คอลัมนิสต์

"เปิดช่องโหว่"คดีโกงสอบ"-เสนอ"กม.พิเศษ"เอาผิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การทุจริตโกงสอบเข้ารับราชการหรือสถาบันศึกษา มักมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในขณะที่กฎหมายบ้านเราก็ยังมี"ช่องโหว่" ในการที่จะเอาผิดกับผู้กระทำ


         

         การทุจริตโกงสอบเข้าสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ารับราชการหรือสถาบันศึกษาต่างๆ มักจะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว เนื่องจากรู้ว่าตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในบ้านเราในขณะนี้ยังมี“ช่องโหว่” เพราะยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่จะเอาผิดกับพวกเขาได้โดยตรง
 
           ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวน จึงต้องนำเอาตัวบทกฎหมายที่ใกล้เคียงพอที่จะนำมาปรับใช้กับ“ขบวนการร่วมกันโกงข้อสอบ”และบุคคลที่เกี่ยวข้อง  เช่น ข้อหาต่างๆตามประมวลกฎหมายอาญา เท่าที่ดูแล้วใกล้เคียงกับการที่จะเอาผิดกับลักษณะการกระทำผิดในการโกงสอบ หรือ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  มาดำเนินคดี 
 
           แต่ก็มี“นักกฎหมาย”และแม้กระทั่ง“ตำรวจ”เอง มองว่า ตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ ณ เวลานี้ ยังห่างไกลกับการที่จะเอาผิดกับการ“โกงข้อสอบ”
  
           "การทุจริตในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการหรือสถานศึกษานั้น ผมมองว่า กฎหมายของบ้านเรายังมีช่องโหว่ในการที่จะเอาผิดกับเรื่องนี้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายอาญาโดยเฉพาะที่จะเอาผิดกับขบวนการรับจ้างสอบหรือที่เรียกว่า "มือปืนรับจ้าง",ผู้ที่ว่าจ้างสอบ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการสอบ รวมทั้งผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ดังนั้นที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน จึงทำได้แค่เอากฎหมายอาญาทั่วไปและข้อหาเท่าที่มีอยู่ มาปรับใช้เอาผิดกับคนเหล่านี้เท่าที่พอเป็นไปได้ ทั้งที่ข้อหาตามกฎหมายอาญาทั่วไปบางข้อหา ยังค่อนข้างห่างไกลกับการกระทำที่เกี่ยวกับการโกงสอบ ผมขอเสนอให้รัฐบาลอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งว่า ผู้ใดกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือในการสอบเข้าศึกษาต่อ หรือการสอบเข้าทำงาน หรือมีส่วนร่วมในการทุจริต หรือรู้เห็นเป็นใจก่อให้เกิดการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 เพื่อป้องกันและดำเนินการกับผู้ทุจริตในการสอบให้มีความผิดทางอาญาอย่างจริงจัง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในการออกคำสั่ง ซึ่งหากมีคำสั่งในลักษณะนี้ออกมา  ก็จะมีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยเฉพาะเอาผิดกับการโกงสอบ ก็จะสามารถเอาผิดทางอาญากับคนที่ไปจ้างคนอื่น, คนที่รับจ้างสอบ ฐานมีส่วนร่วมในการทุจริต ส่วนผู้คุมสอบ,ติวเตอร์ หากรู้เห็นเป็นใจในการทุจริต ก็จะโดนฐานรู้เห็นเป็นใจด้วย และผมเคยทราบว่าก่อนหน้านี้ ตำรวจเคยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายเฉพาะเป็นระดับพระราชบัญญัติ มาเอาผิดทางอาญากับการโกงข้อสอบ” อดีตนายตำรวจใหญ่ ชี้ให้เห็นปัญหาพร้อมกับข้อเสนอ 
 
            ขณะที่“อดีตนายตำรวจ”อีกคนหนึ่ง ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับการจัดการสอบ และทำคดีเกี่ยวกับการโกงสอบ บอกว่า วงเงินที่“ขบวนการรับจ้างสอบ” ได้รับสูงมาก เพราะว่าทำการรับจ้างสอบหลายสนาม ได้เงินเป็นร้อยล้านบาทและ“เครือข่ายรับจ้างสอบ” เหล่านี้ มักมี“ผู้มีอิทธิพล” หนุนหลัง พวก “มือปืนรับจ้างสอบ” ก็จะอาศัยบารมีของผู้มีอิทธิพล ในการคุ้มกันไม่ให้ตนเองถูกดำเนินคดี
 

         “ ผมเองตอนทำคดีโกงสอบ เคยเจอผู้มีอิทธิพลข่มขู่มาแล้ว แต่ผมไม่กลัว ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่สนใจใคร เท่าที่ทราบที่ผ่านมาศาลเคยลงโทษพวกรับจ้างโกงข้อสอบ ข้อหาฉ้อโกงประชาชน  เพราะทำให้คนหลงเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้เข้าทำงานในสถานที่นั้นได้และทำให้ได้ทรัพย์สิน เงินทอง จากผู้ที่หลงเชื่อ”  
 
          ส่วนนายเจษฎา อนุจารี  ทนายความผู้คร่ำหวอดในการทำคดีมานาน บอกว่า กฎหมายอาญาบ้านเรา ยังเอาผิดได้ยากกับ“ ขบวนการรับจ้างสอบ” และบุคคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร   ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209  และ มาตรา 210นั้น ต้องเป็นคณะบุคคล ทีี่มีความมุ่งหมายกระทำผิดตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิด เช่น ปล้นทรัพย์  แต่การรับจ้างสอบ ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดทางอาญาหรือข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน   ตามหลักกฎหมาย ต้องเป็นการแจ้งความเท็จต่อ "พนักงานสอบสวน”ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ่แต่ เจ้าหน้าที่ผู้คุมสอบ ไม่ใช่พนักงานสอบสวน

          “ ถ้าการรับจ้างสอบนั้น คนที่รับจ้างเข้าสอบด้วยไม่ได้ปลอมตัวเป็นคนอื่น และใช้วุฒิการศึกษาที่คนนั้นๆจบมาจริงมาสมัครสอบ แม้ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาสูงสุดที่คนๆนั้นได้รับ  แต่เป็นวุฒิการศึกษาที่สามารถใช้สอบแข่งขันนั้นๆได้ อย่างนี้จะเป็นเท็จได้อย่างไร และเมื่อสอบได้กลับไม่เอา  ทำได้ไหม ก็เป็นสิทธิ นี่เป็นการพูดในเชิงวิชาการกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับคดีใดคดีหนึ่ง แต่ละคดีก็ว่ากันไป ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละคดีด้วย ผมว่าเราอย่ามุ่งแต่ในเรื่องเอาโทษทางอาญา แต่มุ่งโทษทางปกครองน่าจะดีกว่า  เช่น หากคนที่รับจ้างสอบ เป็นนักศึกษาแพทย์ ก็ตัดสิทธิห้ามไม่ให้รับราชการเป็นแพทย์ตลอดชีวิต, ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ลงโทษทางวินัยให้ออกจากราชการ  ซึ่งมาตรการทางปกครองก็ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรง ”

          และที่กำลังเป็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับการ“โกงสอบ”ในขณะนี้ก็คือ การทุจริตการสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจ ที่เพิ่งสอบไปเมื่อปลายปี 2559  ซึ่งเป็นขบวนการใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอื่นๆจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ถูกจ้างให้เข้าสอบเพื่อเฉลยคำตอบให้กับผู้ที่เข้าสอบซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง  และมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. เป็นตัวกลางติดต่อ “ขบวนการจับจ้างสอบ”
 
         ทั้งนี้ความคืบหน้าในส่วนของการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ที่ทุจริตการสอบนายสิบตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น พล.ต.ต.อดุลย์  ณรงค์ศักดิ์  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า ขณะนี้ได้มีการออกหมายจับกับ “กลุ่มผู้รับจ้างสอบ”ไปแล้วจำนวน 52 คน มอบตัวแล้ว 38 คน และได้ประกันตัวไปแล้ว  โดยกลุ่มนี้โดนทั้ง 3 ข้อหา คือ ข้อหาอั้งยี่  เนื่องจากขบวนการทุจริตมีการทำเป็นขบวนการอั้งยี่ เริ่มต้นตั้งแต่การสมัครสอบรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่กองการสอบ กองบัญชาการศึกษา จากนั้นรวมตัววางแผนกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งและรวมตัวกันเป็นกลุ่มเข้าสอบพร้อมกัน ,ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เนื่องจากแจ้งวุฒิการศึกษาในการเข้าสอบไม่ตรงกับความเป็นจริงรวมถึงสถานที่อยู่ และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  มาตรา 14 (2) กรอกข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าไปในคอมพิวเตอร์เนื่องจากเป็นการรับสมัครสอบทางคอมพิวเตอร์  ส่วน“กลุ่มผู้ที่เข้าสอบซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง” เข้าข่ายจะถูกดำเนินคดีประมาณเกือบ 200 คน และแจ้งข้อหากับนายจิระพจน์ พลายด้วง เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศกิจ เขตปทุมวัน ซึ่งเป็น“ตัวกลาง” ในการติดต่อกับขบวนการรับจ้างสอบ ทั้ง 3 ข้อหาข้างต้น โดยนายจิระพจน์  ได้มอบตัวและประกันตัวไปแล้ว และขณะนี้พนักงานงานสอบสวนกำลังจะขยายผลไปยังกลุ่มอื่นอีกๆประมาณ 2 กลุ่ม 
 
           ส่วน"การโกงการทุจริตสอบเข้า คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต "ซึ่งเป็นข่าวดังก่อนหน้านี้ ขณะนี้สำนวนยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปากคลองรังสิต   โดยได้มีการแบ่งกลุ่มผู้ต้องหาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้่ 
 
          1.กลุ่มติวเตอร์  จำนวน 3 คน ได้แก่  เจ้าของสถาบันติวเตอร์ 1 คน,ติวเตอร์ 1 คน ซึ่งเป็นภรรยาเจ้าของสถาบันติวเตอร์และเป็นอดีตนักศึกษาแพทย์และเลขาติวเตอร์ 1 คน ซึ่งเป็นคนแจกใบปลิวของสถาบันติวเตอร์ รับประกันว่าหากสอบเข้าไม่ได้คืนเงินให้  
 
         2.กลุ่มรับจ้างเข้าไปสอบ จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่่สวมแว่นตาซึ่งมีกล้องวิดีโอรูเข็มในตัวสามารถบันทึกภาพข้อสอบได้และส่งต่อผ่านอีเมลไปให้กลุ่มคนข้างนอกที่ทำหน้าที่เฉลยข้อสอบ จากนั้นส่งคำตอบ เข้าไปยัง“สมาร์ทวอตช์” ของผู้ที่เข้าสอบซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างทำการสวมใส่  ทั้งนี้นักศึกษาที่รับจ้างเข้าไปสอบ รับสารภาพว่าได้ค่าจ้างเข้าสอบเป็นเงิน 5-6 พันบาท โดยเพียงแค่ทำหน้าที่ส่งข้อสอบให้คนข้างนอกซึ่งทำหน้าที่เฉลยข้อสอบเท่านั้น
 
         3. กลุ่มที่ทำหน้าที่เฉลยข้อสอบ   กลุ่มนี้ยังเป็นการยากสำหรับพนักงานสอบสวนที่จะหาตัวผู้กระทำผิด  เพราะจากการสอบปากคำกลุ่มรับจ้างเข้าไปสอบ ได้ให้การว่า ไม่รู้ว่า กลุ่มที่ทำหน้าที่เฉลยข้อสอบเป็นใครบ้าง เพราะไม่ได้เจอกัน  เนื่องจากส่งภาพข้อสอบผ่านอีเมลไปให้กลุ่มคนข้างนอกที่ทำหน้าที่เฉลยข้อสอบ  ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังประสานไปยังทางเอไอเอส ขอทราบหมายเลขโทรศัพท์ ที่ส่งข้อความเข้า “สมาร์ทวอตซ์”  ของนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง เพื่อขยายผลทางคดีต่อไป 
 
          ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้กันนักศึกษาซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำนวน 3 คน ไว้เป็น“พยาน”  โดยยอมรับว่าได้โกงสอบ โดยจ่ายเงินมัดจำให้“ขบวนการหากินโกงสอบ”ไปคนละ 5 หมื่นบาทและหากสอบติด ต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ 8 แสนบาท
 
          สำหรับบทกฎหมายที่พนักงานสอบสวน นำมาดำเนินคดีกับทุกกลุ่มที่โกงข้อสอบในครั้งนี้ คือ มาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเอาไปเสียซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เนื่องจากพฤติการณ์กระทำความผิดในคดีนี้ คือ นำภาพถ่ายเอกสารข้อสอบซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัยรังสิต ไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยรังสิต  ซึ่งเป็นเจ้าของเอกสาร

\"เปิดช่องโหว่\"คดีโกงสอบ\"-เสนอ\"กม.พิเศษ\"เอาผิด

          ทั้งสองคดี ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายจะสามารถลงโทษกับพวกมือปืนรับจ้างสอบและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ กับตัวบทกฎหมายเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ