Lifestyle

กรมชลประทานต่อยอด“อ่างพวง”สู่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลประทานต่อยอด“อ่างพวง”สู่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

                “อ่างพวง” เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีลักษณะเกื้อหนุนกัน ก่อนกระจายไปสู่แหล่งเก็บกักน้ำในชุมชนตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลมีน้ำใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ที่ผ่านมากรมชลประทานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร.) ได้สนองแนวพระราชดำริให้เห็นเป็นรูปธรรมไว้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.น่าน เพชรบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี ขอนแก่น และสระแก้ว 

กรมชลประทานต่อยอด“อ่างพวง”สู่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

              สายเมือง วิรยศิริ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานกปร. ปัจจุบันรั้งที่ปรึกษาฝ่ายแผนงานเพื่อความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธาน เคยกล่าวถึงอ่างพวงไว้ว่าเป็นแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ห่างไกลได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงและเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่ อ.ชะอำ และ อ.หัวหิน จะเห็นอ่างพวงได้อย่างชัดเจนที่สุด 

              ปัจจุบันมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 1,317 แห่งทั่วประเทศ และโครงการชลประทานขนาดเล็กที่กรมชลประทานโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 7,086 แห่ง แต่กลับไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ 

                 การลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กับกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา จึงเป็นการบูรณาการหน่วยงานบริหารจัดการน้ำครั้งใหญ่เพื่อรองรับพื้นที่ชลประทาน 4.7 ล้านไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนอกเหนือจากการเพิ่มพื้นที่ชลประทานคือการสร้างความเข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ชุมชนในโครงการเหล่านั้น

กรมชลประทานต่อยอด“อ่างพวง”สู่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

              แม้ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานก็มีความร่วมมือกันอยู่แล้วในหลายพื้นที่ อาทิ เพชรบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เป็นต้น แต่การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้แก่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิรากแก้ว นอกเหนือจากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สาขาของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เอง

             การบูรณาการหน่วยงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในครั้งนี้เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาผนวกเข้าด้วยกัน อย่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วยเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือ มูลนิธิรากแก้ว ขับเคลื่อนร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ

             ส่วน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นการน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎรให้เห็นประโยชน์ที่ได้รับ โดยมีกรมชลประทาน สนับสนุนความรู้และร่วมปฏิบัติงาน ทั้งการศึกษาเบื้องต้น การสำรวจ ออกแบบ ประมาณการราคา และควบคุมการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมชลประทาน ส่งผลให้การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มั่งคง มั่งคั่งและยั่งยืน

             จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างกรมชลประทานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันว่า สามารถทำได้จริง จากข้อมูลในปี 2558-2559 สามารถปรับปรุงแหล่งน้ำใน จ.น่าน และ จ.อุดรธานี ได้สำเร็จถึง 959 โครงการ ช่วยเพิ่มพื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก 214,962 ไร่ ครอบคลุม 490 หมู่บ้าน

             โจทย์ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทาน คือ ยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริอีก 1,317 แห่งทั่วประเทศ ในลักษณะของแก้มลิง และโครงการชลประทานขนาดเล็กที่กรมชลประทานโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 7,086 แห่ง ที่ยังรอการปรับปรุง หากดำเนินการสำเร็จจะใช้ประโยชน์จากน้ำ 6,043 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าปริมาณน้ำในเขื่อนรัชชประภาทั้งเขื่อน 

               ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ในฐานะรับผิดชอบโครงการการบริหารจัดการน้ำร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นการขยายผลในพื้นที่สองแห่งคือ หนึ่ง พื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ก่อสร้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก แต่ยังไม่มีระบบส่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำน้ำเข้าสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร

               สอง พื้นที่โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนไปแล้ว และมีสภาพชำรุดหรือต้องการซ่อมแซม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ติดขัดงบประมาณและขาดความรู้ทางเทคนิค ถ้าเติมสิ่งที่ขาดไป แหล่งน้ำเหล่านี้ก็จะใช้ประโยชน์ได้ทันที

            “หากดำเนินการสำเร็จ พื้นที่ดังกล่าวสามารถสร้างพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมถึง 4.7 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทานปัจจุบัน 30 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 15.66%” 

              โดยโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำชลประทานขนาดเล็กนั้น ทั้งในส่วนของโครงการพระราชดำริและโครงการที่กรมชลประทานถ่ายโอนจะบรรจุในแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ซึ่งจัดอยู่ในลำดับต้นที่จะพัฒนาภายใน 2 ปีหลังจากนี้ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนให้เร็วที่สุดภายใต้การบูรณาการร่วม 4 หน่วยงานที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

             ขณะที่ สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน มองว่ากรมชลประทานยังคงยึดหลักการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 3 ขนาด ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละขนาดจะตอบโจทย์คนละพื้นที่และขนาดพื้นที่ที่แตกต่างกันตามความจำเป็น โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้นสามารถทำได้เร็ว ใช้งบประมาณไม่มาก และไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเหมือนขนาดใหญ่และขนาดกลาง

            “เหมือนเราเตรียมยาไว้ 3 ขนาน ปวดหัวเป็นไข้ขนานหนึ่ง ปวดท้องก็ขนานหนึ่ง หรือโรคหัวใจก็ต้องใช้อีกขนานหนึ่ง ถึงจะถูกกับโรค ไม่ใช่ขนานเดียวแล้วแก้ได้ทุกโรค” อธิบดีกรมชลประทานฉายภาพให้เห็นชัดเจน

              ที่แตกต่างไปจากการพัฒนาปัญหาน้ำเห็นจะเป็นวิธีคิดที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จะใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาเป็นยาขนานเอก ลำพังการพัฒนาแหล่งน้ำอาจไม่ยากเท่ากับการทำอย่างไรให้ชุมชนผู้ใช้น้ำเหล่านี้เข้มแข็งไปด้วย

             “กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่รู้เรื่องน้ำดีที่สุด เราจึงเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน ซึ่งจะสามารถพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำได้อีกมาก แต่การพัฒนาต้องมีชาวบ้านเอาด้วย ลงแรงด้วย ไม่ใช่ต้องไปจ้างอีก เพราะเราเอาน้ำไปให้เขา” ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวและย้ำว่า

                ที่ต้องสำคัญมากกว่านั้นคือ การพัฒนาแหล่งน้ำให้ได้น้ำมาเพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิต

               "ถามว่าที่ดิน 1 ไร่ เกษตรกรจะทำรายได้ 6,000 บาทต่อปีไม่ได้เชียวหรือ จากเดิมที่ไม่เคยเข้ากระเป๋าเลยและพื้นที่ชลประทานที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5 ล้านไร่ สามารถสร้างรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท  นับจากนี้ไปคุณภาพชีวิตชาวบ้านก็จะต้องดีขึ้น แต่จะให้ยั่งยืนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจะได้กำหนดชีวิตตัวเองได้” ม.ร.ว.ดิศนัดดาให้มุมมองทิ้งท้าย

                 การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และภาคีเครือข่ายครั้งนี้ นับเป็นกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริมากขึ้น เป็นการลงทุนทั้งความคิด แรงกายและเงินงบประมาณร่วมขันกันจากหลายภาคส่วน นอกจากได้น้ำมาแล้วยังมีสิ่งจะสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น การได้สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้ราษฎรในทุกพื้นที่ได้รับอานิสงส์จากน้ำเพื่อนำไปสู่การเกิดชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนตลอดไป 

                                                                              **************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ