วันนี้ในอดีต

4 เม.ย.2519 ปชป.ชนะเลือกตั้ง สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คืนวันอันสวยสดงดงามของพรรคสีฟ้าที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดถึง 114 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่จะมีได้ คือ 279 คน นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

         

 

          ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง สำหรับประเทศไทย ไม่เลือกตั้ง ก็ยุบสภา ไม่ยุบสภาก็รัฐประหาร ไม่สำเร็จก็กบฏ เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากที่สุด บ่อยที่สุด ประเทศหนึ่งของโลก

 

          อย่างกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน วันนี้เมื่อ 43 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2519 ซึ่งเป็นวันที่บ้านนี้เมืองนี้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519

           

          หลังเลือกตั้งในวันนั้น ก็มีเรื่องราวที่สามารถเทียบเคียงได้ หรือไม่ได้กับหลังเลือกตั้งในปีนี้ ลองวิเคราะห์กันดู

 

           สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดเนื่องจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 หรือก่อนจัดเลือกตั้งใหม่แค่ 2 เดือนนิดๆ

 

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น

 

           โดยการยุบสภานี้ให้เหตุผลระบุว่า เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาหลายประการทั้งการเมืองและการเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนทั่วประเทศ

 

           กล่าวคือ หลังการเลือกตั้งทั่วไปราว 1 ปีก่อนหน้านั้น หรือวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วย พรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย พรรคสันติชน พรรคไท พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธรรม ซึ่งเป็นการร่วมรัฐบาลที่มิได้ตั้งอยู่บนฐานของการยึดถือแนวนโยบายทางการเมืองร่วมกันเป็นหลัก หากแต่เป็นรัฐบาลผสมที่มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่

 

           ด้วยเหตุนี้ พรรคธรรมสังคม ซึ่งมีสมาชิกในสภามากถึง 45 คน จึงมีความข้องใจและขัดแย้งกับหัวหน้ารัฐบาลอยู่เสมอด้วยรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติต่ออย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งพรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมรัฐบาลนั้นต่างก็มีการเรียกร้องผลประโยชน์ต่างตอบแทนเมื่อเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งเสียงสนับสนุนของตนในการต่อสู้กับฝ่ายค้านในสภา ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพและขาดเสถียรภาพในรัฐบาลผสม จึงส่งผลให้รัฐบาลนำโดยหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ประสบความยากลำบากในการบริหารประเทศ จนนำไปสู่การประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน ปีเดียวกัน นั่นเอง (จาก http://wiki.kpi.ac.th เรียบเรียงโดย ชาย ไชยชิต)

 

           ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งด้วยระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เป็นการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงจากประชาชน จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน

 

           แต่แล้วที่สุดผลการเลือกตั้ง กลับปรากฏว่า “พรรคประชาธิปัตย์” โดยการนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นพี่ชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง 

 

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

 

 

           คืนวันอันสวยสดงดงามของพรรคสีฟ้าในวันนั้น เป็นพรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดถึง 114 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่จะมีได้ คือ 279 คน นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

           โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากถึง 24 คน ถือว่าได้ยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ ไว้ได้

 

           ในขณะที่พรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้ ส.ส.มาทั้งหมด 45 คน ถือเป็นอันดับสาม โดยที่พรรคชาติไทยได้เป็นอันดับสอง คือ 56 ที่นั่ง

 

           มีการวิเคราะห์กันว่า พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะการบริหารราชการที่ผ่านมา จากการยกเลิกความร่วมมือทางการทหารกับทางสหรัฐอเมริกา โดยไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แทน

 

           อีกทั้งตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เองในครั้งนี้ก็ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่ "สมัคร สุนทรเวช" นักการเมืองหนุ่ม ผู้เป็นเสมือนดาวรุ่งในขณะนั้นของพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่เขตดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของตนเองด้วย

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

 

 

           ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมากเป็นลำดับหนึ่ง และหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรด้วย

 

           ในขณะที่พรรคกิจสังคมได้คะแนนดีและมากขึ้นได้ที่นั่งในสภากว่า 40 เสียง มากกว่าเดิมที่มีเพียง 18 เสียง แต่หัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แพ้เลือกตั้งในเขตดุสิต แปลว่าไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่สามารถเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเวลานั้นประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 177 ว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

 

           ที่สุดการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นโดยเป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคธรรมสังคม และพรรคสังคมชาตินิยม รวมกันแล้วมีจำนวนเสียง ส.ส.ทั้งหมด 206 เสียง ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

 

          และในวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (หากรวมแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง)

 

           อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการกลับเข้าเมืองไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้นำการสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านจากนักศึกษาและประชาชนกลุ่มต่างๆ

 

           ที่สุดเหตุการณ์บานปลายจนมีการใช้กำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และยุติลงด้วยการเข้ายึดอำนาจการปกครอง โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/297907

 

 

          และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เหตุการณ์รัฐประหารดังกล่าวจึงส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดสภาพไปเช่นเดียวกับบรรดาพรรคการเมืองที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

 

 

           ถึงตรงนี้แล้ว ใครจะเทียบเคียงอะไรยังไงก็ลองดูดีๆ บางทีอาจถึง "บางอ้อ" ในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก-คนใน นั้นสำคัญไฉน

 

          ลองเช็คประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเริ่มกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517

 

           และอีกครั้งเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 12 กันยายน 2535 และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

 

           จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และกำหนดใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร!!

 

 

 

4 เม.ย.2519  ปชป.ชนะเลือกตั้ง  สกัด "คึกฤทธิ์" ชิงนายกฯ

 

           เอวัง...ด้วยประการฉะนี้ 

 

///////////////////////////////////////////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/

เวบข่าวประชาไท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ