วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 18 มิ.ย. 2558 ศาลปกครองชี้ ‘สิทธิการตาย’ผู้ป่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 18 มิ.ย.2558 ศาลปกครอง ชี้ ผู้ป่วยมีสิทธิปฏิเสธการยื้อชีวิต เพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ ไม่ทรมาน

 

         วันนี้ในอดีต เมื่อ 2 ปีที่แล้ว 18 มิ.ย 2558  ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ, พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา, พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นโจทก์  ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น และ นายวิทยา บุรณศิริ  รมว.สาธารณสุข เป็นจำเลย  เพื่อขอให้ยกเลิกกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ปี 2553  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

             โดยทางผู้ฟ้อง อ้างว่า  1. กฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อ มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งกำหนดให้แพทย์ต้องบำบัดโรค แต่กฎกระทรวงกลับให้แพทย์ยุติการรักษา อีกทั้งแพทย์ไม่ได้ถูกสอนมาให้หยุดช่วยชีวิตคน  2.ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.สร้างภาระให้กับการจัดการบริการสาธารณสุข 4.ไม่มีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่ถูกบังคับให้ทำตามกฎกระทรวงนี้ และอาจทำให้ประชาชนตายโดยไม่สมควรตาย เพราะไม่มีใครเป็นคนตัดสินว่าผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่แท้จริงและ 5.ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 80 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพและเมื่อทำตามาตรฐานวิชาชีพจะได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นกฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำตามมาตรฐานวิชาชีพ แพทย์ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

               ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่บุคคลพึงมีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ความคุ้มครองคนไทยทุกคนเอาไว้และการจัดทำร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ดำเนินการอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ แพทยสภา และการเปิดเวทีให้มีส่วนร่วมใน 4 ภูมิภาค รวมถึงผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอน

            ศาลปกครองสูงสุด ยังเห็นว่าการที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต มีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การให้สิทธิผู้ป่วยที่จะเลือกไม่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาล เพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ ถือเป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้า เพื่อประกาศให้สาธารณชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ

            สำหรับกฎกระทรวงฯ กำหนดให้แพทย์ที่รับผิดชอบการรักษา มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ไม่มีหน้าที่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ถึงแก่ความตาย หรือปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ให้การรักษา หรือใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต หรือแม้ว่าหากผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะระบุในหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้งดเว้นการรักษาเพื่อเร่งการตาย แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้และผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังคงได้รับการดูแลแบบ'ประคับประคอง'จากแพทย์ รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากญาติพี่น้อง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะตายแบบธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความทรมานจากการรักษาหรือยื้อชีวิตโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือยา ดังนั้น แพทย์ที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาฯ จึงไม่มีความผิด

           ทั้งนี้กฎกระทรวง ที่ออกตามมาตรา 12 ของ  พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ  ระบุ ให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคล ไม่ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

         ‘สิทธิการตาย’ ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว สำหรับเมืองไทยที่ถกเถียงเรื่องนี้กันมีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ