทั่วโลก เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่เป็นกลางว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่ยอมรับให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ 

นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในเครือสหราชอาณาจักร เช่น สก๊อตแลนด์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบาย "บุหรี่ไฟฟ้า" รวมทั้งไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ ก็ไม่เข้าร่วมโครงการ โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานทางการแพทย์ที่นำมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยที่นำมาอ้างมีจำนวนน้อยเกินไปและการติดตามผลยังเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ ยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ที่สำคัญการมองเรื่องการช่วยเลิกสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้ว อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนที่จะเป็นนักสูบหน้าใหม่เพราะ "บุหรี่ไฟฟ้า" 

ภาพประกอบ

 

 

 

"อังกฤษเป็นประเทศที่ประกาศสนับสนุนเรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า" อย่างชัดเจน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือสัดส่วนผู้ใหญ่ที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดากลับมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนเด็กและเยาวชนอังกฤษที่เข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนอายุ 16-19 ปี จำนวน 104,467 คน โดยโครงการประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ ระหว่างปี 2560-2565 พบเยาวชนอังกฤษติด "บุหรี่ไฟฟ้า" เพิ่มถึง 3 เท่า จาก 8% เป็น 24% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยสถานการณ์แย่ลงตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ที่อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนอังกฤษเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 12% เป็น 24% ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาในผู้ใหญ่ลดลงเพียงเล็กน้อยคือ 14% เป็น 13.3%" "รศ.ดร.พญ.เริงฤดี" ระบุ

 

 

 


"รศ.ดร.พญ.เริงฤดี" กล่าวต่อว่า ข้ออ้างที่ว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% เป็นข้ออ้างที่ถูกปฏิเสธจากแวดวงวิชาการควบคุมยาสูบ เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงแค่การประมาณค่าจากคนกลุ่มเล็กๆ เพียง 12 คนที่ไม่ได้ระบุว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ และบางคนในกลุ่มนี้เคยได้รับเงินสนับสนุนทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าหรือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" ตรงข้ามกับในปัจจุบันที่มีข้อมูลต่างๆ ออกมามากมายที่สนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าบุหรี่ธรรมดาด้วยซ้ำ

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบสถานการณ์การควบคุมบุหรี่

 

 

 


"นศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ" ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บอกด้วยว่า สภาพการควบคุมยาสูบของอังกฤษต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง ทั้งเรื่องงบประมาณที่อังกฤษทุ่มเทกับการควบคุมยาสูบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยคิดเป็นงบประมาณต่อหัวผู้สูบบุหรี่สูงกว่าไทยถึง 80 เท่า รวมทั้งการมีนโยบายควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง เช่น มาตรการภาษียาสูบ การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพกว่าไทย เป็นต้น

 

 

 

 

อังกฤษมีมาตรการอีกมากที่ไทยยังไม่มี เช่น การให้สิทธิประโยชน์เรื่องยารักษาการเลิกสูบบุหรี่ในระบบประกันสุขภาพ การลงสัตยาบันในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้ายาสูบผิดกฎหมาย การมีข้อบังคับเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากกลุ่มธุรกิจยาสูบ และการออกกฎหมายควบคุมส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น

 

 

 

 

ดังนั้น การที่นักการเมืองที่กำลังใช้เรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า" มาหาเสียง คงต้องคิดให้รอบคอบและควรหันมาสนใจพัฒนามาตรการควบคุมยาสูบอื่นๆ ของไทยให้ดีอย่างประเทศอังกฤษเสียก่อน พื้นฐานการควบคุมยาสูบของประเทศไทยยังไม่พร้อม การนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศ ยิ่งเป็นการเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

 

 

 

 

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ได้ทำการวิจัย โดยคัดเลือกผู้ใหญ่ 72 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่สูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" (ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย) 2. ผู้สูบบุหรี่ธรรมดา (ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย) และ 3. ผู้ที่ไม่มีประวัติสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา เก็บข้อมูลประวัติการสูบ ความถี่ ชนิดของบุหรี่ที่สูบ และความเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุช่องปากทุกคน เพื่อนำมาตรวจลักษณะของดีเอ็นเอ

 

 

 



ผลวิจัยพบว่า การสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ส่งผลให้ดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปากถูกทำลายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง โดยคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ใดๆ

 

 

 

 

แม้ไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยันได้ว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" อันตรายไม่แพ้บุหรี่ธรรมดา แต่ข้อมูลทางการแพทย์ระบุชัดเจนว่า สารเคมีชนิดต่างๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ อย่างนิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหารและตับอ่อน

 

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

 

นอกจากนี้ นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์ นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง 6 มิลลิกรัมในเด็กเล็ก เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ