คอลัมนิสต์

กว่าจะเข้าถึง'สะพานบุญ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อการเข้าถึงพระสงฆ์ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะกับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นปัจจัย และเหล่านี้ทำให้ "สะพานบุญ" ข้ามไปไม่ถึงหลักธรรมหรือไม่

         พระสงฆ์เปรียบดั่ง ‘สะพานบุญ’ เชื่อมชาวพุทธให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาผ่านคำสอน การเทศนา รวมทั้งวัตรปฏิบัติต่าง ๆ
          แต่ก็ไม่ใช่ชาวพุทธทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงพระสงฆ์ทุกรูปได้เสมอเหมือนกัน ด้วยสังคมของพระที่ปกครองโดยสมณศักดิ์ แบ่งตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช พระราชาคณะชั้นสามัญ พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี โท เอก พิเศษ พระครูฐานานุกรม และพระครูประทวนสมณศักดิ์

         อีกส่วนที่สำคัญคือ การที่พระปฏิบัติธรรมเป็นปกติ เมื่อมองในมุมของทางโลกแล้ว ดูน่าเลื่อมใส ศรัทธา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความน่าเคารพ จนมีผู้หลักผู้ใหญ่ ในบ้านเมืองทุกวงการ ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ เข้าหาพระหวังใช้จุดตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางโลก

         ชาวพุทธส่วนหนึ่งเข้าใจไปว่า สมณศักดิ์เป็นสะพานบุญต่างระดับกัน อีกส่วนมองว่า เป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าในอนาคต  
แต่ไม่ว่าจะมองแบบใดก็ตาม ต่างต้องมี ‘ต้นทุน’ สูง เพื่อแลกกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่จะนำเขาไต่บันไดสู่สวงสวรรค์

 กว่าจะเข้าถึง'สะพานบุญ'

กว่าจะฝากตัวเป็นศิษย์

       การเข้าหาพระที่มีสมณศักดิ์ หรือที่ทางโลกเรียกว่า ‘พระมีตำแหน่ง’ เพื่อนิมนต์มาประกอบพิธีจะแตกต่างจากพระทั่วไป สะท้อนจากคำบอกเล่าของ พระครูพิมล ปุญาธร เจ้าอาวาสวัดลาดพร้าว ที่กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “การจะเข้าหาพระระดับผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก เพราะท่านเป็นพระดังและมีระดับ”
        พระครูพิมลยังแนะนำว่า ถ้าจะเข้าถึงตัวท่านเพื่อความรู้ทางพุทธศาสนา โยมไปค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตจะรวดเร็วกว่า
    สอดคล้องกับ สมบุญ ก๊กฟ้า หรือ ‘ลุงผู้ใหญ่’ ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากว่า 30 ปี ซึ่งอ้างตัวว่า เป็นลูกศิษย์พระพระพรหมโมลี ยศพระราชาคณะเจ้าคณะรอง วัดปากน้ำ ได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการเข้าพบพระสมณศักดิ์สูงว่า พระระดับผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายบอกเองว่า สะดวกให้เข้าพบที่ไหนและเมื่อไร ไม่มีการนัดหมายให้เข้าไปก่อนล่วงหน้า
    “คนธรรมดาที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับพระระดับผู้ใหญ่แล้วต้องการเข้าไปกราบนั้นเป็นเรื่องยาก แค่ได้ยินเสียง ยังได้ยินแต่เสียงลูกศิษย์ทางโทรศัพท์” สมบุญ บอก  
    เขายังอธิบายขั้นตอนการเข้าถึงหรือการฝากฝังตัวเป็นลูกศิษย์ว่า ต้องติดต่อกับลูกศิษย์ของพระระดับผู้ใหญ่อย่างเป็นขั้นตอน เมื่อติดต่อจนได้เข้าพบ ในครั้งแรกก็ต้องมีลูกศิษย์ผู้นั้นอยู่ด้วยตลอดจนเสร็จสิ้นการสนทนา และการเข้าพบครั้งต่อไปลูกศิษย์ก็ต้องนั่งอยู่ด้วย แต่ถ้าพระท่านอยากพูดคุยเป็นการส่วนตัวก็สามารถทำได้ตามประสงค์

 

ผู้น้อยตามผู้ใหญ่ หนทางคลุกวงใน
    เมื่อเข้าหาและฝากตัวเป็นศิษย์เรียบร้อยแล้ว ศิษย์เองก็จะมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นโยมอุปัฏฐากพระชั้นผู้ใหญ่
    ดังที่ พ.ต.ท.ไพรัช รัตนะนาม รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรทุ่งเบญจา  จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า นายซึ่งเป็นอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเคยเข้าพบพระชั้นสมเด็จองค์ก่อน   ซึ่งการที่นายมีตำแหน่งสูงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อทำให้คนเล็ก ๆ อย่างตนเข้าพบพระระดับสูงได้ง่ายขึ้น
     “นายไปทำบุญกับพระสมเด็จบ่อย ๆ และชอบมาเปรยให้ฟังว่า ดีใจที่ได้เข้าหา คอยปรนนิบัติ นายยังเคยเชิญชวนผมไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับท่านด้วย” พ.ต.ท.ไพรัช เล่าด้วยความภูมิใจ
หมั่นปรนนิบัติ ใบเบิกทางอนาคต
    ด้าน จ.ส.ท.ฉัตรจตุฤทธิ์ แววนำ หรือที่แวดวงพระเครื่องรู้จักในนาม ‘โนช นครชัยศรี’ บอกว่า การเข้าถึงพระสมณศักดิ์สูงจนกระทั่งได้เป็นลูกศิษย์ จะต้องคอยรับใช้และปรนนิบัติพระรูปนั้นอย่างสม่ำเสมอ หากท่านเรียกหาเมื่อใดก็ต้องเข้าพบ หรือแม้แต่ขอให้ช่วยเรื่องใดก็ต้องไปทำ ส่วนนี้พระจะได้ประโยชน์จากลูกศิษย์ ขณะที่ลูกศิษย์จะได้ประโยชน์ในเรื่องการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีขึ้น
    “ยังรวมถึงการฝากฝังเข้าทำงาน หากมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์ พระชั้นผู้ใหญ่ก็จะช่วยฝากฝังให้ ซึ่งคำพูดที่ใช้บ่อยคือ อาตมาเห็นสมควรว่า โยมควรจะเอาเขาไปใช้งาน” โนช นครชัยศรี เล่า

เข้าถึงสะพานบุญ ต้นทุนต้องสูง
    โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ต้องการนิมนต์พระสงฆ์มาทำกิจต่าง ๆ จะติดต่อกับวัดนั้น ๆ โดยตรง หรือนิมนต์พระด้วยวาจา
    แต่ถ้าเป็นพระที่มีสมณศักดิ์ การติดต่อก็จะต้องผ่านทางลูกศิษย์เช่นเดียวกับการขอเข้าไปกราบ
    ไม่ว่าจะเป็นพระระดับใด ผู้นิมนต์จะมีธรรมเนียมการใส่ซองถวายพระ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าต้องใส่ซองเท่าไรจึงจะเหมาะสม หากเป็นพระที่มีสมณศักดิ์สูง จำนวนเงินต้องสูงตามด้วยหรือไม่ หรือแม้กระทั่งหากใส่ซองด้วยจำนวนเงินสูงแล้ว ถือเป็นการอันควรในการนิมนต์ครั้งต่อไปหรือไม่
    แหล่งข่าวรายหนึ่งย่านภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ขอออกนาม เผยว่า จะใส่ซองไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เพื่อนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะมาประกอบพิธี เพราะเชื่อว่าเป็นพระระดับผู้ใหญ่ที่มียศสูง จึงจำเป็นต้องใส่ซองให้สมเกียรติ
    “เข้าใจว่า การใส่ซองเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งกำหนดไว้อยู่แล้วว่าพระยศเล็กจะได้เงินในซองน้อยกว่าพระยศใหญ่ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระยศใหญ่จะได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท” เขาระบุ
    ส่วนมุมมองจากฝ่ายพระสงฆ์อย่าง พระสุธี สีลวิสุทโธ พระวัดใหม่พัฒนาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่เห็นแย้งกับธรรมเนียมดังกล่าว และยังเล่าประสบการณ์ของเพื่อนพระซึ่งเป็นพระระดับทั่วไปในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า พิธีกรชมว่าเทศน์ได้ดี แต่เมื่อเจ้าภาพทราบว่าเป็นพระซึ่งไม่มียศตำแหน่งใด ๆ ก็ดึงเงินออกจากซองครึ่งหนึ่งทันที เพราะเห็นว่าเป็นพระลูกวัดธรรมดาไม่จำเป็นต้องใส่มาก
“การใส่เงินตามยศพระเกิดขึ้นจริง แต่ด้วยเหตุนี้พระบางรูปจึงต้องแสวงหายศเพื่อเพิ่มค่าซอง” พระสุธี เล่า
สมณศักดิ์ รากฐานระบบอุปถัมภ์?
    ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าธรรมเนียมการเข้าถึงและการใส่ซองกิจนิมนต์มีที่มาอย่างไร แต่ สุรพศ ทวีศักดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน เผยว่า สมัยพระบรมไตรโลกนาถมีกฎหมายให้พระมหากษัตริย์แบ่งปันผลประโยชน์ที่ดินให้กับพระตามลำดับสมณศักดิ์ พระที่มีชั้นพัดยศสูงกว่าจะได้ที่ดินมากกว่าพระที่ไม่มีสมณศักดิ์ ซึ่งธรรมเนียมนี้ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
    “แต่ทุกวันนี้กลับหนักขึ้น เมื่อมีงานใหญ่ ๆ นิมนต์พระสมณศักดิ์สูง ๆ ก็มีการกำหนดอัตราค่าตัวถวาย ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ผิด” นักวิชาการด้านศาสนา ให้ความเห็น
    “ระบบสมณศักดิ์เป็นปัจจัยให้เข้าไม่ถึงตัวพระยศสูง ทั้งนี้ถ้ายกเลิกก็จะสามารถเปลี่ยนวิสัยของพระไม่ให้ไต่ขึ้นไปข้างบนได้ ตัวชาวพุทธเองก็สามารถทำบุญได้กับพระทุกรูปโดยไม่ต้องกังวลเรื่องยศหรือตำแหน่ง”  สุรพศ ให้ข้อคิด
    ด้าน คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า แต่เดิมคนไม่ได้คิดว่าต้องใส่เท่าไร จึงเชื่อว่าเกิดจากแรงศรัทธา แต่ปัจจุบันชาวบ้านคงรู้สึกว่าถ้าเป็นระดับหัวหน้า เจ้าอาวาส หรือพระครูที่มีสมณศักดิ์สูง ก็ควรจะใส่ซองถวายให้มากกว่าพระทั่วไป เป็นการทำสืบต่อกันมาโดยการพูดคุยกันเองในหมู่ชาวบ้าน
    อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา กล่าวต่อว่า อีกด้านหนึ่งพระก็ขวนขวายเพื่อหวังก้าวหน้าในสมณศักดิ์ เกิดการนิมนต์ผู้บังคับบัญชา เช่น พระครูที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์ก็มักจะนิมนต์เจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะแขวงมาฉลอง และพระรูปดังกล่าวก็จะถวายเงินให้พระผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากตามสมณศักดิ์เหล่านั้น เกิดธรรมเนียมว่า ถ้าเป็นเจ้าคุณต้องเท่านี้ พระครูต้องเท่านั้น
“ส่วนหนึ่งเกิดจากชาวบ้านเอง และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากพระด้วย” คมกฤช สรุป
    คมกฤช อธิบายด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้ยังสะท้อนรากฐานของระบบอุปถัมภ์ กล่าวคือ ในแง่ของสมณะสูงแปลว่าได้ใกล้ชิดกับอำนาจมากขึ้น พระมีสมณะศักดิ์เวลาคนทำบุญก็ถือว่าเป็นหน้าเป็นตากับตัวเอง
    “เป็นเรื่องความสัมพันธ์ เวลานิมนต์พระที่มียศสูงไปจังหวัดไหนผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมารับ หรือแม้แต่ทหาร ตำรวจ หากคุณรู้จักท่านเจ้าคุณองค์นั้นองค์นี้ มันก็จะเกิดความสะดวกอะไรหลาย ๆ เช่น เรื่องการฝากฝังงาน เป็นต้น” คมกฤช ทิ้งท้าย
รับมีฝากงานแต่ได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง
    ในมุมพระมีตำแหน่ง เช่น พระมหามานะ ฐิตเมธี เจ้าหน้าที่กองเลขาวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ตัวแทนพระราชโมลี (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9) ปฏิเสธว่า พระผู้ใหญ่ไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่อ้าง แต่เพราะท่านมีหน้าที่จำนวนมากต้องปฏิบัติ อย่างเจ้าอาวาสวัดหงรัตนารามฯ ซึ่งเป็นพระที่นักการเมืองพยายามเข้าหาเป็นจำนวนมาก ทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ จึงป้องกันตนเอง โดยจะไม่ค่อยรับแขก แต่จะรับเป็นงานสาธารณะ
    “สำหรับการฝากฝังเข้าทำงาน ยอมรับว่า ถ้าอยากให้ท่านช่วยเรื่องตำแหน่ง ท่านก็ช่วยแต่จะได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อสำเร็จความต้องการ คนเหล่านั้นก็จะมาช่วยพัฒนาวัด และเข้ามาศรัทธาท่านมากขึ้น เพราะอาจารย์ทำได้จริง” พระมหามานะ เผย  
    ส่วนในเรื่องเงินซองพระที่มากขึ้นตามยศ พระมหามานะ บอกเพียงว่า ญาติโยมอยากเห็นพระเป็นไปอย่างอดีตนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะบ้านเมืองพัฒนาขึ้น วัดก็มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าดูแลรักษาปรับปรุงวัด ต้องขอให้มองบริบทด้วย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า รู้จักกาละ สมัยต้องเปลี่ยนแปลง จะเจริญได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย
พระมหามานะ ยังเห็นว่า สมณศักดิ์เป็นตัวบอกความดีของพระสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นกำลังใจ
ยันสมณศักดิ์มีคุณมากกว่าโทษ
    “สมณศักดิ์จึงเรียกว่า “ยศ” ไม่ได้เรียกว่า “อำนาจ” และประโยชน์ที่ได้จากสมณศักดิ์จะทำให้พระสงฆ์ตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น” ตัวแทนพระราชโมลี ยืนยัน  
    ความเห็นของเจ้าหน้าที่กองเลขาวัดหงส์รัตนารามฯ เป็นไปในทางเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุไว้ในโครงการวิจัย “สมณศักดิ์ : ข้อดีและปัญหา” เมื่อปี 2556 ว่า โดยตัวสมณศักดิ์นั้นเป็นสิ่งดีงามเพราะเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
    อย่างไรก็ดี งานวิจัยยังเสนอว่า สมณศักดิ์มีทั้งข้อดีและปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรงถึงขนาดควรยกเลิกสมณศักดิ์ และหากจะยกเลิกก็เป็นไปได้ยาก เพราะสมณศักดิ์ผูกโยงกับระบบการปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งระบบการปกครองบ้านเมือง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยและเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นในสภาพการณ์ที่ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบสมณศักดิ์ พระสงฆ์ รัฐ และประชาชนจึงควรลดค่านิยมฟุ้งเฟ้อ และเผยแพร่ความรู้ให้เข้าใจอย่างถูกต้องก็จะช่วยลดปัญหาของสมณศักดิ์ได้
---- 

ทดลองขอเข้าไปกราบพระผู้ใหญ่    
ว่ากันว่าจะเข้าถึงพระชั้นผู้ใหญ่นั้นต้องมีความอุตสาหะ เพราะพระที่มียศทางสมณศักดิ์สูง ๆ นั้นมีลำดับขั้นในการเข้าไป ไม่สามารถติดต่อครั้งหนึ่งแล้วสามารถเข้าไปกราบได้เลย 
จากการพูดคุยกับลูกศิษย์พระที่มียศทางสมณศักดิ์พระราชาคณะเจ้าคณะรอง อย่าง สมบุญ ก๊กฟ้า ยืนยันว่า ต้องติดต่อกับคนรู้จักก่อน เช่น ลูกศิษย์ เมื่อทำความรู้จักผ่านการพูดคุยหลายครั้ง จนคุ้นเคยแล้ว ลูกศิษย์ก็จะติดต่อให้ แต่จะได้เข้าพบหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่งเพราะบางครั้งท่านติดกิจธุระ 
“อีกวิธี คือ ท่านจะลงพื้นที่วันไหน ที่ใด เวลาเมื่อไหร่ แล้วแต่ท่านกำหนด อย่างนี้ลูกศิษย์สามารถโทรไปหาคนที่อยากเข้าพบและพาเข้าไปได้” สมบุญ เฉลยว่า เหตุใดต้องผูกมิตรกับลูกศิษย์
ขณะที่ จ.ส.ท.ฉัตรจตุฤทธิ์ แววนำ ลูกศิษย์หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว บอกว่า การเข้าถึงพระดังนั้นจะยากตรงที่จะผ่านลูกศิษย์ไปอย่างไร เพราะส่วนมากจะมีลูกศิษย์วัดเป็นตัวกัน 
“วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ไปหาท่านที่วัด แต่จะได้เข้าพบหรือไม่ได้เข้าพบจะอยู่ที่ตัวท่านเองว่าจะสะดวกไหมหรือติดกิจธุระหรือไม่”
ผู้เขียนทดลองทำตามวิธีหลัง โดยติดต่อตรงเข้าหาวัดหงรัตนาราม เพื่อขอเข้าพบและสัมภาษณ์พระราชโมลี เจ้าอาวาสวัด แต่ก็ได้พูดคุยกับพระเจ้าหน้าที่สำนักเรียนแทน คือ พระมหามานะ ฐิตเมธี ซึ่งท่านระบุ “เจ้าอาวาสไม่สะดวกเนื่องจากติดภารกิจจำนวนมาก และได้มอบหมายให้พูดคุยกับอาตมาแทน”
พระมหามานะ ย้ำว่า การเข้าพบพระที่มีสมณศักดิ์สูง ๆ แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับงานของท่าน และจริตของท่านด้วย ตัวท่านเองไม่ได้หยิ่ง แต่รับภารกิจไว้มาก จึงมอบหน้าที่ให้พระเลขานุการในด้านนั้น ๆ ทำแทน 
“ไม่ใช่ว่าเป็นใหญ่แล้วหลงลืม ทว่าการเข้าหาก็ต้องดูสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งการเป็นพระเถระผู้ใหญ่จะมีคนเข้าหามาก จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองด้วยส่วนหนึ่ง แต่แนะนำว่า การจะเข้าพบ ให้ไปงานสาธารณะจะดีกว่า” พระมหามานะ ชี้แจง
    ด้วยประสบการณ์ข้างต้นที่ได้เข้าไปสังเกตและสัมผัส พบว่า การเข้าพบพระชั้นผู้ใหญ่นั้นต่างมีลำดับขั้นในการเข้าถึง และจนถึง ณ ขณะนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่ได้เข้าพบกับพระที่มียศทางสมณศักดิ์สูง ๆ จึงเป็นคำถามชวนคิดต่อว่า ชาวพุทธสามารถเข้าถึงพระสงฆ์ ได้ทุกรูปจริงหรือไม่ ?

---------------

น.ส.รชา เหลืองบริสุทธิ์

 

รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกทางหนังสือพิมพ์ "ลูกศิลป์" หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัตินักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร  ปีที่7ฉบับที่1 มกราคม2561

ติดตาม

เปิด "ซอง" ถวายพระ รูปละเท่าไหร่ ?
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ