คอลัมนิสต์

ยื้อเลือกตั้ง...ได้ถึงไหน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จะมีการใช้ "อภินิหารกฎหมาย" ยื้อเลือกตั้งอีกได้ไหม?

 

               จนถึงขณะนี้ชัดเจนว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการกำหนด “วันเลือกตั้งใหม่” เป็นเมื่อใด

 

               **ทำไม “24 กุมภาพันธ์” ไม่มีการเลือกตั้ง?

               ถามว่าทำไมจะไม่มีการเลือกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้แน่นอนแล้ว คำตอบก็เพราะยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

               หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.จึงจะสามารถประกาศวันเลือกตั้งและขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆในการเลือกตั้งได้

               เดิมมีการวางปฏิทินไว้ว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 2 มกราคม และมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งพรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียง และ กกต.มีเวลาจัดการทั้งหมด 52 วัน

               ล่าสุด “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯมือกฎหมายของรัฐบาล คสช. ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 10 มกราคม ว่าน่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาในเดือนมกราคม และน่าจะกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกินเดือนมีนาคม

 

               **เงื่อนไขประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

               ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 171 ว่า “ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 150วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ”

               ถอดความออกมามีประเด็นสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายใน 90 วัน และ 2.ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน เริ่มนับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เหมือนกัน

               ฉะนั้นถ้ายึดตามบทบัญญัตินี้ ก็ต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ คือ ภายในไม่เกินต้นเดือนมีนาคม

               ทั้งนี้ “วิษณุ” ย้ำไว้หลายครั้งถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งว่า รัฐบาลมีอำนาจในการพิจารณาเพื่อดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมยกตัวอย่างที่ผ่านมาเคยมีที่ไม่ได้นำพระราชบัญญัติประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทันที ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลที่ทำได้และไม่ผิดประเพณี

 

 

              **เลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

               รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ธันวาคม 2561 นับ 150 วัน ไปตกวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

               สำหรับปมปัญหาที่ตีความต่างกันว่า คำว่า “แล้วเสร็จ” รวมถึงวันประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่ หากพิจารณาดูตามตัวบทที่เกี่ยวข้องจริงๆ ไม่น่าจะรวมวันประกาศผลเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ กกต.จึงอยากจัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม เพราะจะสามารถจัดการประกาศผลเลือกตั้งได้เรียบร้อยภายใน 150 วัน ซึ่งจะปิดช่องที่อาจทำให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

               อย่างไรก็ตาม หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในช่วงปลายเดือน ก็ยากที่จะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 10 มีนาคม ได้ เพราะระยะเวลาในการหาเสียงจะสั้นลง จากเดิมวางไว้ที่ 50-60 วัน ข้อนี้อาจถกเถียงกันได้ เพราะในทางปฏิบัติพรรคการเมืองต่างๆก็เริ่มหาเสียงกันแทบจะเต็มรูปแบบแล้ว

               แต่ส่วนที่น่าจะเป็นปัญหา คือ กกต.อาจจะไม่สามารถจัดการในขั้นตอนต่างๆได้ทัน ที่สำคัญคือเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ครั้งนี้จะต้องพิมพ์บัตรที่มีความแตกต่างกันทั้ง 350 เขต

               หากไม่มีการใช้ “อภินิหารกฎหมาย” ยื้อการเลือกตั้งออกไปอีก น่าจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนมีนาคม คือ 24 หรือ 31 มีนาคม ตามความต้องการของฝ่ายรัฐบาล

               กรณีนี้ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงเรียกร้องให้มีการพระกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายในวันที่ 18 มกราคม เพื่อให้เลือกตั้งทันวันที่ 10 มีนาคม ตามสูตรของ กกต.

 

               **“อภินิหารกฎหมาย” ยื้อเลือกตั้งอีกได้ไหม?

               ขณะที่หลายฝ่ายกำลังมองในประเด็นว่า หากมีการประกาศผลเลือกตั้งหลังครบ 150 วันไปแล้ว อาจจะเป็นเหตุให้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย และทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ซึ่งมีการมองว่าอาจจะเป็น “กับดัก” ที่ฝ่ายรัฐบาลวางไว้ เพราะหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็หมายความว่า คสช.จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีก

               แต่จากหนังสือของ “มีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตอบกลับไปยัง กกต. เมื่อ 30 พฤษภาคม 2560 มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ 

               ในหนังสือดังกล่าวไม่ได้ตอบคำถาม กกต.เรื่อง 150 วัน แต่มีการแนบบันทึกการประชุมที่มีชัยได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในวันที่ กกต.มาร่วมประชุมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

               วันนั้น “มีชัย” ตอบคำถาม “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.ขณะนั้น ใน 2 ประเด็นที่น่าสนใจคือ

               ประเด็นแรกเรื่อง 150 วัน มีชัย บอกว่า “หมายความว่าให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันเท่านั้น ไม่รวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย เนื่องจากหากให้หมายความรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ย่อมไม่อาจกำหนดวันเวลาในการเลือกตั้งที่แน่นอนได้”

               อีกประเด็นคือ เรื่อง 150 วันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ “มีชัย” ให้ความเห็นไว้ว่าึ่่ “กรณีดังกล่าวไม่อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไปได้ เนื่องจากระยะเวลาที่ให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลของการเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัดให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น”

 

ยื้อเลือกตั้ง...ได้ถึงไหน?

(อ่านต่อ...เปิด จม. 'มีชัย' ตอบ กกต. ปม '150 วัน' ไม่โมฆะ)

 

               ในประเด็นหลัง อาจอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ต่อให้ กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เสร็จภายใน 150 วัน ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะการเลือกตั้งช้ากว่ากำหนด “ไม่ใช่เงื่อนไขในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลของการเลือกตั้ง”

               หากจำกันได้กรณีเช่นนี้เคยมีการถกเถียงกันเมื่อตอนร่างกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้เสร็จภายใน 240 วัน มีประเด็นว่าหากไม่เสร็จจะทำอย่างไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบหรือไม่ สุดท้ายได้ความว่าเป็นแค่ระยะเวลา้เร่งรัด ไม่มีบทลงโทษ และถึงที่สุดมีการดำเนินการทันภายในเวลาที่กำหนดจึงไม่มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัย

               เช่นเดียวกันกฎหมายลูกที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนดว่าต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ หลายฉบับก็ไม่เกิดขึ้นจริง

               พิจารณาจากการเลื่อนเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายครั้งเพราะ “อภินิหารกฎหมาย”

 

ยื้อเลือกตั้ง...ได้ถึงไหน?

(อ่านต่อ...เปิดสถิติ เลื่อนเลือกตั้ง 6 ครั้ง !!)

 

               มุมนี้อาจจะน่ากลัวกว่าประกาศผลไม่ทันภายใน 150 วันแล้วจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ !!

 

=====================

โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ