คอลัมนิสต์

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด‘ทักษิณ’ขายหุ้นชินฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำพิพากษาศาลฎีกานักการเมืองในคดีทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติ จะเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ในการเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก

 

         จากกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา   ได้มีหยิบยกเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการจับเก็บภาษีกว่า 1 หมื่นล้านบาทเข้ารัฐให้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหลักการ ที่ตัวการต้องรับผิดชอบและผูกพันจากการกระทำของตัวแทน และโยงเกี่ยวกับอายุความ 10 ปี ซึ่งทำให้ยังสามารถเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 

        โดยกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อ  23 ม.ค. 2549 นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ของนายทักษิณ ชินวัตร นำหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริชฯ(Ample Rich Investment Limited) ซื่งมี‘ ทักษิณ ชินวัตร’เป็นผู้ก่อตั้งจำนวน 329.2 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 1 บาทนำมาขายต่อให้กองทุนเทมาเส็กในราคาหุ้นละ 49.25 บาทผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยส่วนต่างกำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นครั้งนั้นหุ้นละ 48.25 บาท ไม่มีการเก็บภาษี

         แต่กรมสรรพากร เห็นว่า กรณีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ มาจากบริษัทแอมเพิลริชฯ ในราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นการซื้อนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2549 และต้องยื่นแบบเสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 แต่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่นำเงินได้ส่วนนี้มายื่นแบบเสียภาษี

        30 ส.ค.2550 กรมสรรพากรได้ทำการประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับ โดยนายพานทองแท้ต้องชำระ 5,904.79 ล้านบาทและน.ส.พินทองทา ต้องชำระ 5,676.86 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ทั้งสองคนต้องชำระ11,581.65 ล้านบาทแต่นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาไม่เห็นด้วย จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ของกรมสรรพากรให้เพิกถอนการประเมินภาษีดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้บุคคลทั้งสองชำระค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรายเดือนตามที่เจ้าหน้าที่ประเมิน

         นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ

         29 ธันวาคม 2553 ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษา ว่า นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปฯ โดยเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทนเจ้าของหุ้นตัวจริง คือนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยยึดเอาตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาในคดี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งระบุว่าหุ้นชินคอร์ปฯเป็นของนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน และพิพากษายกฟ้อง ทำให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชนะคดีดังกล่าวและไม่ต้องจ่ายภาษี 

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว จะส่งผลในทางเป็นคุณแก่นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ในคดีภาษีดังกล่าวข้างต้น แต่ในทางกลับกัน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว กำลังจะกลับมาเป็นหลักฐานสำคัญให้รัฐบาล นำมาเรียกเก็บภาษีเอากับนายทักษิณ จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้วินิจฉัยไว้ว่า ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป ฯ ที่แท้จริงโดยให้คนอื่นถือแทน จึงถือว่านายทักษิณเป็นผู้มีรายได้จากการขายหุ้นดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีให้กับรัฐ

         เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯมัด‘ทักษิณ’ขายหุ้นชินฯ

         ดังนั้นจึงมาดูคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาในคดีที่ ให้ทรัพย์สินของ ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 46,373.ุ68 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน ว่ามีเนื้อหา ในประเด็นหุ้นชินคอร์ปฯที่ขายให้กับเทมาเส็ก ว่า เนื้อหามีอย่างไรบ้าง 

        ดดีดังกล่าว อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยมีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหา  และมีผู้คัดค้านรวมทั้งสิ้น 22 คน  โดย มีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นผู้คัดค้านที่ 1 นายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร เป็นผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้คัดค้านที่ 5  โดยคำพิพากษาดังกล่าวมีทั้งสิ้น 187 หน้า 

       ทั้งนี้คำพิพากษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ปในส่วนเกี่ยวกับแอมเพิลริช ให้กับเทมาเส็ก ตอนหนึ่งมีใจความว่า... คดีนี้ได้ความจากทางไต่สวนว่า  ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และ คุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 เป้นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด มาตั้งแต่ ปี 2526  หุ้นที่ ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1  ถืออยู่รวมกันมีจำนวนมากและเป็นสัดส่วนที่สูง ทั้งยังร่วมดำเนินกิจการด้วยกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดมา คุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ดูแลจัดการด้านการเงินและทรัพย์สินในช่วงเวลาที่ ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ก่อตั้งบริษัท แอมเพิลริช   และการขายหุ้นชินคอร์ปในส่วน ของทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาให้แก่ บริษัทแอมเพิลริช ก็ได้ความว่าคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่  1  เป็นผู้ออกเงินจ่ายค่าซื้อหุ้นให้แก่ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาแทนบริษัท แอมเพิลริช ไปก่อน จากนั้นทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา จึงนำเงินที่ได้รับดังกล่าวคืนให้แก่คุณหญิง พจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ในภายหลัง 

          เมื่อฟังได้ว่าเงินปันผลค่าหุ้นและเงินที่ได้จากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ป ให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของ ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นการได้มาโดยไม่ชอบเสียแล้ว  ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ผู้ถูกคัดค้านที่ 1 ย่อมไม่อาจอ้างได้ว่า เงินดังกล่าวเป็นสินสมรส หรือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันเพื่อรับการคุ้มครองสิทธิในส่วนของตนได้  ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เงินในส่วนของคุณหญิง พจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย

         ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา กับคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1  ถือหุ้นชินคอร์ป จำนวน 1,419.49 ล้านหุ้น  โดยให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 และบริษัท แอมเพิลริช ถือแทนหรือไม่

         คณะอนุกรรมการไต่สวน ของ คตส. ได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่าทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาคงถือหุ้นไว้ ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ แล้วสรุปความเห็นว่า เมื่อครั้งทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ยังถือหุ้นไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป โดยใช้ชื่อ  นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 และบริษัท แอมเพิลริช เป็นผู้ถือหุ้นแทน  ต่อมา 23 มกราคม  2549  ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมด 1,419.49  ล้านหุ้น ขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก 

         ส่วนที่ ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคัดค้านว่า นายทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่  นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 จนหมดสิ้น แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543  นั้น

        ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ทำให้เชื่อว่า  นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 , น.ส.พินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ไว้แทนนายทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1และรับเงินปันผลในหุ้นดังกล่าวและบริษัท ชินคอร์ป ไว้แทนทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ผู้คัดค้านที่ 1 

         องค์คณะผู้พิพากษา จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ทักษิณ ผู้ถูกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419.49 ล้านหุ้น ในระหว่างที่ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ