ข่าว

โควิด-19 เป็นเหตุส่ง ‘ช้างไทย’ คืนถิ่นสำเร็จช้าง-ควาญกลับสู้ชีวิตบ้านเกิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คชอาณาจักรรับ ‘ช้างไทย’ 200 เชือกเข้าสู่โครงการช้างคืนถิ่น ช่วยช้าง-ควาญช้างกลับบ้านเกิด สร้างรายได้ให้ชาวช้างไม่ต้องออกไปเร่ร่อนในเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน

 

13 มีนาคม 2566 "วันช้างไทย" สัตว์ประจำชาติที่มีความสำคัญและผูกพันกับวิถีคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่อดีตล่วงมาถึงปัจจุบัน แต่คนไทยกลับเห็นคุณค่าและความสำคัญของ "ช้างไทย" ลดลง ช้างไทยจำนวนไม่น้อยถูกพาไปเร่ร่อนหาผลประโยชน์โดยควาญช้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ช้างได้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก 


โครงการคชอาณาจักร ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน โดยพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดให้องค์การสวนสัตว์ มีการดูแลและอนุรักษ์ช้างไทยด้วย เนื่องจากเป็นสัตว์สำคัญ คู่บ้านคู่เมือง และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ควรได้รับการคุ้มครอง ปกป้องให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้งบประมาณจากรัฐ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ 3,000 ไร่ พัฒนาเป็นคชอาณาจักร
 

 

"วันช้างไทย"

 

คชอาณาจักร ถูกสร้างขึ้นเพื่อรวบรวมและจัดระเบียบช้างที่เคยออกไปเร่ร่อนในเมือง และควาญช้างได้กลับมาอาศัยอยู่รวมกันในบ้านเกิดของตัวเอง โดยในปัจจุบันมี "ช้างไทย" เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 200 เชือก โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ช้างและควาญช้างจำนวนมากตกงานจากปางช้างต่างๆ ได้เดินทางกลับมาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก


นายกรีติคุณ กรีธาพล ปฏิบัติงานแทนผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า "ช้างไทย" ที่เข้าร่วมโครงการฯ  แต่ละเชือกจะได้รับเงินเดือนเดือนละ 10,800 บาท ที่ดินในการปลูกหญ้าให้ช้าง จำนวน 4 ไร่ ที่อยู่อาศัยของควาญช้างอีก 2 ไร่ เพื่อให้ช้างและควาญช้างไม่ต้องออกไปเร่ร่อนในเมืองตามพระราชเสาวนีย์พระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับหญ้าที่ใช้เป็นอาหารช้างคือหญ้าพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 โดยมีการรณรงค์ให้ควาญช้าง พี่น้องชาวเลี้ยงปลูกหญ้าเพื่อให้เลี้ยงดูช้างเองได้ด้วยตนเอง 

 

กรีติคุณ กรีธาพล


พันธกิจหลักของโครงการคชอาณาจักร คือการอนุรักษ์และวิจัยนำช้างคืนถิ่น ปัจจุบันพันธกิจดีดำเนินมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ภายหลังจากมีการปรับแก้พระราชกฤษฎีกามีการแก้ไขในปี 2563 มีการเพิ่มเติมพันธกิจเรื่องการหารายได้  มีการสร้างรพ.ช้าง การตรวจสุขภาพช้าง และรักษาช้างทั้งในโครงการและในละแวกใกล้เคียง ตลอดไปจนถึงการให้ความรู้ด้านโภชนาการของช้างอย่างถูกต้อง โดยทางช้าง 1 เชือกกินอาหารไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม ใน 1 วัน 
 

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวช้างในจังหวัดสุรินทร์ได้รับผลกระทบจำนวนมากหลายคนตัดสินใจพาช้างกลับบ้านเกิดเพื่อความอยู่รอด และหลายคนเห็นช่องทางโอกาสในช่วงวิกฤต ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางทำมาหากินสร้างรายได้ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทำคอนเทนต์จากการเลี้ยงช้าง ความน่ารักของ "ช้างไทย" ออกสู่สายตาชาวโลก จนเกิดแฟนคลับ "ช้างไทย" สร้างรายได้หลักให้ชาวช้างอย่างเป็นกอบเป็นกรรม ทำให้ปัจจุบันมีช่องที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับช้างมากที่สุดในประเทศไทยโดยมีอยู่กว่า 200 ช่อง และกำเนิดช้างสตาร์ที่มีแฟนคลับมากมายขึ้นมาหลายเชือก

 

 

"วันช้างไทย"


ปฏิบัติงานแทนผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร กล่าวด้วยว่า โครงการคชอาณาจักร เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก หลังจากโควิด-19 ซา เริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยในโครงการมีการเปิดกิจกรรมลานแคมป์ปิ้ง นั่งช้างชมไพร เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไม่ใส่แหย่งบนช้าง ใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ ไม่บังคับช้าง ให้นักท่องเที่ยวนั่งคอช้าง มีกิจกรรมอาบน้ำช้าง โดยจากนี้จะมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจากเดิมจะมีนักท่องเที่ยวจากทางฝั่งยุโรป อเมริกาที่นิยมเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก


ปัจจุบันในพื้นที่ อำเภอท่าตูม มีช้างขึ้นทะเบียนกับทางอำเภอท่าตูมทั้งหมด 445 เชือก เป็นช้างในโครงการคชอาณาจักร 200 เชือก ช้างในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 80 เชือก ที่เหลือเป็นช้างที่อยู่ตามบ้าน

 

"วันช้างไทย"


นายกรีติคุณ กล่าวทิ้งท้ายถึง "วันช้างไทย" 13 มีนาคม ว่า "วันช้างไทย" เปรียบเสมือนวันชาติของไทย เนื่องจากช้างเป็นสัตว์คู่บ้าน คู่เมือง  โครงการคชอาณาจักรได้จัดกิจกรรม โดยมีการแห่ช้าง รำบวงสรวงถวายพระครูปะกำ ไหว้ปะกำชุดใหญ่ รวมถึงการร่วมกิจกรรมของสวนสัตว์หลายที่ในประเทศไทย อาทิ สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น สวนสัตว์อุบลราชธานี ในการให้ความรู้เรื่องสัตว์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ