ข่าว

ถึงเวลาผ่าตัดใหญ่“อัศวินสีส้ม”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 3 หน (รองแชมป์ทั้งสามครั้ง) คว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2014 แต่ปัจจุบัน"ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ"ฉบับหมีขาวกำลังไม่มีชื่อของพวกเขา

 ตอนนี้คำว่า“ปาฏิหาริย์”ก็อาจไม่พอสำหรับขุนพล“อัศวินสีส้ม”เนเธอร์แลนด์ เมื่อพวกเขาส่อแววพลาดทัวร์นาเมนต์ใหญ่เป็นรายการที่สองติดต่อกัน นับตั้งแต่พลาดการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป “ยูโร 2016” รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส แถมครั้งนี้ความสำคัญยังหมายถึงศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเสียด้วย
    เนเธอร์แลนด์ คือทีมที่เป็นถึงรองแชมป์ฟุตบอลโลก 2010 และคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2014 หนล่าสุด แต่ปัจจุบันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้ายที่รัสเซีย กำลังจะไม่มีชื่อของพวกเขา
    สามประตูในเกมคัดบอลโลกของ ดาวี พร็อพเพอร์, อาร์เยน ร็อบเบน(จุดโทษ) และ เมมฟิส เดอปาย ในชัยชนะเหนือ เบลารุส 3-1 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(7ต.ค.) แทบหมดความหมายทันที เมื่อ สวีเดน คู่แข่งแย่งพื้นที่เพลย์ออฟบุกไปถล่ม ลักเซมเบิร์ก 8-0 ทำให้นัดสุดท้ายซึ่งทั้งสองทีมต้องโคจรมาเจอกันเอง ลูกทีมของ ดิ๊ก อัตโวคาท ต้องเอาชนะขุนพล“ไวกิ้ง”ให้ได้อย่างน้อยที่สุด 7-0 ซึ่งหากมองในแง่ทฤษฎีโอกาสเข้ารอบยังมีอยู่ แต่ในทางปฏิบัติแทบเรียกได้ว่าพวกเขาตกรอบไปแล้วกว่า 99.99%

แนวทางที่เปลี่ยนไป
    คำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้อดีตทีมมหาอำนาจวงการลูกหนังซึ่งเคยผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกถึง 3 ครั้ง (แต่เป็นรองแชมป์ทั้งหมด ในปี 1974, 1978 และ 2010) เดินทางมาสู่ยุคตกต่ำได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยถูกนิยามว่าเป็นชาติที่ให้กำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่ที่เรียกว่า “โททัล ฟุตบอล”
    “เราหลงทางมาไกลเลยตอนที่มี หลุยส์ ฟาน กัล และ แดนนี บลินด์ เป็นกุนซือทีมชาติ โดยเฉพาะรายหลัง เราไม่ได้ไปเตะ ยูโร 2016 รอบสุดท้ายก็เพราะเขา” มาร์ติน โยล อดีตกุนซือท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ออกมาสับเละถึงความตกต่ำที่เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่คราวที่คว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่บราซิล
    "ฟาน กัล เปลี่ยนรูปแบบของเราด้วยการเล่นกองหลัง 5 คน นี่คือการเล่นเพื่อผลการแข่งขัน โดยแลกกับจิตวิญญาณที่เราต้องเสียไป ใน เนเธอร์แลนด์ เรามีปรัชญาการทำทีมหลากหลาย เวลานี้เราต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น"
    การเปลี่ยนระบบจาก 4-3-3 ที่คุ้นเคย มาเล่นตามแนวทางของอดีตกุนซือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในตอนนั้น คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทรงบอลของพวกเขาเสียไป แม้จากนั้น กุส ฮิดดิงค์ และ แดนนี บลินด์ จะมารับช่วงต่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการเล่นของ“อัศวินสีส้ม”ไม่เคยใกล้เคียงกับคำว่า“โททัล ฟุตบอล”ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมาอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นการต่อบอล, การสร้างสรรค์เกม หรือแม้กระทั่งการยืนตำแหน่ง
    อย่างไรก็ตาม โยล ยังเชื่อลึกๆว่า การตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกหนนี้ จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่เรื่องแนวทางการเล่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตัวผู้เล่น ที่น่าจะถึงคราวต้องผ่าตัดทีมครั้งใหญ่

คุณภาพนักเตะ
    นอกจากแทคติกการเล่นที่เป็นตัวการใหญ่ในการฉุดทีมให้ตกต่ำสู่ยุคมืดแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพของนักเตะ ที่ปัจจุบันพวกเขามีผู้เล่นในแต่ละตำแหน่งให้ใช้งานน้อยเหลือเกิน ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่สามารถหาใครขึ้นมาทดแทนขุมกำลังเก่าๆอย่าง อาร์เยน ร็อบเบน, เวสลีย์ สไนจ์เดอร์ และโรบิน ฟาน เพอร์ซี ที่เคยไล่ล่าความสำเร็จด้วยกันมาได้เลย
    พวกเขาไม่มีผู้เล่นระดับสูงที่อายุ 25-31 ปี โดยเฉพาะเมื่อกวาดสายตาไปดูชุด 11 ตัวจริง นัดอัด เบลารุส 3-1 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ดาลีย์ บลินด์ กองหลังที่ขึ้นชุดใหญ่ตั้งแต่อายุ 23 ปี แต่ 4 ปีผ่านมาปราการหลังรายนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักจากตอนแจ้งเกิดในทีมชาติ, เควิน สตรอทมัน เป็นนักเตะที่เก่ง แต่ไม่พิเศษ, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม วัย 26 ปี ยังสร้างผลงานได้แค่มิดฟิลด์เชื่อมเกมที่พบเห็นได้ทั่วไป, ดาวี พร็อพเพอร์ กองกลาง วัย 26 ปี แม้จะฟอร์มดี ซัลโวไป 3 ประตู จาก 2 นัดหลัง ก็ยังไม่ใช่คนที่ทีมจะฝากความหวังได้อยู่ดี ทำให้ภาระหนักตกไปอยู่กับ ร็อบเบน ที่ต้องแบกทีมไว้คนเดียวในวัย 33 ปี
    ไม่นับปัญหาในแดนหน้าที่นับตั้งแต่หมดยุค ฟาน เพอร์ซี ก็ไม่มีหัวหอกดัตช์รายไหนฝากความหวังได้อีกเลยเลย ทั้ง วินเซนต์ แยนเซน และ บาส โดสต์ โดยรายแรกร้างสกอร์มาตั้งแต่เกมคัดบอลโลกที่ถล่ม ลักเซมเบิร์ก 5-0 เมื่อเดือนมิถุนายน ส่วนรายหลัง ลูกสุดท้ายในนามทีมชาติต้องย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน และการมีชื่อติดทีมของ ไรอัน บาเบล ในวัย 30 ปี อดีตตัวรุกที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อออกมาหากินนอกประเทศ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการขาดแคลนเพชฌฆาตระดับโลก
    หันไปดูดาวรุ่งของพวกเขาในปัจจุบัน อาทิ เมมฟิส เดอปาย (ลียง), ทิโมธี โฟซู-เมนซาห์ (คริสตัล พาเลซ), นาธาน อาเก(บอร์นมัธ), ดอนนี ฟาน เดอ บีค (อาแจ็กซ์), มาธิอัส เดอ ลิกต์ (อาแจ็กซ์) และ เจอร์เกน โลคาเดีย (พีเอสวี) รายแรกล้มเหลวไม่เป็นท่าในการย้ายมายังลีกใหญ่ ส่วน โฟซู-เมนซาห์ และ อาเก ไม่สามารถก้าวขึ้นมายึดตัวจริงในทีมใหญ่ได้จนต้องถูกปล่อยยืม ขณะที่ดาวรุ่งที่เหลือซึ่งยังค้าแข้งในลีกกังหันลมนั้น การก้าวขึ้นมาเล่นในลีกนอกประเทศยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

โค้ชรุ่นใหม่
    ระยะหลังใบหน้าค่าตาของบทบาทนายใหญ่ดัตช์วนเวียนอยู่แค่ หลุยส์ ฟาน กัล, กุส ฮิดดิงค์ และ ดิ๊ก อัตโวคาท ซึ่งจุดนี้ทำให้แนวทางของพวกเขาไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ ครั้นพอลองให้หน้าใหม่อย่าง แดนนี บลินด์ หรือกระทั่ง มาร์โก แวน บาสเทน ต่างไม่มีอะไรที่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน 
    ยิ่งถ้ามองไปยังกุนซือหนุ่มหน้าใหม่ในลีกก็ไม่มีวี่แววว่าจะก้าวขึ้นมาสู้กับความกดดันเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะตัวอย่างของ แฟรงค์ เดอ บัวร์ ที่พังไม่เป็นท่ากับอินเตอร์ มิลาน และ คริสตัล พาเลซ  จึงไม่แปลกที่เวลานี้บรรยากาศอึมครึมกำลังปกคลุมไปในทั่วทุกส่วนของวงการฟุตบอลดัตช์ โค้ชคู่แข่งของชาติต่างๆ นำวิธีการของพวกเขาไปใช้และประสบความสำเร็จได้เพราะใช้ต้นแบบการเล่นจากพวกเขา
    “โททัลฟุตบอล” ถูกพัฒนาไปเป็น “ติกิ ตากา” ของสเปน, เยอรมนี นำชุดความรู้ไปดัดแปลงจนเกิดเป็นแนวทางของตัวเอง ในทางกลับกัน ชาติต้นกำเนิดโททัลฟุตบอลอย่าง เนเธอร์แลนด์ กลับไม่มีพัฒนาการหรือรูปแบบที่ต่อยอดจากเดิม ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังส่งสัญญาณให้เห็นว่าบรรดาโค้ชชาวดัตช์ต้องยกระดับตัวเองให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และกำหนดสไตล์การเล่นที่สอดคล้องกับต้นฉบับของพวกเขาเองให้ได้ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
    
    สุดท้ายนี้เกมระหว่าง เนเธอร์แลนด์ กับ สวีเดน ซึ่งจะชี้ชะตากัน ในวันที่ 11 ต.ค. ณ สนามโยฮัน ครัฟฟ์ อารีนา (อัมสเตอร์ดัมส์ อารีนา เดิม) สิ่งที่แฟนบอลเฝ้ารออาจไม่ใช่“ปาฏิหาริย์”ตั๋วบอลโลกรอบสุดท้าย แต่อาจเป็นการผ่าตัดใหญ่หลังจบแมตช์ดังกล่าว ที่จะเปลี่ยนแปลงวงการลูกหนังดัตช์ไปตลอดกาล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ