ข่าว

หน้าศก./แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยฝากมากกว่ากู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้าศก./แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยฝากมากกว่ากู้ เข้มให้สินเชื่อเล็งปรับเป้าลงตามภาวะศก. แบงก์ใหญ่ทยอยปรับลดดอกเบี้ยทั้งฝากและกู้ตั้งแต่ 0.5-1.0% ด้านนครหลวงไทย หั่นเป้าสินเชื่อลงแม้ปีนี้โต 10% รุกตลาดสินเชื่อบ้านหลังจากปีนี้ปล่อยไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมจับตาอุตสาหกรรมเหล็กและโรงแรมมีความเสี่ยงสูง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาในระดับ 1% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีผลปรับลดตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ล่าสุดทำให้ธนาคารกรุงเทพและกรุงไทยปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.50% ส่งผลดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) จาก 7.25% เป็น 6.75% ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) จาก 7.50% เป็น 7.00% และดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี(เอ็มอาร์อาร์) จาก 7.75% เป็น 7.25%พร้อมกันนี้ได้ปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 0.75-1.00% โดยประจำ 3 เดือน วงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 1.50% วงเงิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 1.75% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 2.50-2.75% ลงมาที่ 1.75% ฝากประจำ 12 เดือน จาก 2.75-3.00% เป็น 1.75% ฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน จาก 3.50% เหลือ 2.50% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมนี้ ด้านธนาคารกรุงไทย ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงเช่นเดียวกันโดยลดดอกเบี้ยเงินฝากตั้งแต่ 0.975-1.00% มีผลให้เงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ 1.4-1.625% จากเงินฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ 1.5-1.75% ดอกเบี้ยฝาก 12 เดือน อยู่ที่ 1.75-2% เงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือนอยู่ที่ 2.5%ต่อปี และได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.50% มีผลให้เอ็มแอลอาร์อยู่ที่ 6.75% จาก 7.25% เอ็มโออาร์ อยู่ที่ 7.00% จาก 7.50% และเอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ 7.25% จาก 7.75% ด้านนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาทิศทางดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะปรับลดทั้งเงินฝาก และเงินกู้ลงเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างทบทวนเป้าสินเชื่อในปี 2552 ลงจากที่คาดไว้เดิมเติบโต 6-8 % ในช่วงก่อนปิดสนามบินเนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3-3.8% มาอยู่ที่ 1-2% ทำให้คาดว่าสินเชื่อทั้งระบบจะขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงมีมากขึ้น ธนาคารจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและโรงแรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการเมืองมาก ส่วนปีนี้คาดสินเชื่อจะเติบโตได้ 10% เนื่องจาก 10 เดือนที่ผ่านมาได้อนุมัติไปแล้ว 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.2 หมื่นล้านบาท และเน้นปล่อยในปีหน้ามากขึ้น
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ