คอลัมนิสต์

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พบกับซีรีส์หอสมุด ตอน 2 เราพาไปดู "หอสมุดแห่งชาติ" คลังความรู้แห่่งชาติ ไปดูว่าวันนี้คนยังใช้บริการอยู่หรือไม่ ลมหายใจยังหนักแน่นหรือ แผ่วเบาลง

         เมื่อพูดถึง พื้นที่การอ่าน ในรูปแบบของห้องสมุด หากจะไม่เอ่ยถึง “หอสมุดแห่งชาติ” คงไม่ได้

 

         เพราะหอสมุดแห่งชาติ นั้นถูกยกเป็นมรดกของประเทศ ด้วยภูมิหลังมียาวนาน ตั้งแต่การก่อตั้ง ปี2488ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระสมุด 3 แห่งคือ หอพุทธสาสนะสังคหะ หอพระมณเฑียรธรรม และหอพระสมุดวชิรญาณ เข้าด้วยกัน พร้อมพระราชทานนามว่าหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โดยที่ตั้งเดิม คือ "หอคองคอเดีย" หรือพื้นที่ศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน

 

         ด้วยกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลง จึงย้ายจากหอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ที่ท่าวาสุกรี หรือสถานที่ตั้งในปัจจุบัน ในปี 2509 อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หากนับอายุตั้งแต่ครั้งก่อตั้ง ในปีนี้ ของเดือนตุลาคม จะอายุเต็ม112ปี

 

         ดังนั้น หากจะยกให้“หอสมุดแห่งชาติ” เป็นตำนานการเรียนรู้ ที่แยกจากสถาบันการศึกษา ก็คงไม่ผิดมากนัก!

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         แต่ด้วยวาระของ “หอสมุดแห่งชาติ” ที่มีอยู่ ยอมรับว่าต้องฝ่ากระแสของเทคโนโลยียุคใหม่ที่พัฒนาไปแบบก้าวกระโดด จนทำให้ พื้นที่ของห้องสมุด ถูกใช้เพื่ออนุรักษ์ตำรา หนังสือ มากกว่าการเข้าใช้บริการ 

 

          ตามข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่บริการหอสมุดแห่งชาติ ยืนยันกับ “ทีมข่าวคมชัดลึก” ว่า ผู้ใช้บริการยังมีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มาก หรือน้อยไป หากเทียบพื้นที่อ่านหนังสือ ที่แต่ละชั้นมี50 -100ที่นั่ง สำหรับช่วงวัยที่ใช้บริการ ส่วนใหญ่คือ วัยนักเรียน นักศึกษา ที่ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อทำรายงาน รองลงมาคือ วัยเกษียณอายุที่มักใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ และประชาชนวัยทำงานที่ต้องการค้นคว้าต่อยอดทางธุรกิจผ่านผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่มีให้ค้นคว้าจำนวนมาก

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         โดยเสียงจากผู้ใช้บริการ“อิสสระ ณะเสน หัวหน้าแผนกสนับสนุนธุรกิจสาขา บริษัทดอยคำผลิตอาหาร จำกัด และนักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะบริหารธุกิจ (เอ็ม.บี.เอ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง”บอกเหตุผลที่ต้องมาหอสมุดแห่งชาติ เพราะต้องการผลงานวิจัยและข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อใช้อ้างอิงและต่อยอดการทำงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งหอสมุดแห่งชาติมีเอกสารวิจัย วิทยานิพนธ์จากทุกสถาบัน สำหรับเทคโนโลยีการสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่ตอบโจทย์การค้นหาที่ต้องการความละเอียดเชิงลึก ดังนั้นระบบออนไลน์ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงงานที่มีคุณภาพได้

 

          "ผมมาใช้บริการหอสมุด ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เมื่อ10ปีที่แล้ว พอกลับมาตอนนี้ยังรู้สึกดีๆ ด้วยบรรยากาศการค้นคว้า การหาข้อมูลความรู้ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งที่อยากเห็นการพัฒนา คือ ระบบการสืบค้นหนังสือที่ใช้เวลาไม่มาก เพราะระบบสืบค้นของที่นี่ ต้องเขียนเป็นคำเฉพาะ หากเทียบกับการค้นจากระบบอินเตอร์เน็ตสามารถค้นหาข้อมูลจากคำบางคำได้” อิสสระ ระบุ

          ในปัจจุบัน หอสมุดแห่งชาติ อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารหลักที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า ของพื้นที่หอสมุดแห่งชาติ ทำให้หนังสือที่มีจำนวนมาก ไม่สามารถย้ายมาบริการที่อาคารห้องสมุดชั่วคราวได้ทั้งหมดทำให้การเข้าถึงหนังสือตามความต้องการของผู้ใช้บริการมีข้อจำกัด

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         แต่ปัญหาดังกล่าว แก้ไขโดย นำหนังสือหมวดเดียวกัน ประเภทเดียวกันและเนื้อหาใกล้เคียงกันมาบริการทดแทนสำหรับการยืมหนังสือ “เพื่ออ่าน หรือค้นคว้า” ยังคงเป็นไปภายใต้ข้อกำหนด คือ ให้เจ้าหน้าที่บริการ จัดหาและหยิบเล่มที่ต้องการหรือเล่มที่ใกล้เคียงให้กับผู้ยืม โดยมีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแทนตัวเป็นหลักประกันการคืน

 

         สำหรับพื้นที่อ่านหนังสือ ห้ามถ่ายรูป แต่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ที่จะให้ถ่ายสำเนาหนังสือ รวมถึงถ่ายภาพหนังสือ โดยทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ผ่านการขออนุญาต ผ่านแบบฟอร์ม ที่ระบุวัตถุประสงค์นำไปใช้ให้ชัดเจน

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         ขณะที่พื้นที่ เพื่ออ่านหนังสือรายวัน เช่น หนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสาร วารสาร ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่สามารถจัดหา ให้บริการอย่างต่อเนื่อง และ ผู้ใช้บริการค่อนข้างพอใจ อย่าง “สุปราการ บูรณัน” อดีตครูวัย 75 ปี ระบุว่า ใช้บริการอ่านหนังสือในหอสมุดแห่งชาติ เกือบทุกวัน เพราะมีเวลาว่างส่วนใหญ่จะเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ ได้แก่ หนังสือกรุงเทพธุรกิจ, หนังสือโพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เพื่อติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสังคม รวมถึงข่าวสารที่เกี่ยวกับสุขภาพ

 

          “ผมใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ประมาณวันละ 2-3 ชั่วโมง นอกจากต้องการรู้ข่าวสารแล้ว ยังเป็นการฝึกและใช้สมองด้วย ผมอายุมากแล้ว การอ่านช่วยให้ผมไม่เป็นโรคสมองฝ่อหรือความจำเลอะเลือนเหมือนผู้สูงอายุวัยเดียวกัน” ลุงสุปราการ ระบุ

 

         เมื่อถามถึงมุมมองของคนภายนอก ที่มองว่า น้อยคนที่จะเข้าห้องสมุด เพราะเทคโนโลยีที่เข้าถึงความรู้ทุกๆ พื้นที่“อดีตครูวัยเกษียณ” ตอบว่า“คนที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่ผมรู้จัก เพราะเขามาทุกวัน มานั่งอ่านประจำ แม้ตอนนี้ดูเหมือนไม่มาก แต่จำนวนไม่เคยลดไปจากนี้ มีคนเข้าออกตลอด แต่หากอยากให้ดี หอสมุดฯ ควรเพิ่มพื้นที่ให้บริการคอมพิวพ์เตอร์ เพื่อให้คนวัยอย่างผมลองใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย”

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         ซึ่งประเด็นที่ “ครูวัยเกษียณ” เสนอนั้น ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก พอควร เพราะการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ ผ่านการเสนอของบประมาณประจำปีล่าสุด พบวงเงินด้านการพัฒนาเพียง 7 ล้านบาท แบ่งเป็น งบฯเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 5 ล้านบาทและงบฯจัดเก็บและอนุรักษ์หนังสือ วารสาร และหนังสือพิมพ์ จำนวน 2 ล้านบาท

 

         แม้“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม – วีระ โรจน์พจนรัตน์” จะมีนโยบายให้ หอสมุดแห่งชาติ กลไกขับเคลื่อนสังคมไทยสู่การเรียนรู้ และในปี2559 – 2569 ตั้งเป้า “หอสมุดแห่งชาติ” เป็นกลไกนำสังคมดิจิทัลไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา ผ่านร่างพระราชบัญญัติหอสมุดแห่งชาติ แต่สิ่งที่ยังขาดไป คือ หลักการพัฒนาคนที่เริ่มจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ วางอนาคตแห่งปัญญาไว้ที่ “เด็กช่วงวัยเยาว์”

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         จากประเด็นนั้นสะท้อนมาจาก “คุณแม่หน้าเด็ก-วิมลรัตน์ กุลทวีทรัพย์” วัย 38 ปี ว่า “ก่อนหน้านี้จะเข้าห้องสมุด เพื่อมาศึกษาข้อมูลเพื่อทำวิจัย และรายงานส่งอาจารย์ แต่พอเรียนจบแล้ว และมีลูกในวัยเรียนรู้ดูแล เป้าหมายที่มาห้องสมุด คือ หาหนังสือที่มีเนื้อหาเพื่อสอนลูกที่บ้าน แต่หนังสือที่ใช้เป็นคู่มือต่อการสร้างพัฒนาการของลูกน้อยยังมีไม่เยอะ แต่ทุกครั้งที่มาหอสมุดแห่งชาติ จะพาลูกชายคนโต น้องคูเป้- ด.ช. อานันทวิทย์ กุลทวีทรัพย์ วัย5 ขวบ มาด้วยเสมอ เพื่อมาอ่านหนังสือให้ฟัง สิ่งที่ได้คือการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านให้กับลูกชาย เวลาพาไปห้างสรรพสินค้าลูกจะไม่ร้องขอของเล่น แต่กลับขอให้ซื้อหนังสือเล่มที่ต้องการ”

 

         ข้อเสนอต่อประเด็นนี้ “วิมลรัตน์” ระบุว่า พื้นที่หอสมุดแห่งชาติควรมีโซนทำกิจกรรม หรือ มุมค้นคว้าที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เพื่อให้เขาเรียนรู้ และพัฒนาตามช่วงอายุ แม้จะไม่เท่าห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กที่เอกชนดำเนินการ แต่ควรมีมุม ในพื้นที่ของหอสมุดแห่งชาติ

ลมหายใจ ของ “หอสมุดแห่งชาติ”

         อย่างไรก็ดีในทิศทางของการพัฒนาห้องสมุด หรือ หอสมุด ให้เป็นกลไกของ “มหานครแห่งการอ่าน” บทบาทของห้องสมุดแห่งชาติ จึงยากยิ่งที่จะปฏิเสธ ดังนั้นการมีอยู่ของ “หอสมุดแห่งชาติ” หากเทียบเป็มลมหายใจ... วันที่ใกล้ครบ112ปี อาจเป็นลมหายใจที่แผ่วเบา และรอการเข้าถึงของประชาชน โดยไม่สนใจการเปิดรับสิ่งใหม่ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

 

          หาก หอสมุดแห่งชาติ ไม่ปรับสู่โลกสมัยใหม่ ... สักวันก็อาจเหลือเพียงชื่อว่า เป็นมรดกของชาติ ที่เข้าไม่ถึงเท่านั้นเอง

 

คลิกอ่าน #หอสมุดซีรีส์ ตอนที่ 1 “หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ” จุดเปลี่ยนเพื่อ “มหานครแห่งการอ่าน”  ที่นี่

 

คลิกอ่าน  #หอสมุดซีรีส์  ตอนที่ 3 ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”

(ติดตามตอนต่อไป:ห้องสมุดประชาชน เพื่อ “ใคร”)

-------

ขนิษฐา เทพจร 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ