ข่าว

สรุปดราม่า แบบเรียน ป.5 'ไข่ต้ม-ข้าวมันไก่' สะท้อนอะไรในสังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรุปดราม่า 'ไข่ต้ม-ข้าวมันไก่' จาก แบบเรียน ป.5 หนังสือภาษาพาที เริ่มมาจากจุดไหน สะท้อนอะไรในสังคมบ้าง เหล่านักการเมือง คนดัง แห่แสดงความคิดเห็น

'แบบเรียนป.5' กลายเป็นกระแสดราม่าที่มีการถูกกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโลกโซเชียล ซึ่งไม่ใช่ชาวเน็ตที่มีการออกมาคอมเมนต์กันมากมายเท่านั้น แต่รวมไปถึง กุมารแพทย์ นักวิชาการ นักการเมือง คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ ได้ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งดราม่าจากแบบเรียนหนังสือ ภาษาพาที ทำให้กระแส #ไข่ต้ม ขึ้น เทรนด์ทวิตเตอร์ ติดกันหลายวันจนส่งผลให้ ไข่ต้ม ใน 7-Eleven บางสาขา ขาดตลาดอีกด้วย

 

 

คมชัดลึก จะพาไปย้อนดูกระแสดราม่า 'ไข่ต้ม-ข้าวมันไก่' จากแบบเรียน ป.5 ภาษาพาที ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เริ่มต้นมาจากอะไร และร้อนแรงขนาดไหน

 

1. เพจ มาดามแคชเมียร์ โพสต์ภาพแบบเรียน 

 

เริ่มต้นที่ทางเพจ มาดามแคชเมียร์ โพสต์ภาพแบบเรียน ภาษาพาที ระดับชั้น ป.5 หน้า 148 ซึ่งในภาพเป็นเด็กกิน ไข่ต้มครึ่งซีกกินกับน้ำปลา และน้ำจากผัดผักบุ้ง แบบเรียนที่ตั้งใจสอนในเรื่องการพอเพียง แต่กลับย้อนแย้งในเรื่องโภชนาการ

 

โดยระบุว่า โปรตีนจากไข่ต้มหนึ่งซีก 1.75 กรัม ข้าวคลุกน้ำปลาโซเดียมหนักๆ ผัดผักบุ้งก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงแน่ๆ FYI, เด็กโตวัย 7-14 ปี ต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. สมมติว่าเด็กน้ำหนัก 40 กก.ก็ต้องกินโปรตีน 40 กรัมต่อวัน จนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล โดยมีชาวโซเชียลเข้ามาคอมเมนต์มากมาย

 

แบบเรียน ป.5

 

 

2. กุมารแพทย์ โพสต์ข้อความ "โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ"

 

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ โพสต์ข้อความ "ไข่ครึ่งซีก+ข้าวคลุกน้ำปลาอร่อยที่สุดในโลก" โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของ "พลังงาน" หรือแค่ อิ่มท้อง อย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญนั่น คือ "โปรตีน" ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของ สมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของ เอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย

 

ถ้า วิสัยทัศน์มีเพียง แค่ "อิ่มท้อง" "สุขใจ" แต่ไม่มองให้เห็นถึง สารอาหาร ที่จำเป็นต่อเด็กของเรา นี่คือ เรื่องน่ากังวลมากๆ สำหรับ "อนาคตของชาติ" ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่มที่ยังล้าหลัง ของบ้านเราแบบนี้

 

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ

 

3. นักการเมืองแสดงความคิดเห็น

 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพพร้อมคำถาม เราควรปล่อยให้เด็กไทยยอมรับสภาพ การกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาบี้ไข่ จริงๆ หรือ? ลำพังการปล่อยให้เด็กกินข้าวกับผัดผักบุ้งและไข่ต้มหนึ่งซีก โภชนาการเพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ อยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้สอนให้เด็กยอมจำนนต่อโชคชะตายอมรับสภาพกับการกิน "ประเทศไทยควรลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น และแพงเกินจริง นำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับเด็กๆ ประชาชนต้องการ "อาชีพ" ต้องการ "อาหาร" เลิกผลาญซื้อ "อาวุธ" ได้แล้วครับ"

 

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์คลิปวิดีโอขณะลูกชายกินข้าวกับไข่ต้ม พร้อมแคปชั่น "ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ ครับ" และ #Saveไข่ต้ม ซึ่งการโพสต์ครั้งนี้ ได้สร้างกระแสดราม่าให้ร้อนแรงมากขึ้นไปอีก

 

 

4. 'แพรรี่' โพสต์ 'การขาดสารอาหารไม่ใช่เรื่องโรแมนติก'

 

กลายเป็นดราม่าร้อนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อ แพรรี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร ก็ได้ออกโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ โดยระบุว่า "ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่าการกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ"

 

 

แพร์รี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร

 

 

5. สพฐ.​ ออกมาชี้แจง

 

อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ระบุว่า มีเจตนาที่จะสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย ซึ่งประเด็นที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียเป็นการใช้ตรรกะวิบัติที่นำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งอาจทำให้เกิดการด้อยค่า ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือความเข้าใจผิดต่อแบบเรียน 

 

หลังจากนั้นไม่นาน เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กล่าวว่า มีการเตรียมให้คณะกรรมการสำนักวิชาการหารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่

 

 

6. จาก ไข่ต้ม สู่ ข้าวมันไก่

 

กระแสดราม่าแบบเรียน 'ไข่ต้ม' ยังไม่ทันหาย ก็มีกระแสออกมาอีกครั้ง เมื่อมีผู้โพสต์ภาพแบบเรียน บทที่ 6 เรื่องจากคลองสู่ห้องแอร์ เป็นบทสนทนาระหว่างเด็กหญิงและเจ้าของร้านค้า ซึ่งเป็นเรื่องของใบพลูที่กินข้าวมันไก่ แต่เจอน้ำจิ้มค่อนข้างเผ็ด จึงไปขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกงข้างๆ แม่ค้าร้านข้าวแกงต่อว่า มาขอได้อย่างไร ไม่ได้กินที่ร้าน แต่ก็อนุญาตแบบไม่เต็มใจ ซึ่งในบทเรียนนี้ ต้องการสอนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน

 

แต่ก็เป็นกระแสดราม่าขึ้น เมื่อบทเรียนนี้ได้ย้อนแย้งกับการใช้ชีวิตในสังคม โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนดังกล่าว การแบ่งปันน้ำปลาจากร้านอาหาร ความจริงล้วนแล้วต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของ สิ่งที่หนังสือเรียนควรสอนเด็กให้หนักคือ "มารยาทและความเกรงใจ" ในการเข้าสังคม

 

แบบเรียน บทที่ 6

 

 

จากกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ #ไข่ต้ม ได้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ยาวนานหลายวัน เป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงส่งผลให้ 'ไข่ต้ม' ในร้าน 7-Eleven ในบางสาขาขาดตลาดอีกด้วย

 

 

ภาพ : มาดามแคชเมียร์ / Patison Benyasuta

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ