ชีวิตดีสังคมดี

ภาวะสังคมไทยรอบ 9 เดือน 'หนี้ครัวเรือน' พุ่ง ระวังวัยรุ่นดูดพอต-เหตุจากปืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยในรอบ 9 เดือน 'หนี้ครัวเรือน' ขยายตัวมากขึ้น เฝ้าระวังวัยรุ่นใช้บุหรี่ไฟฟ้า TOY POD ทำออกมาล่อใจ-อาชญากรรมจากปืน ห่วงคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2566  โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวระหว่างการแถลงว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2566 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ด้านแรงงาน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ "หนี้ครัวเรือน" (ไตรมาส2 ปี 2566) หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้ของเกษตรกร และการเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19ไตรมาส 2 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.6 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า สินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

นายดนุชา พิชยนันท์

 

โดยการขยายตัวของ "หนี้ครัวเรือน" มีที่มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดย NPLs มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.68 จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.71 ต่อสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ จากผลการศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า มาตรการฯ ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนักเพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องมีการยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการฯ และ 2.การเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย

  • การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้น การฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตมีอัตราเพิ่มขึ้น

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 99.9 จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เริ่มมี การระบาดมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเด็กและวัยเรียนอายุ 5 – 14 ปี ซึ่งพบ การระบาดเป็นกลุ่มในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้แก่ โรงเรียน เรือนจำ วัด และค่ายทหาร ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิตปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดระยอง ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ซึ่งมีอัตราการป่วยสูงกว่าพันคนต่อแสนประชากร รวมทั้งการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตมีอัตราเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2560 – 2565) 

 

 

  • สถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.99 แต่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาส 3  ปี 2566 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.3 จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 2.0 ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 8.3 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อน เช่นเดียวกับ สาขาการก่อสร้างและสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส  สำหรับสาขาการผลิต การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเป็นผลจากการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม โลหะขั้นมูลฐาน แต่สาขาการผลิตเพื่อส่งออก ในหลายสาขามีแนวโน้มจ้างงานลดลง ชั่วโมงการทำงานลดลงเล็กน้อย โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.4 และ 46.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาที่ลดลงร้อยละ 2.0 สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1.การยกระดับผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรของไทยขยายตัวต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2.การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิต โดยการส่งออกที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 อาจกระทบต่อการจ้างงานในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า และ 3.ระดับราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าก่อนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำราคาสินค้ามักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง 

 

 

 

  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้น  เฝ้าระวังและติดตามบุหรี่ไฟฟ้ารูปลักษณ์ใหม่ที่ดึงดูดเยาวชนให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.7 และการบริโภคบุหรี่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การรณรงค์ลดละเลิกสุราให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัย จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ในปี 2565 พบว่า การรณรงค์ลดละเลิกสุราอย่างต่อเนื่องมีส่วนช่วยในการลดจำนวนนักดื่ม รวมทั้งปัจจุบันมีการอนุญาตให้ สถานบันเทิงขยายระยะเวลาการเปิดในบางพื้นที่ ซึ่งต้องรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวสถานบันเทิงดื่มอย่างรับผิดชอบ และต้องติดตามและเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้ารูปลักษณ์ใหม่ที่ดึงดูดเยาวชนให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า “Toy Pod” ที่มีลักษณะคล้ายของเล่นเด็กและเลียนแบบการ์ตูนดังที่เด็กชื่นชอบ  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินปรับตัวดีขึ้น โดยคดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 13.7 และผู้ประสบภัยทางถนนลดลงร้อยละ 20.5 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนเล่นการพนันออนไลน์ รวมทั้งหามาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมโดยใช้อาวุธปืน และมีระบบแจ้งเตือนกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน

 

 

  • ไตรมาส 3 ปี 2566 คดีอาญารวม มีการรับแจ้งทั้งสิ้น 90,107 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของ

ปี 2565 ร้อยละ 13.7 โดยเป็นคดียาเสพติด 69,325 คดี ลดลงร้อยละ 20.5 ขณะที่คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ รับแจ้ง 4,476 คดี และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้ง 16,306 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 และ 21.7 ตามลำดับ  สำหรับ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนเล่นการพนันออนไลน์ ผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบผู้เล่นพนันถึง 2.99 ล้านคน และมีเงินหมุนเวียนกว่า 58,675 ล้านบาทต่อปี 2.การหามาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมโดยใช้อาวุธปืน ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2565 มีจำนวนคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนถึง 41,988 คดี โดยร้อยละ 82.4 เป็นการใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียน และในช่วงปี 2563 – 2566 ไทยยังเผชิญเหตุการณ์กราดยิงถึง 8 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการเข้าถึงแหล่งซื้อขายควบคู่กับการควบคุมอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนอย่างเคร่งครัด และ 3.การมีระบบแจ้งเตือนกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ปัจจุบันไทยมีระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ แต่ยังขาดการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินอาชญากรรมที่เหมาะสม จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ