ชีวิตดีสังคมดี

น่าตกใจภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 'สภาพัฒน์' เผยคนไทยเป็นหนี้ผ่อนรถพุ่งสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สภาพัฒน์' เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 พบข้อมูลน่าตกใจคนไทยเป็นหนี้ผ่อนรถยนต์พุ่งสูงขึ้น คดีเกี่ยวกับร่างกายและทางเพศยังเพิ่มต่อเนื่อง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" การนำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาส 2  ปี 2566 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่การปรับตัวดีขึ้นและการว่างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.06 หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส1 ปี 2566) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ด้านคดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และการร้องเรียนของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่ การย้ายถิ่นของประชากรช่วง COVID-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน  จัดการซากรถยนต์อย่างไร เมื่อรถ EV มาแทนที่ และ LGBTQ+ : หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ นอกจากนี้เรื่อง หนี้สินคนไทยภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร ยังกลายเป็นประเด็นสังคมที่ไทยจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนต่อไป 

  • ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตรา การว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

การจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.7 จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 6.0% และสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.3-0.5% และ 1.1% ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่ 0.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง

ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 42.7% และ 46.7 %ตามลำดับ สำหรับค่าจ้างแรงงาน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 และ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่  1.06% หรือมี ผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1. การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่างและจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คนมีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง 2. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาสสองปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชน ที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง และ 3. ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบัน
มีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร

 

 

 

  • หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส1 ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ไตรมาส1 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของ ไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน SML ต่อสินเชื่อรวมยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน 2. การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม 3. การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง แม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 2565 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563

 

 

 

  • การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสสอง ปี 2566 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสุขภาพของคนวัยทำงาน

พบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งวัยทำงานมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม  ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิต พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ สุขภาพของคนวัยทำงานที่พบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งคนวัยทำงานยังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

 

 

  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาส 2  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  

จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษีมากขึ้น ทำให้ประชาชนและเยาวชนผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.7% โดยเป็นการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.6% เนื่องจากในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากปีก่อน

 

 

 

  • ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คดีอาญาโดยรวมลดลง 17.8% แต่ต้องเฝ้าระวังคดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น

ไตรมาส 2 ปี 2566 คดีอาญารวมมีการรับแจ้งทั้งสิ้น 88,719 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 17.8% เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติด 70,297 คดี ลดลง 23.8% ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศรับแจ้ง 4,643 คดี และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้ง 13,779 คดี เพิ่มขึ้น 25.7% 

 

 

 

  • การย้ายถิ่นของประชากรช่วง COVID-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วง ปี 2563 – 2565 ส่งผลให้ประชากรจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานไปยังพื้นที่อื่น เนื่องจากการปิดโรงงานและสถานประกอบการ จากข้อมูลการสำรวจ
การย้ายถิ่นของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2562 - 2565 พบว่า ในช่วง COVID-19  เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น โดยในช่วงปี 2563 - 2564 มีลักษณะการย้ายออกจากพื้นที่/จังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดงาน สำหรับภูมิภาคที่มีการย้ายเข้าจะเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
ขณะที่ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายไปยังเมืองใหญ่มากขึ้น

 

 

 

นอกจากนี้หากพิจารณาสถานะการทำงานของประชากรย้ายถิ่นในช่วง COVID-19 พบว่า 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 65.2% เป็นกำลังแรงงาน ในจำนวนนี้มีงานทำแล้วกว่า 1.3 ล้านคน โดย 58.1% อยู่ในภาคบริการ ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 ไม่มีหลักประกันทางสังคม และส่วนใหญ่เป็นแรงงานอายุน้อยและมีทักษะสูง

 

 

แนวทางที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป คือ 1. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยภาคเอกชนต้องมีมาตรการจูงใจให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาครัฐอาจใช้โอกาสในช่วงการขาดแคลนแรงงาน ให้สถานประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป ขณะเดียวกัน บางอาชีพซึ่งเป็นอาชีพ ที่คนไทยไม่ทำ หรืองานที่ใช้ทักษะต่ำอาจจำเป็นต้องพิจารณานำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำมีความรุนแรงขึ้น

 

2. การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่นโดยสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่มากขึ้น

 

3. การส่งเสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม เกือบ 1 ใน 4 ยังเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ภาครัฐยังต้องเร่งส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้แรงงานอิสระกลุ่มดังกล่าวที่เคยเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้คงสภาพสมาชิกต่อไป และส่งเสริมการเข้าเป็นสมาชิกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ

 

ม.39 ม.40 กอช. 4. การขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น ประชากรย้ายกลับไปท้องถิ่นเป็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนให้ดีขึ้น โดยต้องดึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ให้มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเอง

 

 

  • จัดการซากรถยนต์อย่างไร เมื่อรถ EV มาแทนที่

ความนิยมใช้รถยนต์ EV ของคนไทยมีเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนม.ค. – พ.ค. 2566มีการจดทะเบียนรถยนต์ EV รวมกว่า 32,450 คัน คิดเป็น 10% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าสัดส่วนรถยนต์ EV ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 34% ภายในปี 2573 แม้การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ EV จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึง รถยนต์สันดาปจะถูกแทนที่ และเลิกใช้งานเป็นจำนวนมากด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานจำนวนกว่า 2.7 แสนคัน ขณะเดียวกันรถยนต์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันยังมีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวนกว่า 5 ล้านคัน ทำให้ในอนาคตจะมีรถที่เลิกใช้งานเพิ่มขึ้นซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์มีทั้งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดโทษ โดย 75% ของส่วนประกอบรถยนต์สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (remanufacturing) และบางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) ได้ ขณะที่ส่วนประกอบอีก 25% เป็นของเสียและเป็นอันตราย อาทิ สารทำความเย็น น้ำมันหล่อลื่น แบตเตอรี่ ซึ่งต้องการการกำจัดอย่างเหมาะสม

 

  • LGBTQ+ : หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ

จากข้อมูลของ LGBT Capital และ Ipsos พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวนเพียง 4.2 ล้านคนสังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยในส่วนของภาครัฐมีการผลักดันกฎหมายส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+  อาทิ ร่างพราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ....และการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ....(สมรสเท่าเทียม) สถานศึกษาอนุญาตให้นักศึกษาและบัณฑิตสามารถแต่งกายตามเพศวิถีของตนได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชน บางบริษัทเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ LGBTQ+ อาทิ สวัสดิการด้านสุขภาพไปยังคู่ชีวิตโดยไม่จำกัดเพศ รวมถึงการขยายตัวของภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ซีรีส์วายซึ่งมีจำนวนผู้ชมผ่าน LINE TV มากถึง 18.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 3 เท่าตัว

 

ยังคงพบปัญหาการเลือกปฏิบัติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จากรายงานการศึกษาของ World bank ในปี 2561 พบว่า ร้อยละ 90.63 ของกลุ่มตัวอย่าง ประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ระดับวัยเรียนและวัยศึกษา จนกระทั่งเข้าสู่ระดับวัยทำงาน รวมถึงด้านการใช้ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ หลายด้านโดยเฉพาะด้านอารมณ์และจิตใจ

 

สังคมจำเป็นต้องสร้างการยอมรับและการสนับสนุน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ ครอบครัว การรับฟัง การพูดคุยด้วยทัศนคติที่ดี จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจต่อลูกหรือสมาชิกคนในครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ อย่างถูกต้อง

 

 

  •  หนี้สินคนไทย  ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และกระทบต่อการจ้างงาน และระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่องและมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2564 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมการก่อหนี้ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ซึ่งข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ความครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ

 

 

 

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนจากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้และ การชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

 

 

 

 

การแก้ปัญหาอาจควรมีแนวทาง ดังนี้

ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

 

 

ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย

 

 

หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

 

 

ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

 

 

ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้น ให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิ เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ