คอลัมนิสต์

ธุรกิจหุ่นยนต์“AI”น่ากลัวหรือน่าพิศวาส..

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธุรกิจหุ่นยนต์“AI”น่ากลัวหรือน่าพิศวาส..

 

          ปี 2017 กระแส “หุ่นยนต์เอไอ” (AI) สะเทือนไปทุกวงการ...ฝันหวานกันว่า “เอไอ” จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้สังคมโลกมนุษย์...ทั้งวงการเทคโนโลยีไฮเทค ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรม โรงงาน เศรษฐกิจ เกษตร สิ่งแวดล้อม กีฬา ฯลฯ

          หลายคนยังไม่รู้จักหรืองงๆ ว่า “เอไอ” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หมายถึงอะไรกันแน่ ?

          อธิบายแบบสั้นๆ ได้ว่า “เอไอ” เปรียบเสมือน “สมองกล” หรือการประดิษฐ์ปัญญาใส่ในวัตถุอะไรก็ได้ เพื่อให้สามารถคิดคำนวณหรือทำงานแทนสมองมนุษย์ บางครั้งก็อธิบายว่า เป็นการสร้างความฉลาดให้แก่สิ่งไม่มีชีวิต

          เพราะฉะนั้น “เอไอ” อาจมีหน้าตาเหมือนหุ่นยนต์ หรือเป็นก้อนอะไหล่คอมพิวเตอร์ ลักษณะแท่ง เส้นหรือเป็นแค่โปรแกรมที่มีแต่เสียงออกมาก็ได้ อยู่ที่ผู้คิดค้นว่าอยากสร้างให้รูปร่างหน้าตาออกมาอย่างไร หรือเอาไปใส่ในอุปกรณ์อะไร

          วินาทีนี้มนุษย์เดินทางมาสู่จุด “ต้องอยู่ร่วมกับเอไออย่างใกล้ชิด” เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เอไอมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เปรียบเทียบกับสิบปีที่มีเพียงภาคอุตสาหกรรมบางอย่างเท่านั้น เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์ โรงงานผลิตรถยนต์ แผนที่ดิจิทัล ฯลฯ

 

ธุรกิจหุ่นยนต์“AI”น่ากลัวหรือน่าพิศวาส..

 

          วันนี้ “เอไอ” เข้ามาชี้เป็นชี้ตายให้พวกเรามากขึ้น เช่น บริษัทรับทำประกันชีวิต เริ่มใช้มันสมอง “เอไอ” ช่วยคำนวณว่า ลูกค้าคนนี้ควรมีกรมธรรม์ประกันภัยแบบไหน วงเงินมากน้อยเพียงไร หรืออยากทำประกันรถยนต์ ลูกค้าคนนี้มีอัตราความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากแค่ไหน “เอไอ” คิดวางแผนคำนวณอัตราเบี้ยประกันและโปรโมชั่นให้ว่าต้องจ่ายแพงหรือถูก !

          เมื่อมีคนยื่นเอกสารขอกู้เงินธนาคาร นายแบงก์กดปุ่มถาม “เอไอ” ควรอนุมัติให้กู้หรือไม่ ประวัติด้านการเงินที่ผ่านมาเป็นอย่างไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไรดี ? หากปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือเงินด่วนดีไหม มีโอกาสเป็นหนี้สูญหรือไม่ ? จากนี้ไปสิทธิในการอนุมัติเงินกู้ขึ้นอยู่กับ “เอไอ” ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ “ดวง+ความใกล้ชิดนายแบงก์” อีกต่อไป หรือใครได้เงินกู้มาแล้ว อยากเอาไปซื้อ “เอไอ” มาช่วยวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้นหรือกองทุนต่างๆ อาจดีกว่าเสี่ยงซื้อแบบมั่วซั่วแล้วขาดทุนเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ

          กลุ่มรักการท่องเที่ยวมี “เอไอ” ในโทรศัพท์มือถือช่วยแปลภาษาทั่วโลกให้ในเวลาไม่กี่วินาที หรือไปซื้อตั๋วนั่งดู “นักกีฬาเอไอ” แข่งขันหมากรุก หมากล้อม จนเอาชนะมนุษย์แชมป์โลกแบบชิลๆ สำหรับผู้พิการทางสายตาต่อไปนี้มี เอไอ เป็นเพื่อนคู่หูช่วยระบุวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตรอบตัวได้ว่าคืออะไรหรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือเป็นเพื่อนพูดคุยแก้เหงา...

          ระหว่างที่วิศวกรหุ่นยนต์ทั่วโลกกำลังหลงใหลพัฒนาสมองกล “เอไอ” โดยมีนักธุรกิจให้เงินสนับสนุนมหาศาลนั้น ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาวงการพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะต้องหยุดชะงัก หลังสื่อมวลชนรายงานข่าวตื่นเต้นเกี่ยวกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยี “เอไอ” ของเฟซบุ๊ก โดยพาดหัวข่าวว่า
เฟซบุ๊กตะลึง ! ตัดสินใจปิดระบบเอไอในศูนย์วิจัยหลังพบหุ่นยนต์เอไอ 2 ตัวพูดคุยกันด้วยภาษาที่มนุษย์ไม่รู้เรื่อง...

          หุ่นยนต์เอไอ 2 ตัวนี้ชื่อ “Bob” และ “Alice” พัฒนาจากโปรแกรมแชทบอต(Chatbot) หรือผู้ช่วยในการตอบคำถามต่างๆ แต่ปรากฏว่าระหว่างทดลองให้ฝึกเจรจาต่อรองในหัวข้อที่กำหนดให้นั้น พวกมันเริ่มพัฒนาภาษาพูดคุยของตัวเองไปได้เรื่อยๆ โดยที่มนุษย์ไม่เข้าใจความหมาย
เช่น 
          Bob : i can i i everything else . . . . . . . . . . . . . .
          Alice : balls have zero to me to me to me to me to me to me to me to me to
          Bob : you i everything else . . . . . . . . . . . . . .
          Alice : balls have a ball to me to me to me to me to me to me to

          หลังรายงานข่าวข้างต้นเผยแพร่ออกไปทั่วโลก แวดวงผู้สนใจเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มทันที
“กลุ่มเฝ้าระวัง” มองว่านี่คือสัญญาณเตือนภัยให้พวกหลงใหลในเทคโนโลยี ต้องมีกติกาหรือกฎหมายควบคุม เพราะอนาคตเอไออาจแปลงตนกลายเป็นสัตว์ประหลาด สร้างอันตรายให้โลกหรือเป็นภัยคุกคามแบบที่ไม่คาดฝันมาก่อน (เหมือนในหนังฮอลลีวู้ดนิยมสร้างหนังให้หุ่นยนต์แปลงร่างเป็นตัวร้ายวิ่งฆ่าคน แล้วมีพระเอกคิดค้นวิธีทำลายได้ในนาทีสุดท้ายก่อนหนังจบ)

          กลุ่มนี้แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกออก “กฎหมายควบคุมกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)” ก่อนพัฒนาเอไอไปจนทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์แบบไม่รู้ตัว รวมถึงการเตรียมแก้ปัญหาหุ่นยนต์เอไอแย่งงานมนุษย์

          เพราะธุรกิจหลายประเภทวางแผนเลิกจ้างคนงาน หวังตัดปัญหายุ่งยาก ยอมลงทุนซื้อเอไอหนึ่งตัว ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เถียง ไม่บ่น ไม่หยุด ไม่ลา ไม่โกง ไม่ต้องมีประกันสังคม ฯลฯ

 

ธุรกิจหุ่นยนต์“AI”น่ากลัวหรือน่าพิศวาส..

 

          ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกา(www.esa.doc.gov) คาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานคนขับรถรับจ้าง 15.5 ล้านคน กำลังจะได้รับผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยี “ยานพาหนะไร้คนขับ” หรือรถยนต์ที่วิ่งได้เอง โดยเฉพาะกลุ่มรถบรรทุก คนอาจตกงานไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากพิสูจน์มาแล้วว่า ต้นทุนถูกกว่า จากค่าจ้างคนขับไม่ต่ำกว่าปีละ 1.3 ล้านบาท จะเหลือเพียงปีละ 9 แสนบาท

          ขณะที่ “กลุ่มพิศวาสเอไอ” มองว่าพวกกลัวเอไอคือผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ตอนนี้มนุษย์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์แบบไม่รู้ตัวอยู่ทุกวัน เช่น แผนที่จราจรกูเกิล หุ่นยนต์ช่วยแพทย์ผ่าตัด ธุรกิจการเงินการธนาคาร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ

          เครื่องจักรสมองกลเหล่านี้มีประสิทธิภาพทำงานเหนือมนุษย์ ยิ่งแข่งขันพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งช่วยเพิ่มผลผลิตในโรงงาน เพิ่มความสะดวกสบาย มนุษย์ไม่ต้องทำงานสกปรกและเสี่ยงต่อชีวิต เช่น หุ่นยนต์แม่บ้าน เครื่องช่วยแปลภาษาต่างประเทศ ฯลฯ

          หรือจากตัวอย่างที่จำเป็นต้องใช้เอไอมาขับรถบรรทุกแทนโชเฟอร์ ก็เพราะในอเมริกามีคนเสียชีวิตหลายพันคนจากการขับรถโดยประมาท เฉพาะข้อมูลปี 2014 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนอเมริกาจากรถบรรทุกเกือบ 4 พันราย บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนราย การใช้เอไอขับแทน ช่วยลดความสูญเสียส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท

          ทั้ง 2 กลุ่มพยายามช่วงชิงการสนับสนุนจากมวลชนผ่านโลกโซเชียลมีเดีย...

          “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์(HCCRU) จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเนคเทค แสดงความเห็นว่า “เอไอ” เป็นสมองกลทำงานตามคำสั่งที่ป้อนใส่เข้าไป ส่วนสาเหตุที่หุ่นยนต์เอไอ 2 ตัวคุยกันแล้วกลายเป็นภาษาใหม่จนทำให้บางคนวิตกกังวลนั้น ส่วนตัวแล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหรือน่าเป็นห่วง

          “ปกติเอไอจะพัฒนาให้สามารถพูดคุยกับมนุษย์ได้ ต้องใส่ข้อมูลด้านภาษาจำนวนมหาศาลเข้าไป พร้อมตัวประมวลผลข้อมูล เช่น ใส่ภาษาอังกฤษเข้าไป เอไอก็พูดได้แต่ภาษาอังกฤษ ถ้าใส่ทุกภาษาในโลกเข้าไปเอไอจะพูดได้ทุกภาษา เอไอพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้เพราะเลือกใช้ข้อมูลภาษาที่มีอยู่ ถ้าใครคุ้นเคยกับมือถือไอโฟนอาจรู้จักโปรแกรมสิริ(siri) นั่นคือเอไอที่มีจุดประสงค์พูดคุยกับเจ้าของมือถือ”

          กรณีของ “Bob กับ Alice” ที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษแบบแปลกๆนั้น ดร.ชัยอธิบายว่า เป็นเพราะว่า ผู้ใส่คำสั่งตอนแรกใส่เป็น “แกรมมาภาษาอังกฤษ” จากนั้นทดลองเปลี่ยนคำสั่งให้คุยกันโดยไม่ต้องมีไวยากรณ์หรือแกรมมาภาษาใด เอไอเลยประมวลผลออกมาด้วยการพูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษแบบไม่มีแกรมมาเท่านั้นเอง เช่น

          "i i can i i i everything else,"
          “เอไอฝึกฝนเรียนรู้จากประสบการณ์ หมายถึงข้อมูลในอดีตที่ใส่เข้าไป เช่น อยากให้เอไอแยกระหว่างหมากับแมวได้ ต้องเอารูปหมากับแมวเป็นหมื่นๆ รูปใส่เข้าไป จนเอไอประมวลผลได้ว่าแมวกับหมาแตกต่างกันอย่างไร ตัวอย่างเอไอที่มนุษย์ต้องได้ใช้แน่นอน คือ รถไร้คนขับ ช่วงแรกอาจทำได้เฉพาะบางถนน บางสถานที่ หรือในเมืองเล็กเท่านั้น การพัฒนาเอไอคงมีต่อไปเรื่อยในหลายภาคส่วน เช่น การใช้เอไอมาแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง หรือแม้กระทั่งในวงการกีฬา”

          เมื่อถามถึง “อนาคตประเทศไทยกับธุรกิจหุ่นยนต์เอไอ”

          ดร.ชัยยอมรับว่า ระดับผู้บริหารองค์กรและผู้บริหารประเทศเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญ แต่ต้องพัฒนาอีกมากในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่อง “บิ๊กดาต้า” หรือข้อมูลของต่างๆ ที่อยากให้เอไอมาช่วย ที่ผ่านมาการจัดเก็บข้อมูลของไทยยังมีอยู่ค่อนข้างน้อยและการจัดเก็บยังไม่เป็นระบบมากนัก
เนื่องจากการผลิตหรือพัฒนาเอไอต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจำนวนมหาศาล เอไอสามารถทำงานต่างๆ หรือวิเคราะห์คาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้ ก็เพราะมีบิ๊กดาต้าใส่เข้าไป เช่น หุ่นยนต์เอไอที่โต้ตอบพูดคุยกับมนุษย์ได้ เพราะมีการใส่รูปแบบภาษาและตัวอย่างประโยคจำนวนมากมายเข้าไปเตรียมไว้เป็นคลังข้อมูลให้ประมวลผล ก่อนถอดรหัสสื่อสารออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออยากให้ช่วยคำนวณวิเคราะห์การตลาดของสินค้า ต้องมีข้อมูลกลุ่มผู้บริโภคใส่เข้าไป หรือหากอยากผลิตเอไอช่วยบอกแผนที่การเดินทาง ต้องใส่ชื่อถนนชื่อสถานที่ทั้งหมดเข้าไป

 

ธุรกิจหุ่นยนต์“AI”น่ากลัวหรือน่าพิศวาส..

 

          ดร.ชัย แสดงความคิดเห็นต่อว่า "อนาคตการผลิตและใช้เทคโนโลยีเอไอช่วยทำงานในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่น จองตั๋วเครื่องบิน สร้างบ้าน ฯลฯ แต่ยังบอกไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมที่ผลิตเอไอด้านใดจะเติบโตมากที่สุด เพราะอยู่ที่การทดลองใช้หลังผลิตออกมาแล้ว ถ้าผู้บริโภคชอบก็พัฒนาต่อ ถ้าไม่ถูกใจก็เลิกผลิต แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายรับเทคโนโลยีเอไอเข้ามา หรือซื้อมาใช้โดยไม่พยายามผลิตขึ้นเอง สุดท้ายบิ๊กดาต้า หรือข้อมูลสำคัญต่างๆ อาจถูกส่งต่อไปให้ต่างชาติโดยไม่รู้ตัว เพราะไปพึ่งพาเทคโนโลยีของใครก็ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดให้เขาไป ประเทศไทยต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเอไอของตัวเองด้วย"

          ด้าน ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) แสดงความเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีของมนุษย์ ที่จะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและรัฐบาลพยายามสนับสนุนให้พัฒนาเอไอของไทยให้มากกว่านี้

          “ยกตัวอย่างด้านเทคโนโลยีการแพทย์ เมื่อก่อนคนไข้ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เสร็จแล้ว ส่งผลตรวจให้แพทย์ช่วยวิเคราะห์ แต่ตอนนี้สามารถผลิตหุ่นยนต์เอไอมาช่วยตรวจและช่วยยืนยันผลเอกซเรย์ให้แม่นยำมากขึ้น เหมือนกับหมอมีผู้ช่วยสมองกล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ดีมากขึ้น หรือแม้แต่ในวงการเกษตรหรือวงการอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เอไอจะมาช่วยทำงานให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่บางคนอาจกลัวว่าเอไอจะทำให้คนตกงาน หรือมาแย่งงานคนทำ ส่วนตัวผมคิดว่าหุ่นยนต์เอไอน่าจะช่วยให้มนุษย์มีโอกาสทำงานที่สบายมากขึ้น หรือเอามาช่วยประยุกต์ใช้เพื่อให้ผลงานต่างๆ ดีขึ้นมากกว่า”

          ในวันนี้คงไม่อาจตัดสินได้ว่า “AI” น่ากลัวหรือน่าพิศวาส... แต่อนาคตประเทศไทยต้องเผชิญกับกระแสหุ่นยนต์สมองกลอย่างแน่นอน คำถามที่หลายคนเป็นห่วงคือ การผลิตและการนำเอไอมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น มีความระมัดระวังเรื่องไพรเวซี่หรือความเป็นส่วนตัวมากน้อยเพียงไร เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลผู้บริโภค การจดจำลายนิ้วมือ ใบหน้า เส้นผม จุดภูมิศาสตร์ความมั่นคงประเทศ ฯลฯ บิ๊กดาต้าเหล่านี้คือขุมทรัพย์ที่รัฐบาลต้องหาวิธีการปกป้องคุ้มครองให้มากที่สุด !?!
 
ทีมข่าวรายงานพิเศษ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ