คอลัมนิสต์

เช็คลิสต์ "นายกฯ" หลังเลือกตั้ง !! ใคร (ไม่) มีโอกาส ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คอลัมน์ขยายปมร้อน) เช็คลิสต์ "นายกฯ" หลังเลือกตั้ง : ใคร (ไม่) มีโอกาส ?? : โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

               หากไม่มี “เงื่อนไขใหม่” ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า คืออีกประมาณ 10 เดือนจะมีการเลือกตั้ง

               ถึงวันนี้ถ้าให้ฟันธงว่าจะมีการเลือกตั้งตามนั้นจริงหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าเชื่อตามนั้น เพราะถ้า คสช.จะหาเหตุมา “ยื้อ” การเลือกตั้งออกไปได้อีกก็คงไม่ง่าย แค่ที่ผ่านมาก็กระทบต่อความน่าเชื่อถือของ คสช.หนักแล้ว

 

             ระหว่างทาง 10 เดือนนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คงไม่สามารถคาดเดาได้ทั้งหมด แต่ทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การคุมเกมอย่างเบ็ดเสร็จของฝ่าย คสช. ซึ่งเป้าหมายยังคงเดิมคือ “เพื่อไม่ให้เสียของ” ซึ่งถึงวันนี้คงไม่ต้องอธิบายความหมายของคำนี้กันอีกแล้ว

               วันนี้เราจะมาลองมามองข้ามช็อต คิดเล่นๆ ถึงคนที่จะมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ใครบ้างที่มีโอกาส??

               คนแรก ไม่แคล้วต้องบอกว่า คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา" ที่วันนี้แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมกลับสู่ตำแหน่งอีกครั้ง เพียงแต่ยังพูดอ้อมแอ้ม เพราะยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาแบบไหน 

               "บิ๊กตู่” เองก็คงรู้ดีว่า การที่เขาจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งต้องใช้พละกำลังมหาศาลเพียงใด และหนทางที่จะมาได้ต้องเป็น "ขั้นสอง" หลังจากพรรคการเมืองตกลงเลือกนายกฯในบัญชีัใน "ขั้นแรก" ไม่ได้

               สำหรับช่องทางที่ “บิ๊กตู่” จะหวนสู่ตึกไทยคู่ฟ้าอีกครั้ง ตามช่องทางปกติตอนนี้เหลือแค่ 2 ทาง คือ นายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งจะถูกเรียกได้ว่าเป็น “นายกฯคนใน” กับ นายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง ที่จะถูกเรียกว่า “นายกฯคนนอก”

               ส่วนที่ยังมีบางคนยุให้ลุงตู่ตั้งพรรคและลงสู่สนามการเลือกตั้งนั้น บอกเลยว่า “มันเลยจุดนั้นมาแล้ว” เพราะตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุชัดหากคนใน ครม. หรือ คสช. หรือ สนช. จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับจากรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญบังคับใช้เมื่อ 6 เมษายน ปีที่แล้ว

               ทั้งสองช่องทางที่มีอยู่ ดูแล้วน่าจะตัดทางแรกไปได้แล้ว เพราะการเดินเกมของฝ่าย คสช.ด้วย “พลังดูด” ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็เป็นลักษณะของการ “ดูดมาเป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่ดูดมาเป็นพรรคเดียวกัน”

               เมื่อมีพันธมิตรอยู่หลายพรรค หากใส่ชื่อ “บิ๊กตู่” ไปเป็นนายกฯพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็จะสร้างความกินแหนงแคลงใจระหว่างการหาเสียงไปเปล่าๆ

               เหลือช่องทางที่สอง คือ เป็นนายกฯนอกบัญชี หากจะมาได้ก็ต้องใช้เสียงสมาชิกสองสภา คือ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 500 คน (จากทั้งหมด 700 คน)

               ต้นทุนมีอยู่แล้วที่ “พรรค ส.ว.” ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เขียนกติกาเอื้อไว้ให้แล้วว่ากระบวนการได้มาของ ส.ว.ชุดแรก 200 คนมาจาก คสช.เป็นคนเลือกในขั้นสุดท้าย ส่วนอีก 50 คนให้ทดลองกระบวนการเลือกตามกติกาใหม่ ที่ตอนนี้พยายามใส่กติกาเพิ่มเข้าไปเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการ “ควบคุม” กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.อีก 50 คน

               ถ้าคิดรวมแบบ “เหมาเข่ง” ก็อาจจะนับได้ว่าทั้ง 250 ส.ว. จะยกมือสนับสนุน “ลุงตู่” แต่ถ้าจะมีแตกไปจริงๆ ก็น่าจะไม่กี่คน

               ส่วนที่เหลือ จะมาจากพรรคของ (พรรคพวก) “รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งก็ยังไม่ชัดว่าจะได้มาเป็นกอบเป็นกำหรือไม่ เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้น ตอนนี้ฝั่งนี้จะใช้เกม “ดูดมาเป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่ดูดมาเป็นพรรคเดียวกัน” และพรรคอื่นๆ ที่คงจะมาแบบ “เบี้ยหัวแตก”

               หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มาร่วมด้วย “บิ๊กตู่” ก็คงจะกลับมาไม่ได้

               ดังนั้นถ้าถามว่าโอกาสของ “บิ๊กตู่” ที่จะหวนกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งมีมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องบอกว่า หากเป็นไปแบบไม่ใช้ “อำนาจพิเศษ” ก็ “ไม่ชัวร์”

               คนต่อมาที่มีโอกาสมาเป็นนายกฯได้ ก็คือ คนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนี้ชื่อ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังมาแรงที่สุด 

               โดยเฉพาะเมื่อเห็น “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายคนโตของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ใครๆก็รู้ว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ไปร่วมงานวันเกิดคุณหญิงหน่อยเมื่อวันก่อน (อ่านต่อ..."เจ๊หน่อย" มาแน่ ถือธงนำ "เพื่อไทย" )

เช็คลิสต์ \"นายกฯ\" หลังเลือกตั้ง !! ใคร (ไม่) มีโอกาส ??

 

                รวมถึงล่าสุดที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ โพสต์ภาพถ่ายกับคุณหญิงสุดารัตน์และสามี ในงานๆหนึ่งลงอินสตาแกรมของเธอ

 

เช็คลิสต์ \"นายกฯ\" หลังเลือกตั้ง !! ใคร (ไม่) มีโอกาส ??

               วันนี้พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าจำนวน ส.ส.ไว้ที่ครึ่งหนึ่ง คือ 250 คน 

               แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าได้ 250 แล้วจะชัวร์ เพราะการเลือกนายกฯครั้งแรกนี้ ฝั่ง คสช.วางกติกาสกัดพรรคเพื่อไทยไว้อีกด่านคือ ให้ ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกนายกฯได้ คนที่จะได้เป็นนายกฯจึงต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 375 เสียง

               ดังนั้นอำนาจต่อรองในเกมตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะไปอยู่ที่่พรรคอันดับ 2-3 และพรรคอันดับรองๆลงไป ที่แน่นอนน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

               นั่นหมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองมากที่สุดในเกมชิงอำนาจหลังเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงคนที่มีโอกาสมาเป็นนายกฯคนต่อไปด้วย

               แต่ถ้าเป็นสูตรเพื่อไทยบวกประชาธิปัตย์ คนเป็นนายกฯจะไม่ใช่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเพื่อไทย แต่น่าจะไปที่ “ชวน หลีกภัย” ตามที่มีการวิเคราะห์กันก่อนหน้านี้ 

               และบอกได้เลยว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ โอกาสที่ “อภิสิทธิ์” จะมาเป็นนายกฯ แทบจะเป็น "ศูนย์" เพราะทางเดียวที่ “เดอะมาร์ค" จะเป็นนายกฯได้ คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1

               แต่ถ้าเพื่อไทยเกิดชนะมาแบบถล่มทลาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่เพื่อไทยจะเลือกเจรจาต่อรองด้วย อาจจะเป็นพรรครองๆลงมา เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ซึ่ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็หวังนั่งตำแหน่งนายกฯอยู่เช่นกัน รวมถึง  “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ ก็อาจจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง แต่ก็ต้องหมายถึงพรรคเพื่อไทยพร้อมยกเก้าอี้นายกฯให้ และพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นยินยอม 

               ทั้งหมดนี้เป็นการมองแคนดิเดตนายกฯตามเกมปกติ แต่ถ้ามีการใช้ “อำนาจพิเศษ” ก็เป็นอีกเรื่อง !!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ