คอลัมนิสต์

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาถึงตอนจบของ "หอสมุดซีรีส์" เราพาไปดู "ห้องสมุดประชาชน" ที่มีอยู่ทุกเขต ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายที่สุด วันนี้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพีอเข้าถึงประชาชนหรือไม่

          พื้นที่ กรุงเทพ หากไม่นับ"หอสมุดเมืองกรุงเทพมหาคร" ที่เพิ่งเปิดบริการอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่าน จะมีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านหนังสือ หรือ "ห้องสมุดประชาชน" กระจายอยู่กว่า 37 แห่งในพื้นที่ 50 เขตกทม.

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           ไล่ตั้งแต่ ห้องสมุดประชาชนแห่งแรก ที่ “สวนลุมพินี” ซึ่งเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2498,ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ,ห้องสมุดฯ เขตจตุจักร,ห้องสมุดฯ เขตคลองสาน,ห้องสมุดฯ มีนบุรี,ห้องสมุดฯ วัดสังข์กระจาย เขตบางกอกใหญ่,ห้องสมุดฯ วัดอนงคาราม เขตคลองสาน,ห้องสมุดฯ บึงกุ่ม เป็นต้น

           โดยแต่ละห้องสมุดฯ จะมีหนังสือเฉลี่ย หลักพันเล่ม ไล่จนถึง หลักหมื่นเล่ม ขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ห้องสมุด

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           อย่าง“ห้องสมุดฯ สวนลุมพินี” มีหนังสือบริการเต็มความจุที่ 40,000 เล่ม คอยให้บริการประชาชนทั้งที่เป็นสมาชิกและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เช้าไปจนถึงช่วงหัวค่ำ โดยภายในพื้นที่จัดแบ่งหนังสือและพื้นทีกิจกรรมเป็น 4 มุม ได้แก่ มุมหนังสือทั่วไป นวนิยาย เรื่องสั้น รวมไปถึงนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น,มุมห้องหนังสือและทำกิจกรรมสำหรับเด็ก,มุมอินเตอร์เน็ตและสืบค้น และ มุมหนังสือภาษาต่างประเทศเพื่อบริการชาวต่างชาติ

 

          จากข้อมูลของสมาชิกห้องสมุดฯ ในปี 2560 มีสมาชิก กว่า 17,000 คน สำหรับสถิติการยืมหนังสือพบยอดสูงสุด ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ คือ หนังสือนิยาย เรื่องสั้น รวมถึงนวนิยายหลากหลายรูปแบบ รองลงมา คือหนังสือแนวสุขภาพ เข้าครัว และ ตำราเรียน

   ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           ขณะที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.2515 ถือเป็นห้องสมุดประชาชนที่เก่าแก่รองจาก ห้องสมุดฯ ที่สวนลุมพินี ในพื้นที่ห้องสมุดฯ แบ่งพื้นที่ใช้สอย หลักๆ คือ ห้องอ่านหนังสือ ที่มีหนังสือหลากหลายประเภท , ห้องชมภาพยนตร์,ห้องกิจกรรมสำหรับเด็ก และ มุมบริการอินเตอร์เน็ต สำหรับหนังสือที่ให้บริการทั้งหมด มีประมาณ 25,000 เล่มครอบคลุมทุกหมวดสากล ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าใช้บริการ คือ วัยเรียน และวัยกลางคน

           สำหรับหนังสือส่วนใหญ่ที่จัดหาเข้าห้องสมุดของกทม. จะมาจาก 2 ทางหลักๆ คือ จัดซื้อตามวงเงินงบประมาณ ปีละ 2 ครั้ง และได้จากการบริจาคจากประชาชนทั่วไป

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

          แต่ภายใต้โลกยุคใหม่ ที่ถูกพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความเคลื่อนไหวภายโลก สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย เพียงปลายนิ้ว.. คำถามสำคัญที่ถูกโยนไปยัง “ห้องสมุดประชาชน” คือ จำเป็นต้องมีอยู่ หรือไม่?!

 

          จากการสอบถาม “บรรณารักษ์” ประจำในห้องสมุดฯ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ห้องสมุดฯ ยังมีความสำคัญและจำเป็นต้องมี เพราะห้องสมุดฯ เป็นสถานที่ที่บริการฟรีสำหรับคนทุกระดับ อีกทั้งประเด็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ใช่ว่า คนทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงที่เท่าเทียมกันได้

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

            “ห้องสมุดประชาชน ตามความหมายคือการให้บริการแก่ประชาชน ไม่ว่าเป็นวัยไหน เพศไหน อยู่ชนชั้นไหน พวกเขาต้องได้สิทธิอ่านหนังสือเท่าเทียมกัน แม้จะไม่มีเงินซื้อ แต่พวกเขาต้องเข้าถึงการเรียนรู้และค้นคว้าได้พอๆ กับคนที่มีฐานะทางการเงินดี เพราะเมื่อเขาได้อ่านหนังสือ พวกเขาย่อมมีโอกาสใช้ความรู้จากหนังสือไปพัฒนาตนเอง นำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่พลเมืองที่ดีของประเทศ” หนึ่งในบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดประชาชน กทม. แสดงความเห็นแบบไม่ขอออกนาม

  

          ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ด้วยผลพวงของการพัฒนาด้านการค้นข้อมูลข่าวสาร และ หนังสือลดต้นทุนผ่านการเลิกผลิต และใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อแชร์เรื่องราวมากกว่าอดีต ทำให้จำนวนผู้ใช้ห้องสมุดฯ กทม. มีเฉลี่ยวันละหลักร้อยคน แต่ในมุมผู้ใช้บริการต่างตอบรับว่า ดีเพราะเป็นจำนวนที่เหมาะสม ไม่แออัดเกินไป

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           แต่ตัวเลขดังกล่าว ได้สะท้อนถึงตัวเลขการอ่านหนังสือด้วยว่า “การอ่านของประชากรไทยยังอยู่ในระดับต่ำ!

 

          จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติ เรื่อง สำรวจการอ่านของประชากร ปี 2558 ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณเมื่อเดือนมีนาคม 2559 (ซึ่งสำนักงานสถิติ จะสำรวจข้อมูลการอ่านฯ 2ปีต่อหนึ่งครั้ง) พบเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ “การอ่านหนังสือของคนไทย” ติดอันดับรั้งท้าย คือสื่ออื่นที่มีอิทธิพลในชีวิต เช่น ทีวี รองลงมา คือ ความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ

 

           ตัวเลขที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ อีกอย่าง คือ สถติการยืมหนังสือในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดโรงเรียน หรือ ห้องสมุดประชาชน มีเพียง 12.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

   ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

          นอกจากนั้นยังข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอ่านประชาชน คือ ผลสำรวจช่วงวัย 6 ปี - 60ปีขึ้นไป มีสถิติการอ่าน 77.7 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 48.4 ล้านคน ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับสถิติปี 2556 ที่มียอดอ่าน 81.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนช่วงวัยขวบปีถึง 6 ปี พบข้อมูลที่สวนทาง คือ มียอดอ่าน 2.7 ล้านคน คิดเป็น 60.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มียอดอ่าน 58.9 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยที่เป็นจุดเปลี่ยนของยอดอ่านวัยเด็ก คือ ผู้ปกครองที่หันมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

   ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

          จากการสำรวจด้านสถิติแห่งชาติ ยืนยันเป็นตัวเลขและประมาณค่าจากการสุ่มสำรวจประชากร กว่า 55,000 คนบอกเช่นนั้น แล้วอะไร คือ รายละเอียดที่ห้องสมุดประชาชน ต้องมี!! เพื่อนำไปสู่จุดสมดุล ระหว่างอุดมการณ์ของวิชาชีพบรรณารักษ์ กับสภาพโลกตามความเป็นจริง

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           ในมุมมองของนักพัฒนาการศึกษาด้านเด็ก“สุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และผู้อำนวยการห้องสมุดดรุณบรรณาลัย” มองว่า โจทย์ ของ “มหานครแห่งการอ่าน” ที่ตอบสนองได้ คือ การปลูกฝังให้ประชาชนอ่านหนังสืออย่างเป็นวัฒนธรรม โดยขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานรัฐ ที่พัฒนาคู่กับการส่วนร่วมของชุมชน และประชาชน

  

          “มหานครแห่งการอ่าน ไม่ใช่เรื่องการสร้างอาคาร หรือ สถานที่เพื่อให้ได้ชื่อว่า ห้องสมุดเท่านั้น แต่การทำห้องสมุดต้องอยู่ภายใต้ความเชื่อว่า หนังสือคืออาหารสมอง ที่สามารถต่อยอดไปสู่คุณค่า ดังนั้นปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนที่สำคัญ คือ การคัดเลือกหนังสือที่ดีใส่ในห้องสมุดฯ"สุธาทิพ ระบุ

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

           กับอีกตัวอย่างหนึ่งที่“นักพัฒนาด้านเด็ก” ได้ทดลองทำแล้วประสบความสำเร็จ คือ โครงการบุ๊ค สตาร์ท หรือหนังสือเล่มแรก ของเด็กช่วงขวบถึง2ปี ที่ช่วยสานสัมพันธ์ครอบครัว ผ่านการอ่านหนังสือเด็กที่ผ่านการคัดเลือกอย่างดี ต่อยอดมาเป็น“ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เพื่อเด็กปฐมวัย” ตั้งอยู่ที่ชุมชนวัดม่วงแค ซอยเจริญกรุง 34 ภายใต้ความดูแลและร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก,สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ สถาบันราชานุกูล (กรมสุขภาพจิต) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นพื้นที่เสริมสร้างจิตนาการของเด็ก สร้างสัมพันธ์ของครอบครัว ผ่านกิจกรรมที่มีหนังสือเป็นส่วนเชื่อมโยง สำรับผลลัพท์ที่จะได้คือ การปลูกฝังความรักการอ่านของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย

   ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

          “ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2559 แต่ได้รับความสนใจจากครอบครัว กว่า 300 ครอบครัวมาสมัครเป็นสมาชิก ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า เด็กมีนิสัยรักการอ่านเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจน คือ เด็กมีสมาธิ ปรับพฤติกรรมจากเด็กขี้อาย กลายเป็นคนกล้าแสดงออก ความสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องพัฒนาเด็กช่วงนี้ เพื่อให้อีก 20 ปีข้างหน้า เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้และนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดี” นักพัฒนาด้านเด็ก ขยายความ

   ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

          ขณะที่มุมมองต่อประเด็นการมีอยู่ของห้องสมุดเมือง คือ การต่อยอดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต มีความสนุก สำหรับการเพิ่มจำนวนห้องสมุดประชาชน ที่มีมุมสำหรับการพัฒนาและเรียนรู้ของเด็กช่วงปฐมวัย “สุธาทิพ” เห็นความจำเป็นที่ต้องขยายสู่ชุมชน ทั้งในชนบท ในต่างจังหวัดต่างๆ ผ่านองค์กรท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลเอง ควรเน้นในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมต่อการออกไปทำหน้าที่ โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ เคยผลักดันการสร้างองค์ความรู้ให้นักศึกษา และครูปฐมวัยให้นำไปพัฒนาเด็ก แต่ภายใต้คณะกรรมการเด็กปฐมวัยชาติ ที่มี “นายกฯ” เป็นประธานกับนิ่งเฉย

  

           “ถือเป็นข้อกังวลส่วนหนึ่ง ที่ประเด็นการไม่ใส่ใจ นี้ อาจเชื่อมโยงไปสู่ความล้มเหลวของการสร้างมหานครแห่งการอ่านในฝัน ตามคำประกาศของรัฐบาลได้” นักพัฒนาเด็ก สะท้อนความเห็น

 

           จากสิ่งที่นำเสนอมา อาจเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นเสี้ยวหนึ่งว่า การมีอยู่ของ “ห้องสมุดประชาชน - หอสมุดเมือง - ห้องสมุดเด็ก          ปฐมวัย” หากจะใช้เป็นกลไกเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพได้ อาจต้องคิดให้ไกลกว่าปัจจุบัน.

 

คลิกอ่าน ตอนที่ 1 “หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ” จุดเปลี่ยนเพื่อ “มหานครแห่งการอ่าน”

คลิกอ่าน ตอนที่ 2  ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

-----------

ขนิษฐา เทพจร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ