คอลัมนิสต์

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ อาจไม่ได้หมายถึงการชิงหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่หมายถึงการชิง "พรรคประชาธิปัตย์" !!

 

                จู่ๆ ก็มีข่าวว่า “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก จะลุกขึ้นมาชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

                ตามข่าวบอกว่า ณ ตอนนี้มีอย่างน้อย 3 คนที่จะมาชิงตำแหน่ง คนแรกคือหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้ว 13 ปี คนที่สอง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองหัวหน้าพรรคที่มีข่าวมาเป็นระยะๆ ว่าจะขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป และคนสุดท้าย “หมอวรงค์” ที่โผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

 

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

 

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

 

                สำหรับสองชื่อแรก ไม่น่าแปลกใจ แต่ชื่อที่สาม ใครเห็นข่าวนี้คง “เลิกคิ้ว” !!

                แวบแรกที่เห็นชื่อ “หมอวรงค์” คอการเมืองก็คงมีคำถามไม่ต่างกัน มาได้ยังไง? ไม่มีบารมี? ใครหนุน? แต่เมื่อเจาะเข้าไปหารายละเอียด อาจจะต้องบอกว่า “มองข้ามไม่ได้” เหมือนกัน

                โดยเฉพาะเมื่อมีชื่อ “แบ็กอัพ” ตัวหลักคือ “ถาวร เสนเนียม” เพราะทำให้มีการต่อจิ๊กซอว์ทะลุไปถึง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ทันที

                ถึงแม้ว่าวันนี้ “สุเทพ” ไม่ได้อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แถมไปตั้งพรรคใหม่แล้ว คือ “รวมพลังประชาชาติไทย” แต่ก็ชัดเจนว่า สุเทพยังมีอิทธิพลแผ่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์

                หากถามว่า ไม่ได้อยู่พรรคแล้ว ทำไมสุเทพยังจะต้องมาเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์อีก ?

                ก็ต้องไม่ลืมจุดยืนของสุเทพในการสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งสูตรที่ “บิ๊กตู่” จะกลับมาได้จะต้องมีพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย ขณะที่จุดยืนของ “อภิสิทธิ์” ดูเหมือนจะไม่เป็นมิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ นัก

 

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

(อ่านต่อ...แฉ "สุเทพ" ตั้งพรรคหนุน "บิ๊กตู่")

 

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

(อ่านต่อ..."มาร์ค"ไล่ส่งใครหนุน"บิ๊กตู่"อย่าอยู่ปชป.)

 

                การพยายามสนับสนุนคนที่มีจุดยืน “พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์” มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งจุดยืนของ “หมอวรงค์” ที่ผ่านมาก็สอบผ่านในเรื่องนี้

                อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็น “หมอวรงค์” ถ้าเป็นสุเทพหนุนทำไมไม่เป็นคนอื่น ?

                โดยเฉพาะ ทำไมไม่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับสุเทพ ทำไมไม่เป็น “ถาวร” ซะเอง ทำไมไม่เป็น “วิทยา แก้วภราดัย” หรือ ทำไมไม่เป็น “จุติ ไกรฤกษ์” ที่ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคอยู่

                หรือ ทำไมไม่เป็น “กรณ์ จาติกวณิช” ซึ่งโพรไฟล์ใช้ได้ ชื่อเสียงโอเค

 

เอาจริง? "หมอวรงค์" ชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์

 

                อย่างไรก็ตาม กรณีไม่เป็น “กรณ์” อาจจะพอเข้าใจได้ เพราะมีข้อมูลว่าความสัมพันธ์ของกรณ์ กับสุเทพ ไม่ใคร่ราบรื่นนัก

                ฝั่งหนุน “หมอวรงค์” พยายามบอกว่า ที่เป็นหมอวรงค์ เพราะจะได้ภาพ “คนรุ่นใหม่” ที่มีผลงานชิ้นโบแดงคือการจับเรื่องโครงการจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จนส่งผลให้อดีตนายกฯ หญิงต้องหนีไปต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีก 2 คน รวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้าคุก

                คนหนุนหมอวงรค์ ยังหาญกล้าบอกด้วยว่า จุดแข็งของหมอวรงค์ คือ “ไม่เหมือนอภิสิทธิ์” โดยบอกว่า สิ่งที่อภิสิทธิ์เคยถูกโจมตี จะมาใช้กับหมอวรงค์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “ไม่ติดดิน” หรือ “ดีแต่พูด”

                อย่างไรก็ตาม ฝั่งที่หนุนอภิสิทธิ์ ย้อนว่า “แล้วไง...แล้วสิ่งที่เป็นจุดแข็งของอภิสิทธิ์ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต จะเป็นจุดอ่อนของหมอวรงค์หรือไม่”

                สำหรับ "หมอวรงค์" เข้าสู่การเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2548 นับถึงช่วงเลือกหัวหน้าพรรค เขาก็จะมีประสบการณ์ทางการเมืองประมาณ 13 ปี ซึ่งฝ่ายนี้บอกว่า ก็เท่ากับตอนที่อภิสิทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรคเหมือนกัน 

                ยังไม่ทันเริ่มเกม ก็แลเห็นถึงความร้อนระอุที่จะเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว

                ย้อนกลับไปที่แคนดิเดตคนอื่น...

                “อภิสิทธิ์” นั้น จะลงสมัครป้องกันตำแหน่งแน่นอน โดย “แบ็กอัพ” คนสำคัญยังคงเป็น “ชวน หลีกภัย” ซึ่งตราบใดที่ “ชวน” ยังหนุน “อภิสิทธิ์” ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

                ส่วน “จุรินทร์” นั้น ก็มีการยืนยันว่าจะลงชิงตำแหน่งแน่นอน ถึงแม้ว่าจากเดิมคาดว่า จะมาเมื่ออภิสิทธิ์วางมือแล้วเท่านั้น

                ถามว่า ในเมื่อ “จุรินทร์” ก็เป็น “ลูกรัก” คนหนึ่งของ “ชวน หลีกภัย” แล้วจะส่งออกมาแข่งกันทำไม ?

                ก็อาจจะต้องบอกว่า การแข่งขันบางครั้งก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ “ชัยชนะ” เท่านั้น

                ส่วน “ผู้ชิงตำแหน่ง” รายอื่นจะมีใครอีกบ้าง คงต้องรอให้ถึงเวลาก่อน อาจจะมีเปิดตัวออกมาอีก โดยเฉพาะ “กรณ์ จาติกวณิช” ก็น่าจะเข้ามาเป็นคู่ชิงด้วย

                เวลาที่ต้องรอก็คือการแก้ไข “ข้อบังคับพรรค” ใหม่ ซึ่งรวมถึงกติกาในการเลือกหัวหน้าพรรคด้วย

                สำหรับกติกาในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไว้แล้วว่าจะเปลี่ยนใหม่ให้ “สมาชิกทั่วประเทศ” ซึ่งตอนนี้มีอยู่หลักแสนมาลงคะแนนเลือก จากเดิมเป็นสิทธิของกรรมการบริหารพรรค อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี และประธานสาขาพรรค ซึ่งมีการมองกันว่า “สุเทพ” น่าจะเชี่ยวชาญเกมนี้มากกว่า

                ทั้งนี้ การแก้ไขข้อบังคับพรรคนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการออกคำสั่งมาตรา 44 คลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมได้ก่อน โดยคำสั่งมาตรา 44 นี้ จะออกมาหลังจากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งตามกำหนดคือไม่เกินช่วงกลางเดือนกันยายนนี้

                รอเวลาดูการทำศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงการชิงหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่หมายถึงการชิงพรรคประชาธิปัตย์ !!

 

==================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ