คอลัมนิสต์

 เก็บค่าน้ำ !!?? เปิดปมกังขา“ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ” (ชมคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 (ชมคลิป) เปิดปมกังขา“ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ” มุ่งรายใหญ่ไม่แตะ(เกษตรกร)รายย่อย

 

               ชมคลิป ไขข้อข้องใจเก็บค่าน้ำ !!?? เปิดปมกังขา 'ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ' โดยสุรัตน์ อัตตะ ผู้สื่อข่าวสายเกษตร-เศรษฐกิจ และ สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ บก.คมชัดลึกออนไลน์

 

              กลายเป็นกระแสวิพากษ์ชั่วข้ามคืน หลังอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ "วรศาสน์ อภัยพงษ์" ออกมาแถลงข่าวการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ….โดยในรายละเอียดจะมีการเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร จนสร้างความหวั่นวิตกแก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันอย่างทั่วหน้า จนถึงขั้นต้องรวมพลมาตบเท้าเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้ทบทวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แม้ว่าในถ้อยแถลงจะระบุชัดว่าจะเก็บค่าใช้น้ำเฉพาะการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่เกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน

 เก็บค่าน้ำ !!?? เปิดปมกังขา“ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ” (ชมคลิป)


      ล่าสุดเมื่อวานนี้ (2 ต.ค.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์กรณีหลายฝ่ายแสดงความกังวลในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่ารัฐบาลไม่มีความประสงค์จะไปเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรรายย่อย วันนี้กฎหมายยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการที่มีพล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญิติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานและนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ก็ออกมาพูดในทำนองเดียวกัน เช่นเดียวกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ออกมายืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการเก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย แต่คนที่ใช้มากอาจต้องรับผิดชอบแน่ จากเดิมที่ไม่ต้องรับผิดชอบเลยแต่จะไปรวมถึงชาวนานั้นคงไม่ใช่ ซึ่งคงต้องดูว่าจะทำอย่างไรในการชี้แจงประชาชนอย่างเป็นทางการจะได้ไม่เกิดความหวาดกลัวหรือวิตกกังวล 
 วันเดียวกัน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... แถลงที่รัฐสภาว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกกฎหมายฉบับนี้ในเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเก็บภาษี แต่เป็นเพียงเก็บค่าใช้น้ำเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากกมธ.ยังเห็นว่ามีปัญหาที่จะต้องกลับไปทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบและต้องแบ่งประเภทการใช้น้ำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ผู้ใช้น้ำรายย่อย
    “พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับนี้จะใช้บังคับในเรื่องการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทานเท่านั้น เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย โดยจะไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทาน ซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับกำกับอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.ชลประทานหลวง 2485 พ.ร.บ.น้ำบาดาล และพ.ร.บ.การประปา”
      ทั้งนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ ยืนยันด้วยว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย โดยจะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งในรายละเอียดเรื่องการแบ่งเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่ จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงอีกครั้งและขณะนี้ได้ให้กรมทรัพยากรน้ำไปจัดทำหลักเกณฑ์เรื่องการกำหนดประเภทเกษตรกร เพราะเดิมกฎกระทรวงที่กรมทรัพยากรน้ำเสนอมาแบ่งประเภทเกษตรกรโดยกำหนดจากจำนวนไร่และจำนวนสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว ซึ่งกมธ.เห็นว่าเป็นรายละเอียดที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างเพียงพอ
     ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คนเดิมยังย้ำด้วยว่าจากเดิมที่มีข่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านชั้นรับหลักการมาแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ จึงยังไม่ได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กมธ.ก็ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ในการออกไปรับฟังความเห็นจากประชานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้รับฟังความเห็นแล้ว 29 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่เห็นด้วยในการไม่ให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย
            “ในวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ ก็จะไปรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ จ.สงขลา ดังนั้นคาดกว่ากฎหมายฉบับนี้จะเสร็จในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นจะต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอีก 27 ฉบับ ดังนั้นคาดว่าจะต้องมีเวลาอีกพอสมควรกว่ากฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์” พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวย้ำ

 

 เก็บค่าน้ำ !!?? เปิดปมกังขา“ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ” (ชมคลิป)


    ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานกล่าวชี้แจงในประเด็นเดียวกันนี้ โดยระบุว่าตามขั้นตอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระแรกเท่านั้น หลังสนช.รับหลักการก็มีการแต่งตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและอีกหลายหน่วยงาน โดยตนเองอยู่ในฐานะตัวแทนกรมชลประทาน ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขณะนี้มีการพิจารณาผ่านไปแล้ว 95 มาตราจากทั้งหมด 100 มาตรา ซึ่งทั้ง 95 มาตราที่ผ่านการพิจารณา มีบางมาตรการที่กรรมาธิการแปะไว้ก่อน แล้วค่อยนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  โดยเฉพาะมาตราหลักๆ เช่น มาตรา 39 ที่ระบุไว้ว่ามีการเก็บค่าน้ำที่มีการแบ่งประเภทของการใช้น้ำออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน 2.การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น และ 3.ประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้ปริมาณน้ำมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมอย่างกว้างขวาง
          “ส่วนที่ 2 การใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ทีี่เก็บค่าน้ำตอนนี้ยังไม่ระบุว่าจะเก็บเท่าไหร่ อันนี้คือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมาธิการได้พูดเอาไว้ เพราะคีย์เวิร์ดอยู่ที่การพาณิชย์ กรรมาธิการไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงอีกครั้งหนึ่ง  ส่วนการใช้น้ำกิจการขนาดใหญ่ซึ่งก็มีการนำไปออกกฎกระทรวงเช่นกัน เมื่อพิจารณาวาระแรกเสร็จก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ในวาระนี้ก็จะมีการเสนอแปรญัตติอีก ก่อนจะเข้าสู่วาระที่ 3 และลงมติเห็นชอบ จากนั้นสนช.จึงเสนอนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงปรมาภิไธยต่อไป ซึ่งกว่าจะถึงตรงนี้ยังมีอีกหลายชั้นหลายขั้นตอน”
          ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้ยกร่าง ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าเก็บค่าน้ำเท่านั้นเท่านี้ อันนั้นเป็นร่างเดิมที่เสนอเข้ามาครั้งแรก ซึ่งกรรมาธิการยังไม่พิจารณาแนวทางการเก็บค่าน้ำตามที่เสนอเข้ามาแต่อย่างใด สำหรับพื้นที่เขตชลประทานนั้น ขณะนี้พ.ร.บ.ชลประทานหลวง 2485 บังคับใช้อยู่แล้ว ซึ่งก็มีมาตรา 5 และมาตรา 8 กำหนดไว้ชัดว่าสามรรถเก็บค่าชลประทานได้ไม่เกินลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ในบริเวณที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และต้องประกาศเป็นกฎกระทรวงเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีการเก็บอยู่แล้วบางส่วน แต่ถ้าไม่ประกาศก็ไม่เก็บ 
           “สำหรับพื้นที่การเกษตรก็มีกำหนดไว้เหมือนกันว่าเก็บค่าชลประทานนะไม่ใช่ค่าน้ำ ไร่ละไม่เกิน 5 บาท แต่ก็ต้องออกประกาศเป็นกฎกระทรวงด้วยเช่นกันว่าจะเก็บหรือไม่เก็บ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยออกเป็นกฎกระทรวงเลยว่าจะเก็บ ฉะนั้นภาคเกษตรในเขตพื้นที่ชลประทานจะไม่มีการเก็บใดๆ ทั้งสิ้น เกษตรกรจึงไม่ต้องวิตกกังวล เพราะน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รัฐจะต้องดูแลอยู่แล้ว ที่สำคัญพ.ร.บฉบับนี้จะไม่ซ้อนทับกับพ.ร.บ.ชลประทานหลวง โดยให้ยึดพ.ร.บ.ชลประทานหลวงเป็นหลักในการบังคับใช้" รักษาการแทนอธิบดีกรมชลประทานกล่าวย้ำ
ใครบ้างจ่ายค่าใช้น้ำจากร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ....
            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกระแสเรื่องการเก็บภาษีน้ำตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเมื่อไปเปิดร่างกฎหมายดังกล่าวจะพบเกี่ยวกับเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมในการใช้นำ และการแบ่งประเภทของผู้ใช้น้ำ โดยในมาตรา 39 ได้แบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย
            ประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้ปริมาณน้ำมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้การกำหนดลักษณะ หรือรายละเอียดแต่ละประเภทให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
             นอกจากนี้ในมาตรา 41 ระบุว่า การใช้น้ำประเภทที่ 2 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่ การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง และมาตรา 42 การใช้น้ำประเภทที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มาตรา 46 รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้งานประเภทที่สอง และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้งานประเภทที่สาม ไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ
           ทั้งนี้ท้ายร่างพระราชบัญญัติมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังนี้ คือ ค่าคำขอ 100 บาท ค่าใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และค่าใบอนุญาตใช้งานประเภทที่ 3 ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท โดยสรุปคือ การใช้น้ำที่ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคือ การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพในครัวเรือน การอุปโภคบริโภค การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนการใช้น้ำที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคือ การใช้น้ำประเภททที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นไปเพื่อการพาณิชย์และใช้ปริมาณมาก ทั้งนี้ สำหรับประเภทที่สอง ต้องเสียค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และประเภทที่สาม เสียค่าธรรมเนียม 50,000 บาท
       อย่างไรก็ตามการกำหนดขอบเขต หรือนิยามว่าการใช้น้ำแบบไหน หรือใครเข้าขอบเขตไหน ก็ต้องดูตามกฎกระทรวงอีกครั้ง
              

        เรื่องที่เกี่ยวข้อง

        เปิด ร่างกฎหมาย "น้ำ" ใครต้องจ่ายบ้าง ?
          
           
         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ