คอลัมนิสต์

ศรีธนญชัยไม่ได้!! 4 รมต.พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4 รมต. พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส. อดีต กรธ. ชี้ "ตีความแบบศรีธนญชัยไม่ได้"

 

                กระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่คนในรัฐบาลแสดงท่าทีตรงข้าม

                “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ที่ถูกมองว่าเป็นโต้โผในการผลักดันให้เกิดพรรคพลังประชารัฐ และส่งรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดทั้ง 4 คนเข้าไปบริหาร บอกว่า ควรสนับสนุนเพราะการเมืองไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากเข้ามากลัวเดือดร้อน จึงเลือกหันหลังให้การเมือง และบอกเช่นเดียวกับอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า “เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมทั้ง 4 คนจะลาออกจากรัฐมนตรี”

                “ช่วงนี้เขาต้องทำงานเต็มที่ จะให้ลาออกตอนนี้ ผมคิดว่าหลายโครงการที่เราวางไว้สำคัญมากต่อประเทศในอนาคต เช่น อีอีซี ที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลมาตั้งแต่ต้น และอีกไม่นานก็จะสามารถปักหลักได้ จะละทิ้งได้ยังไง ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเข้ามาทำงานแล้วก่อให้เกิดความตื่นตัวอย่างมาก เรื่องของพรรคพลังประชารัฐก็กำลังไปได้ด้วยดี ผมว่าเวลานี้ให้เขาทำงานอย่างเต็มที่ เขาแยกออกอยู่แล้ว ส่วนนอกเวลาราชการก็แล้วแต่เขา หรืออย่างนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คุณจะไปหาจากไหน จบปริญญาเอกเอ็มไอที แต่โดดมาการเมือง ผมถือว่านี่เป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยที่มีคนคุณภาพอย่างนี้เข้ามา ไม่ใช่แค่อายุน้อยๆ เข้ามา แล้วเฮฮากัน มันไม่ใช่ เขาเข้ามาทำงานจริงจัง เมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรผิด กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็น่าจะต้องติดตามตรวจสอบเขาดู”

 

ศรีธนญชัยไม่ได้!! 4 รมต.พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

 

                ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” ใช้ความเป็นนักกฎหมายอธิบายยืดยาว จับใจความได้ว่ารัฐมนตรีสามารถไปทำงานการเมืองนอกเวลาราชการได้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ โดยกรณีนี้ต้องดูทั้งด้านกฎหมายและความเหมาะสม ซึ่งเจ้าตัวและนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาว่ากระทบต่อการทำงานในฐานะที่ร่วมทำงานกับรัฐบาลหรือไม่ และคนที่ไปทำงานการเมืองจะต้องไม่นำบุคลากร ทรัพย์สิน งบประมาณของราชการมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

                “จะให้ทั้ง 4 คนหยุดทำงานคงไม่ได้ แต่ 4 รมต.ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ต่างจากรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ผ่านมา ที่หัวหน้ารัฐบาลและแกนนำรัฐบาลลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง”

ศรีธนญชัยไม่ได้!! 4 รมต.พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

(อ่านต่อ...วิษณุ โยน "บิ๊กตู่" พิจารณา 4 รมต.ร่วม "พลังประชารัฐ")

 

                รัฐมนตรีทั้ง 4 คนที่มาเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนายอุตตม คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นโฆษกพรรค

 

ศรีธนญชัยไม่ได้!! 4 รมต.พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

(อ่านต่อ..."อุตตม" ผงาดหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ "สนธิรัตน์"คว้าเลขาฯ)

 

                ในมุมของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่หากพลิกดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่พิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้จะพบส่วนที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 264 วรรค 4 ซึ่งโยงมาจากมาตรา 263 วรรค 7 กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ (6 เมษายน 2560) ว่าจะลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้

                ย้ำว่า “ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้” แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการเป็นสมาชิกพรรค

                ย้อนกลับไปดูห้วงเวลาในการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีทั้ง 4 คน 

               คนแรก นายอุตตม อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2559 ฉะนั้นชัดเจนว่าลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้แน่นอน

                ซึ่งในส่วนของนายอุตตมนี้ หากเป็นไปตามที่นายสนธิรัตน์บอก คือจะอยู่ในบัญชีที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามกติการัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อห้ามไว้

                คนต่อมา นายสนธิรัตน์ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว

                แต่ถ้าย้อนกลับไปดูก่อนหน้านั้นจะพบว่าในช่วงที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เขาก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ เพียงแต่อยู่ในตำแหน่งอื่น คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่าง 15 ธันวาคม 2559-23 พฤศจิกายน 2560

                กรณีของนายสนธิรัตน์ จะเหมือนกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ คืออยู่ตำแหน่งปัจจุบัน คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว แต่ช่วงที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เขาก็อยู่ในอีกตำแหน่งคือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

                ส่วนคนสุดท้าย นายกอบศักดิ์ จะเป็นอีกกรณีคือเพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จึงอาจจะมีคำถามว่า เมื่อไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ในช่วงที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ฉะนั้นไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกติกาห้ามลงสมัคร ส.ส.หรือไม่

 

ศรีธนญชัยไม่ได้!! 4 รมต.พลังประชารัฐ ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.

                ถึงแม้นายวิษณุจะบอกว่า 4 รัฐมนตรีนี้จะไม่ลงสมัครส.ส. อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา 4 รัฐมนตรียังไม่เคยประกาศชัดๆ ว่าจะไม่ลงสมัคร ส.ส. แถมมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าอาจจะมีการ “ซิกแซ็ก” หลบข้อกฎหมาย โดยบอกว่าตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเข้ามาเป็นหลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไปแล้ว ฉะนั้นไม่อยู่ใต้บังคับของกติกาที่ว่าต้องลาออกภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

                “อุดม รัฐอมฤต” อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับกติกาห้ามรัฐมนตรีลงสมัครส.ส. ว่าเจตนารมณ์คือไม่ต้องการให้คนที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นลงสมัคร ส.ส. ซึ่งก็รวมถึงกรณีที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีหลังจากนั้น คือเป็นรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งด้วย

                “ไม่ได้หมายความว่าหากมาเป็นรัฐมนตรีในภายหลังจะลงสมัคร ส.ส.ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็เป็นการตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย เพราะเจตนารมณ์คือไม่ต้องการให้คนที่เป็นรัฐมนตรีไปลงสมัคร ส.ส. ถ้าใครต้องการลงสมัคร ส.ส.ต้องลาออกภายใน 90 วัน ถ้าใครไม่ได้ลาออกภายใน 90 วัน หรือลาออกไปแล้วแล้วกลับมาเป็นอีก หรือเข้ามาเป็นรัฐมนตรีภายหลัง ก็ลงสมัครไม่ได้”

                พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ รัฐมนตรีทุกคนที่อยู่ใน ครม.ประยุทธ์ ตอนนี้ ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้

                ส่วนเรื่องการไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคนั้น อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ได้อยู่ในข้อห้าม

                “รัฐมนตรีสามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ เจตนาของเราที่ห้ามคือห้ามรัฐมนตรีลงสมัคร ส.ส.” อาจารย์อุดมย้ำ

                อาจารย์อุดม ย้ำด้วยว่า ไม่ควรมีการตีความขยายออกไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ

                “ถ้าคิดถึงรัฐบาลในภาวะปกติ จะเป็นรัฐบาลที่สังกัดพรรคการเมืองด้วยซ้ำ ก็ไม่ได้มีการบังคับว่ารัฐบาลนั้นต้องลาออกก่อน และเมื่อมีเลือกตั้งเขาก็ลงสมัครเลือกตั้งด้วย เพียงแต่จะถูกจับตาว่ามีการเอาตำแหน่งหน้าที่หรือทรัพยากรของรัฐไปเอาเปรียบคู่แข่งหรือไม่”

                อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริงตำแหน่งส.ส.คงไม่สำคัญเท่ากับการเป็นรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง หากพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล

                ส่วนที่มีการเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคลาออกนั้น อาจารย์อุดมมองว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องเจอแบบนี้เหมือนกัน การเรียกร้องให้ลาออกก็เพื่อจะได้ไม่ต้องระแวงสงสัยกัน ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐไปหาเสียงให้ตัวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคไว้ก็จะไปบังคับไม่ได้

                รวมไปถึงกรณีที่พรรคจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคก็ไม่ได้มีข้อห้ามไว้เช่นกัน ดังนั้นหากพรรคพลังประชารัฐจะเสนอนายอุตตม หรือจะเสนอ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้า คสช. ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค ก็ไม่ได้มีข้อห้าม ไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องลาออกจากตำแหน่ง(นายกฯ)รัฐมนตรี หรือตำแหน่งคสช.ก่อน ซึ่งก็เหมือนกับหลังเลือกตั้งหากรัฐบาลจะเชิญรัฐมนตรีคนไหนกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก ก็ไม่มีข้อห้าม

                ชัดเจนในทุกประเด็น 

                หนึ่ง รัฐมนตรีโดยเฉพาะ 4 รัฐมนตรีที่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคจะไปสมัครส.ส.ไม่ได้ หากไม่ได้ลาออกจากรัฐมนตรีภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งต้องเป็นการลาออกแบบขาดไปเลย ไม่ใช่ลาออกแล้วกลับมาเป็นใหม่

                สอง รัฐมนตรีสามารถเป็นสมาชิกพรรคได้โดยไม่ต้องลาออก

                สาม พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อรัฐมนตรีเป็นนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องลาออก

                นี่คือข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ รอดูอีกครั้งหลังมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง !!

=================

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ