คอลัมนิสต์

"ก้าวต่อไป...หลังใช้ พ.ร.บ.คอมฯ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงเสวนาจุฬาฯ ห่วง พ.ร.บ.คอมฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก หวั่น เปิดช่องกลั่นแกล้งง่าย ฝาก ทุกฝ่ายช่วยเสนอความคิดเห็นกฎหมายลูก

 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที3เรื่อง“ก้าวต่อไปของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ2559”เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและภาครัฐ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนโยบายสาธารณะด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และการร่างประกาศกระทรวงเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระตุ้นให้สังคมมีส่วนร่วมในการติดตามและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศกระทรวงตามความในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559โดย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีจุฬาฯ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนาดังกล่าว
 
การจัดเสวนาครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสรา นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัทLazada(Thailand) นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่อินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง โดยมี ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
เริ่มด้วย นางปารีณา อภิปรายว่า สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายภาพรวมโอเค แต่มีข้อห่วงกังวลในส่วนของร่างประกาศกระทรวง ที่มุ่งเน้นไปยังรัฐและเอกชนเป็นหลัก อยากให้ห่วงเรื่องประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย ในร่างประกาศกระทรวง ที่จะออกตามมาตรา15 ของพ.ร.บ.คอมฯ ว่าด้วยการพ้นผิดของผู้ให้บริการ หากดำเนินการระงับการเผยแพร่ และลบข้อมูลที่มีความผิด จากระบบการแจ้งเตือน มีข้อห่วงกังวลว่า จะเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ สำหรับการให้ผู้ให้บริการทำการระงับการเผยแพร่และลบทำลายข้อมูล ทั้งที่ยังไม่มีการชี้ถึงความผิดของข้อมูลนั้น จึงควรมีการระบุฐานความผิดให้ชัด เพื่อไม่ก้าวล่วงศาล และให้ผู้ให้บริการสบายใจ
 
ทั้งนี้หลักเกณฑ์การแจ้งเตือนร่างประกาศ กำหนดให้ ผู้ร้องเรียน ต้องใส่ข้อมูลตัวตนที่แจ้ง ไปยังผู้ให้บริการแล้วส่งต่อให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วยนั้น จะกลายเป็นการทำให้ เอกชน3ฝ่าย ต้องมาทะเลาะกันจากมาตรการของรัฐนี้หรือไม่ แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติอำนาจการตัดสินใจส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ เป็นไปได้2ทางคือ เอาลงตามรายงานแจ้งเตือนและไม่เอาลง เนื่องจากรู้ว่าข้อมูลนั้นไม่ผิดแน่นอนหรือไม่ ก็ต้องการคุ้มครองเสรีภาพของผู้บริการ เนื่องจากยังไม่มีใครชี้ว่าผิด มองว่า มาตรา 15 และร่างประกาศที่เกี่ยวข้องควรมีลักษณะตั้งต้น ด้วยการพิสูจน์เจตนาตามหลักกฎหมายอาญาก่อน หากพิสูจน์ได้ ก็ไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการนี้
 
ส่วนร่างประกาศตามมาตรา20ของพ.ร.บ.คอมฯจะต่างจากมาตรา15เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจศาลในการสั่งระงับการเผยแพร่และลบข้อมูล ถือว่าดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนฐานความผิดที่เกี่ยงกับความมั่นคง และการละเมิดศีลธรรมอันดีนั้น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ขึ้นมาพิจารณา แต่จากประกาศที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้ มีเงินเดือน จึงกังวลว่า คณะกรรมการนี้ จะเฝ้าดูเราตลอด24ชั่วโมงเลยหรือไม่ นอกจากคณะกรรมการกลางชุดนี้แล้ว ยังมีคณะกรรมการเฉพาะด้าน ที่ยังไม่เห็นว่า จะมีด้านใดบ้าง จึงอยากเรียกร้องกระทรวงดิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยออกมาก่อน
 
นางปารีณา กล่าวว่า เมื่อมีคำสั่งศาลให้ระงับและลบการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ร่างประกาศกำหนดให้ เจ้าหน้าที่สามารถระงับได้เองหรือสั่งผู้ให้บริการ ให้ดำเนินการได้ จุดที่น่ากังวลที่สุดคือ การระงับหรือลบของมูลข้องเจ้าพนักงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ต้องเข้าไปในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการก็จะเสี่ยงต่อการถูกเจาะข้อมูลส่วนอื่นจากหลังบ้าน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดนั้นได้ หมายความว่า เขาจะเข้าถึงข้อมูลเราได้ทั้งหมด แล้วหากตอนลบเกิดความผิดพลาด ผลกระทบจะเกิดอย่างมหาศาลในทันที 
 
ความน่ากลัวอีกจุดหนึ่งในประกาศ ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ ให้มีการตั้ง ศูนย์กลางบริหารจัดการ เพื่อทำการระงบและลบการเผยแพร่ ที่ทำให้เจ้าที่เข้าถึงฐานข้อมูลผู้รับบริการจากผู้ให้บริการได้ ดังนั้น จึงเสนอให้ความรับผิดชอบนี้ ควรเป็นของผู้ให้บริการ เพราะมีความชอบธรรมจากคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปยุ่งกับผู้ให้บริการ อย่างไรก็ตามในส่วนของกฎหมายลูก อยากให้คิดถึงความพอดี อยากให้ให้โอกาสไม่เฉพาะกรรมการระดับผู้ใหญ่ อยากให้คิดให้รอบด้าน โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นด้วย
 
ด้าน นายศรัทธา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจเราไม่ได้กลัวกฎหมาย แต่กลัวผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่รู้เขามีทัศนะคติต่อการใช้กฎหมายนั้นอย่างไร สำหรับธุรกิจขายของออนไลน์ จะโดนเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล ที่ สำนักงานอาหารและยา (อย.) และ หน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค จะใช้พ.ร.บ.คอมพ์ เป็นตัวหลักมาดูความผิดของเรา ในมาตรา15สบายใจขึ้น ช่วยทำให้เราไม่ผิด แต่ร่างประกาศกระทรวงถ้อยคำยังไม่ชัดเจน และจะเป็นปัญหากับผู้ประกอบการ ซึ่งระบบแจ้งเตือนให้ดึงลง (notice and take down)ตามร่างประกาศ ผู้ประกอบการจะมีมาตรการนี่อยู่แล้ว ใครรายงานอะไรมาที่มีมูลเราก็ดึงข้อมูลนั้นลง
 
ทั้งนี้หากกำหนดตามร่างประกาศนี้ ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ทั้งหมดคงไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา15เพราะร่างประกาศมีเนื้อหาว่า ผู้ให้บริการต้องไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากข้อมูลที่มีปัญหาจนถูกรายงาน การเขียนแบบนี้กว้างไป เราทำธุรกิจขายของออนไลน์ มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของที่ขายได้ ซึ่งเราไม่ได้มีเจตนาขายของที่มีความผิด ที่ผ่านมาเราก็เจอปัญหาจากเจ้าหน้าที่ที่มีทัศนะคติแบบนี้ อย่าง เลขาฯอย. บอกเราให้กลั่นกรองข้อมูลสินค้าทุกชิ้นก่อนลงเว็บ เราขายสินค้าเป็นล้านชิ้น จะต้องเสียทรัพยากรจ้างคนมาดูทุกอย่างให้ได้100เปอร์เซ็นต์ ก่อนขึ้นเว็บ มันจะมีต้นทุนสูงมาก อีกทั้งระบบแจ้งเตือนของเรา ก็พบว่า มีรายงานการกลั่นแกล้งกันเองของร้านค้าจำนวนมาก ที่ใช้บริการเรา
 
ขณะที่ นายอาทิตย์ กล่าวว่า ตัวพ.ร.บ.คอมพ์เองยังคงมีปัญหา สุดท้ายมาตรา14มีการเพิ่มคำว่า บิดเบือนเข้ามา แม้กมธ.ของสนช.จะยืนยันว่า คดีหมิ่นประมาทจากมาตรานี้จะน้อยลง แต่ก็เกิดคำถามว่า แล้วการใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องปิดปาก นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และนักอนุรักษ์ จะหมดไปหรือไม่ ส่วนมาตรา15ข้อยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษ ก็ยังสงสัยว่า ไม่ต้องรับโทษนั้น แต่จะยังมีคดีอาญาติดตัวหรือไม่ ทั้งยังเป็นการผลักภาระไปยังผู้ให้บริการต้องเป็นผู้พิสูจน์ แต่คนกล่าวหานั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกัน ตัวอย่างจากสถิติของกูเกิ้ล ที่ให้ข้อมูลต่อสภานิวซีแลนด์ เพื่อการปรับแก้กฎหมายลักษณะนี้ พบว่า การแจ้งเตือนสูงถึง57เปอร์เซ็นต์ มาจากบริษัทคู่แข่งการค้า นอกจากนี้ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ควรปรับประกาศกระทรวงให้ชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะระบบรับแจ้งแล้วดึงลง (notice and take down)ที่เราจะเห็นว่า เป็นมาตราการของผู้แจ้ง และผู้ให้บริการ ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกแจ้งในฐานะเจ้าของข้อมูลเลย ตัวแบบอย่างประเทศแคนนาดา ควรศึกษา เนื่องจากใช้ระบบnotice and noticeเขามองว่า เจ้าของข้อมูลผู้ถูกร้องต้องอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย จึงกำหนดมาตรการให้ ผู้ให้บริการ เมื่อได้รับรายงานจากผู้ร้อง ให้แจ้งไปยังผู้ถูกร้อง เพื่อตัดสินใจว่า จะดึงลงหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไปพิสูจน์กันที่ศาล ส่วนร่างประกาศตามมาตรา20ก็ควรกำหนดมาตราให้ผู้ให้บริการรับผิดชอบ ก่อนเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรการควรมีระดับจากเบาไปหาหนัก เพื่อไม่ให้มีผลกระทบเยอะ
 
ในอนาคตกฎหมายฉบับนี้จะถูกนำไปใช้หรือไปตีความในเรื่องของนโยบายหาเสียงหรือไม่ ว่าทำได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ หรือยกตัวอย่างนโยบายขายฝัน จะถือว่าข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่จะเป็นเครื่องในการกลั่นแกล้งหรือไม่”นายอาทิตย์ กล่าว
 
นายประสงค์ กล่าวว่า ในมาตรา15จะเปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งกันได้ ส่วนมาตรา20เรื่องของคณะกรรมการกลั่นกรอง จะทำอย่างไรเพราะเรื่องร้องเรียนมีเป็นพันเรื่อง นอกจากนี้ยังมีคำว่า เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี วัตถุประสงค์คืออะไร มีการเขียนไว้กว้างมาก น่าจะมีการเขียนให้แคบลงกว่านี้ เพราะคำนี้ ในทางปฎิบัติจะมีปัญหา คนไว้ใจไม่ได้ เพราะอยู่ที่เรื่องของทัศนคติ จึงไม่ไว้ใจในคณะกรรมการกลั่นกรองเหมือนกัน จริงๆปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอยู่ที่คนบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้สะท้อนแนวคิดของรัฐ ว่ากำลังจะรวมศูนย์เข้ามาในหน่วยราชการ และในอนาคตจะมีแนวโน้มมีกฎหมายลักษณะนี้ออกมาอีก ถ้าเราไม่สามารถทลายแนวคิดรวมศูนย์นี้ได้
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า อยากให้ช่วยจับตากฎหมายลูก เพราะกฎหมายแม่ไม่สามารถไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว และคาดว่าเดือน มีนา เมษา คงจะมีการประกาศใช้ ตนอยากให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อย่าค้านอย่างเดียว อยากได้อะไรให้เสนอมา อยากให้แก้ไขอย่างไร บอกเข้ามา เพราะเรากต้องอยู่กับมัน เรายืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ เราทำให้ดีกว่าฉบับก่อนหน้านี้ แต่ละมาตราก็มีเจตนารมย์ของมันเอง เวลามีคดีจะสามารถช่วยได้ ซึ่งเราพยายามเขียนให้ชัดที่สุด
 
-หมายเหตุ- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมาชิกสนช. ได้ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่16ธันวาคม2559เพื่อเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยเนื้อหาในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้รัฐมนตรีออกประกาศกะทรวง เพิ่มเติมตามอำนาจต่างๆ อีกอย่างน้อย5ฉบับ อาทิ มาตรา11(จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เดือดร้อนรำคาญ) มาตรา15(ประเภทของผู้ให้บริการและขั้นตอนการแจ้งเตือนเพื่อนำข้อมูลจากระบบ) มาตรา16/2(การเอาข้อมูลออกจากระบบหากมีคำพิพากษาว่าผิด) มาตรา17/1(คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ) มาตรา20(วิธีการปฎิบัติสำหรับการระงับหรือลบข้อมูล) มาตรา20(4) (คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์)-

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ