คอลัมนิสต์

พลิกปูม"คดีฆ่าชิงมือถือ"ประหารชีวิต(จริง) ในรอบเกือบ 9 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

18 มิ.ย.61 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์อีกครั้ง ที่ต้องจารึกว่า ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิต(จริง) หลังจากห่างหายมานานเกือบ 9 ปี

         18 มิถุนายน 2561 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์ อีกครั้ง ที่ต้องจดจารึกว่า ได้มีการดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย“ธีรศักดิ์”อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ หลังจากไม่มีการประหารชีวิต(จริง) มานานเป็นเวลาเกือบ 9 ปี เรียกความสนใจจากคนในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมาก

          การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศที่ใช้บังคับอยู่ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย

          สำหรับคดีนี้ที่มีการฉีดยาพิษประหารชีวิตนักโทษ คือ นายธีรศักดิ์ นั้น เขาเป็นนักโทษผู้ก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ที่อุกอาจสะเทือนขวัญ โดย “ฎีกาตก” ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ในห้วงเวลาดังกล่าวมีวันหยุดราชการหลายวัน อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางศาสนาและเป็นช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน กรมราชทัณฑ์จึงยังไม่ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษรายนี้ในทันที โดยกฎหมายให้เวลาประหารชีวิตภายใน 60 วัน หลัง “ฎีกาตก”

          สำหรับคนร้ายรายนี้ ขณะก่อเหตุมีอายุ 19 ปี ได้ใช้อาวุธมีดกระหน่ำแทงใส่ นักเรียนชายชั้น ม.5 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง อายุ 17 ปี โดยสภาพศพถูกแทงพรุนทั่วร่างกาย จำนวน 24 แผล เสียชีวิตภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 (เขาแปะช้อย) ต.ทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง ก่อนหลบหนีคนร้ายยังได้ล้วงเอากระเป๋าสตางค์ และโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไปด้วย

    พลิกปูม\"คดีฆ่าชิงมือถือ\"ประหารชีวิต(จริง) ในรอบเกือบ 9 ปี

          ซึ่งปมสังหารโหดดังกล่าว เกิดจากความหึงหวงและมึนเมาสุราอย่างหนัก โดยนายธีรศักดิ์ กับเพื่อน รวมจำนวน 2 คน ใช้อาวุธมีดปลายแหลมวิ่งไล่แทงผู้ตายมาจากหน้าโรงเรียนบูรณะรำลึก ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ประมาณ 200 เมตร ก่อนที่ผู้ตายจะวิ่งหนีตายเข้าไปภายในสวนสาธารณะดังกล่าว โดยระหว่างนั้น แฟนสาวของผู้ตาย ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.5 ด้วยกัน พยายามเข้ามาห้ามปราม พร้อมทั้งบอกให้กลุ่มชายวัยรุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นแฟนเก่า หยุดทำร้ายผู้ตาย แต่ชายวัยรุ่นทั้งสองไม่ฟังเสียง กลับรุมแทงผู้ตายจนล้มลงจมกองเลือด

           ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

         สำหรับผู้ต้องหาคู่คดีของนายธีรศักดิ์หลังก่อเหตุได้หลบหนีความผิด แต่ยังไปก่อเหตุฆ่าคนตายในคดีอื่นอีก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

        ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็น

        1.การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย โดยยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546

         2.การฉีดสารพิษ จำนวน 6 ราย โดยฉีดสารพิษครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งหลังสุด(ก่อนประหารนักโทษรายนี้) คือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 และนายธีรศักดิ์ เป็นนักโทษรายที่ 7 ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ

        สำหรับการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต

        ปัจจุบันนักโทษประหารของไทย มีจำนวน 520 ราย เป็นนักโทษประหารที่คดีเด็ดขาดแล้ว 195 ราย แบ่งเป็นคดียาเสพติด 81 ราย และคดีทั่วไป 114 ราย เป็นนักโทษชาย 176 ราย นักโทษหญิง 19 ราย ส่วนนักโทษประหารที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกามีจำนวน 325 ราย

      พลิกปูม\"คดีฆ่าชิงมือถือ\"ประหารชีวิต(จริง) ในรอบเกือบ 9 ปี

        ทั้งนี้ กฎหมายอาญาของไทยมีถึง 63 ฐานความผิด ที่กำหนดให้มีโทษประหารชีวิต

         และหากเปรียบค่าใช้จ่ายของรัฐในการประหารชีวิต ระหว่างการใช้ปืนยิงให้ตายในอดีตกับการฉีดสารพิษให้ตายในปัจจุบัน พบว่า การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ มีค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้ปืนยิง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

       การประหารชีวิตด้วยปืน

      - เงินรางวัลตอบแทนแก่เพชฌฆาตต่อนักโทษ 1 คน จำนวน 4,500 บาท (ทั้งนี้เงินรางวัลเพชฌฆาตส่วนหนึ่ง นำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย)

      - ค่ากระสุนปืนขนาด 9 มม. นัดละ 40 บาท ใช้กระสุนปืนประมาณ 10 นัด ค่าใช้จ่ายประมาณ 400 บาท

      รวมการประหารชีวิตด้วยปืน เป็นเงินประมาณ 4,900 บาท

       การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ

       - เงินรางวัลตอบแทนแก่เพชฌฆาตต่อนักโทษ 1 คน จำนวน 10,000 บาท (ทั้งนี้ เงินรางวัลเพชฌฆาตส่วนหนึ่ง นำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย)

       - ค่าสารพิษ และอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,364.95 บาท

        รวมการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ เป็นเงินประมาณ 12,364.95 บาท

         พลิกปูม\"คดีฆ่าชิงมือถือ\"ประหารชีวิต(จริง) ในรอบเกือบ 9 ปี

        สำหรับอุปกรณ์และสารพิษที่ใช้ในการฉีดสารพิษ มีดังนี้

        - Sodium Pentothal (ยานอนหลับ) ยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 5 กรัม ในสารละลาย 50 ซีซี หรือ Propofol ชนิดยาอันตราย ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณไม่ต่ำกว่า 200 มก. ใช้จำนวน 5 หลอด

       - Pancuronium Bromide ชนิดยาคลายกล้ามเนื้อ ยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 50 ซีซี (100 มก.) ใช้จำนวน 25 หลอด

       - Potassium Chloride ชนิดยาทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้น เป็นยาควบคุมพิเศษ ประเภทยาใช้ภายใน ปริมาณที่ใช้ไม่ต่ำกว่า 50 ซีซี (75 กรัม) ใช้จำนวน 3 หลอด

       - สายน้ำเกลือพร้อมถุงน้ำเกลือ รวมเข็มฉีดยา

        - EKG MONITER

        สำหรับโทษประหารชีวิตนั้น ประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาร์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

        ปัจจุบันมี 141 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยการประหารชีวิต ทั้งนี้ ในจำนวน 141 ประเทศ แบ่งเป็น 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท, 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป และ 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ขณะที่ยังมีอีก 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต

           แนวคิดของกลุ่มรณรงค์เลิกโทษประหารชีวิต

         วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตระหนักว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน นักโทษประหารส่วนใหญ่เป็นคนจนด้อยโอกาส จึงไม่มีเงินจ้างทนายที่มีฝีมือมาแก้ต่างคดีให้แก่ตนเอง ขณะที่ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมในทุกคดี ดังนั้น จึงอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ หากตัดสินประหารไปแล้วย่อมไม่สามารถหาชีวิตมาทดแทนได้ นอกจากนี้การประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้จริง และไม่ช่วยทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิดได้จริง เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การลงโทษด้วยการประหารชีวิตจะสามารถลดสถิติการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้

           สำหรับการที่ประเทศไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตต่อเนื่องเกือบ 9 ปี ถือว่าเข้าใกล้กำหนดที่ไทยจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่มีการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ถือเป็นข้อบังคับตายตัว แม้จะไม่มีการประหารชีวิตต่อเนื่องตลอด 10 ปี แต่ตราบใดที่ไทยยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิตก็สามารถนำโทษประหารชีวิตมาบังคับใช้จริงได้ตลอด

           และการลงโทษประหารชีวิตครั้งนี้อาจเป็นคำตอบให้แก่กลุ่มผู้เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารรับรู้และรับทราบว่า โทษประหารยังจำเป็นกับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการยับยั้งอาชญากรรม แม้จะไม่มีผลการวิจัยใดยืนยันว่าโทษประหารจะทำให้คนร้ายหวาดกลัว แต่ขณะเดียวกันการลงโทษด้วยมาตรการอื่นก็ยังไม่ช่วยให้จำนวนอาชญากรรมและจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลดลงเช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ