ข่าว

ไฟเขียวไทยลุยจัด“โมโต จีพี”3ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลายเป็นข่าวใหญ่สำหรับวงการมอเตอร์สปอร์ต เมื่อไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก (โมโต จีพี) เป็นเวลา 3 ปี

     โดยก่อนหน้านี้ กกท. มีโครงการเสนอให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโต จีพี เพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานกีฬายานยนต์ให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว ให้อยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำด้านกีฬาในอาเซียน
เริ่มต้นเมื่อไหร่
     หลังจากการอนุมัติของ ครม. ทางฝ่ายจัดการแข่งขันในเมืองไทยก็จะดำเนินการเจรจาสัญญากับ ดอร์นา สปอร์ต ฝ่ายลิขสิทธิ์ของ โมโตจีพี โดยในส่วนของค่าลิขสิทธิ์จำนวนทั้งหมด 400 ล้านบาท ทางภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบปีละ 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากการสนับสนุนของทางภาคเอกชน สำหรับแผนการจัดการแข่งขันที่วางเอาไว้ 3 ปีรวด ในฤดูกาล 2018-2020 ซึ่งจะถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งใน 20 สนาม ของตารางแข่งขันฤดูกาลหน้า ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ สนามระดับ เกรดเอ ของสหพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ็ม) และเคยเป็นเจ้าภาพรองรับการแข่งขัน เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิพ มาแล้ว 3 ปี ในฤดูกาล 2015-2017
โปรแกรมแข่งขัน
     ในส่วนของโปรแกรมการแข่งขันคาดว่ามีความเป็นไปได้ 2 แบบ โดยแบบแรกเชื่อว่าจะถูกรวมอยู่ในช่วงท้ายของฤดูกาลในโซนทวีปเอเชีย เช่นเดียวกับ โมเตกิ (ญี่ปุ่น), ฟิลลิป ไอส์แลนด์ (ออสเตรเลีย) และ เซปัง (มาเลเซีย) ซึ่งหากเป็นไปตามตารางดังกล่าว บุรีรัมย์ จะถูกแทรกเข้าไปในเดือนตุลาคมปีหน้าเป็นเดือนที่แข่งกัน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันติดต่อกันยาวถึง 4 สัปดาห์ ประเทศไทยอาจถูกแพ็ครวมกับ มาเลเซีย ให้อยู่ติดกัน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงต้นเดือนหรือปลายเดือน
      อีกความเป็นไปได้คือ บุรีรัมย์ อาจถูกจัดลงโปรแกรมแบบไนท์เรซ เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนระอุแบบที่กาตาร์ ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลในเดือนมีนาคม แต่เงื่อนไขหลังนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสนามช้างฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิพ สนาม 2 ในเดือนมีนาคมอยู่แล้ว
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
     สำหรับการแข่งขัน โมโต จีพี เป็นการแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่ดีที่สุดของโลก เริ่มมาตั้งแต่ปี 1949 ปัจจุบันมีการแข่งขัน 20 สนาม มีผู้ชมแต่ละสนามกว่า 2 แสนคน และถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้จะเป็นเรื่องของชื่อเสียงประเทศและการท่องเที่ยว สร้างการยอมรับของประเทศสู่ศูนย์กลางของอาเซียนและเอเชีย ซึ่งสามารถวัดเป็นมูลค่าเชิงตัวเลขได้
     อีกทั้งประเทศไทย ยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ ทำให้ กกท.เห็นควร ว่า ควรจะมีการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านต่างๆ เนื่องจากกระแสความนิยมในแบรนด์ของ โมโต จีพี นั้นเติบโตขึ้นทุกปี 
     ขณะที่ในแง่การแข่งขันยังเป็นการช่วยยกระดับนักบิดชาวไทยได้มีโอกาสัมผัสเวทีระดับโลกซึ่งถือเป็นขั้นสุดของวงการจักรยานยนต์ทางเรียบ มีการแข่งขัน 3 รุ่น เริ่มจาก โมโตทรี 250 ซีซี ,โมโตทู 600 ซีซี และโมโตจีพี 1,000 ซีซี ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้มีนักแข่งหน้าใหม่เกิดขึ้นหลังก่อนหน้านี้ถือว่านักบิดไทยอยู่ในเวทีโลกน้อยมาก
     แม้หลายครั้งการจัดอีเวนต์กีฬาใหญ่ๆ ในบ้านเราส่วนใหญ่มักเจอกับปัญหาขาดทุนทั้งยอดรายได้และจำนวนผู้ชม แต่หลายฝ่ายก็มองว่าการจัดอีเวนต์ระดับนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีผลในการเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน
     สิงคโปร์ เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับการนำเสนอการแข่งรถยนต์ สูตรหนึ่ง หรือ ฟอร์มูลา วัน ในรูปแบบใหม่ คือ การแข่งขันช่วงกลางคืน หรือ ไนท์เรซ โดยใช้การปรับพื้นผิวถนนใจกลางเมือง ให้เป็นสนามแข่งรถชั่วคราว
     ขณะที่ มาเลเซีย เรียกได้ว่ามีพื้นฐานการจัดแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกมาอย่างโชกโชนเนื่องจากเป็นเจ้าภาพโมโตจีพีมาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมียอดผู้ชมจากเพื่อนบ้านและต่างประเทศเพิ่มทุกปี
      ซึ่งหากยึดเอาประเทศเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่าง การเป็นเจ้าภาพโมโตจีพีของไทยหนนี้ แม้อาจต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ที่อาจขาดทุนในช่วงแรก แต่ระยะยาวทุกคนยังมั่นใจว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งในแง่การแข่งขันและการเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ