วันนี้ในอดีต

7 ก.พ.2544 “เด็กดื้อ ได้ดี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

      เด็กดื้อกลุ่มนี้ต้องเจอข้อหาที่แสนเจ็บปวด คือ “เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์กร กระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีพฤติกรรมไม่สุจริต กระทำความผิดอาญา

           ถึงจะหลงลืมในรายละเอียด แต่คนไทยจำนวนมากยังคุ้นเคยดีกับคำเรียกบุคคลกลุ่มหนึ่งว่า “กบฏไอทีวี”

          และวันนี้ของ 17 ปีก่อน เมืองไทยมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด “กบฏไอทีวี” ขึ้น

          ย้อนไปเมื่อปี 2544 ขณะที่คนไทยได้รู้จักกับทีวีช่องไอทีวี ซึ่งตอนนั้นทุกคนยอมรับว่าเป็นช่องข่าวที่มีคุณภาพมาก

          แต่เวลาต่อมา หลายคนรู้สึกว่า มีการคุกคามช่องนี้จากอำนาจทุน เมื่อบริษัท ชินคอร์ป เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของไอทีวี เพื่อเข้าบริหารสถานีโทรทัศน์เสรีแห่งนี้

          ที่สุด ที่มาของคำว่า 'กบฏไอทีวี' จึงเกิดจากชนวนสำคัญจากเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2543 กับข่าวชินคอร์ปวางแผนซื้อหุ้นส่วนใหญ่ไอทีวี และก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ พ..ท.ทักษิณ ชินวัตร จะตั้งพรรคการเมือง เพื่อลงสนามเลือกตั้งสมัยแรก ทำให้ฝ่ายข่าวกลุ่มหนึ่ง นำโดย จิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารขณะนั้น เป็นหัวหอกคัดค้านคนสำคัญ

          กระทั่งช่วงปลายปีนั้นเอง กลุ่มชินคอร์ป เข้ามาถือหุ้นไอทีวี ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากพนักงานฝ่ายข่าว เพราะไม่พอใจที่ถูกผู้บริหารตัวแทนจากชินคอร์ป แทรกแซงการทำงานของบรรณาธิการ โดยปิดกั้นการนำเสนอข่าวที่มีผลทางลบต่อ พ..ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ตัวเก็งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

          เช่น เรื่อง 'ซุกหุ้น' และปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่ระบุกันว่ามีการแทรกแซงของผู้บริหาร กรณีสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่จะไปซักถาม พ...ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น อีกทั้งสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟ และพยายามเข้ามากำหนด และชี้นำประเด็นให้ฝ่ายข่าวมากขึ้น เป็นต้น เพราะเกรงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 6 มกราคม 2544

          ปัญหาต่างๆ ถูกสั่งสมจนนำไปสู่การออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ ให้ผู้บริหารชินคอร์ปขณะนั้น รวมถึงผู้บริหารไอทีวี ยุติการครอบงำ กดดัน และแทรกแซงสื่อ เพราะถือเป็นการละเมิดมาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญ

          แต่ผลคือ ฝ่ายข่าวถูกบีบคั้น จน เทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวขณะนั้น จำต้องไขก๊อกออกไป ส่วน ปีย์ มาลากุล ที่เข้ามาแทน ก็ถูกสั่งปลดไปอย่างรวดเร็ว หลังมีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง บุญคลี ปลั่งศิริ ขอให้หยุดแทรกแซงฝ่ายข่าว

          ขณะที่เหตุการณ์อื่นๆ ก็ทยอยเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น กลุ่มผู้สื่อข่าวไอทีวี ออกแถลงการณ์ถึง พ...ทักษิณ ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำข่าวของกอง บก. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2544

          จากนั้นถัดมาเพียงไม่กี่วัน บรรณาธิการบริหารอย่าง จิระ ห้องสำเริง ได้ลาออก ท่ามกลางเสียงร่ำลืออย่างหนักว่าถูกบีบออก ฐานเป็นแกนนำในการออกแถลงการณ์ ที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บริหาร

          บรรยากาศในไอทีวีขณะนั้น เป็นไปอย่างอึมครึม ไม่ราบรื่นนัก กลายเป็นปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายข่าวกับฝ่ายผู้บริหาร

          และแล้ว หลังพรรคไทยรักไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อยู่ๆ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้บริหารไอทีวีมีคำสั่งปลดพนักงานทั้ง 21 คน ที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านมาก่อนหน้านี้

          โดยต้องเจอข้อหาที่แสนเจ็บปวด คือ “เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์กร กระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีพฤติกรรมไม่สุจริต กระทำความผิดอาญา”

          และทั้งหมดนี้ คือกลุ่มกบฏไอทีวี ที่ต้องจดจารึก!! ว่าเป็นเด็กดื้อที่ไม่ยอมให้กับอำนาจการเมือง

          ประกอบด้วย 1.เชิดชาย มาศบำรุง 2.ชมพูนุช คงมล 3.ภุชงค์ แดงประเสริฐ 4.สุดารัตน์ สุขแสงรัตน์ 5.นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 6.สินีนาฎ ดิลกวานิช 7.สุภาลักษณ์ ตั้งจิตศีล 8.จีรชาฎา ทองนาค 9.สมมาตร วัฒนคุโณปการ 10.สุวรรณา อุยานันท์ 11.วิศาล ดิลกวานิช 12.ปฏิวัติ วสิกชาติ 13.ยุวดี เตชะไพทูรย์สุข 14.อังสนา เทศขยัน 15.กรุณา บัวคำศรี 16.ภัทราพร สังข์พวงทอง 17.นาตยา แวววีรคุปต์ 18.อรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ 19.สกลเดช ศิลาพงษ์ 20...สุกุณฏีร์ จรูญโรจน์ 21.แก้วตา ปริศวงศ์

          ต่อมา ทั้ง 21 คนพยายามต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเอง และเรียกร้องขอคืนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนไปพร้อมๆ กัน โดยยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าบริษัทกระทำการอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 ของ พ..บ.แรงงานสัมพันธ์

          กระทั่ง ครส. วินิจฉัยว่า การกระทำของไอทีวี ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเลิกจ้าง พร้อมสั่งให้รับทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานเช่นเดิม แต่ผู้บริหารไม่ยอม และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ครส. (1 มิถุนายน 2544) ต่อมาศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งของ ครส. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ฝ่ายผู้บริหารยังไม่หมดความพยายาม ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางอีกครั้ง (26 กันยายน 2545)

          ที่สุด หลังจากใช้เวลาพิจารณาคดีนานกว่า 2 ปี ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน มีคำพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง (8 มีนาคม 2548) ซึ่งไอทีวีต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับทั้ง 21 คน คิดเป็นเงินราวประมาณ 20 ล้านบาท!!

          ครั้งนั้น นับเป็นปรากฏการณ์ที่คนข่าวกำชัยชนะ อย่างสมกับคำว่า “สื่อเสรี” ได้สิ่งดีๆ ตอบแทนคืนกลับมา

          กระนั้นก็ตามหลังคำพิพากษา หลายคนในกบฎไอทีวี ยอมรับว่า ชัยชนะจากคดีไอทีวี ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ของสื่อมวลชนกับการรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ในสังคมสื่อมวลชนไทยพัฒนาขึ้นเท่าไหร่นัก

          อย่างที่รู้กันทุกวันนี้ สื่อมวลชนก็ยังคงทำงานยากไปตามยุคสมัยทางการเมือง เหมือนเดิม! จะมีก็แต่สื่อทางโซเชียลมีเดีย ที่พอจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ