คอลัมนิสต์

17 ปี ไอเดียใหม่...ยุติความรุนแรงเด็ก-สตรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ


 
          ?ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ มีนาคม 2559 ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สูงเป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง...

          เฉพาะคดีข่มขืนทั่วโลกมีประมาณ 2.5 แสนคดี ไทยแลนด์แจ้งความคดีเหล่านี้ประมาณ 4 พันคดี แต่จับคนร้ายได้เพียงร้อยละ 50 ถ้ารวมคดีที่ไม่ได้แจ้งความคาดว่ามีสูงถึง 3 หมื่นคดี

          สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลเฉพาะของปี 2558 ว่า มีเด็กและสตรีในประเทศไทยถูกกระทำรุนแรงกว่า 2 หมื่นราย สถิติเฉลี่ยวันละ 66 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ และตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกายจากบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด

 

17 ปี ไอเดียใหม่...ยุติความรุนแรงเด็ก-สตรี

 

          ย้อนไป 17 ปีที่แล้วองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี” เพราะในค่ำคืนวันนั้นปี ค.ศ. 1960 เกิดเหตุการณ์สังหารโหดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหญิงชาวโดมินิกันจำนวน 3 คน หรือที่เรียกกันว่า “ตระกูลมิราบัล" ได้แก่ แพทเทรีย, มาเรีย และมิเนอวา เวลาผ่านไป 20 ปีกลุ่มสิทธิสตรีทั่วโลกยังไม่สามารถลืมความโหดร้ายในค่ำคืนนั้นได้จึงจัดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันรณรงค์และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อสตรีจนถึงปัจจุบัน

          ประเทศไทยมีการประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ผ่านไปแล้ว 17 ปีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรียังคงเหมือนเลือนราง ...

 

17 ปี ไอเดียใหม่...ยุติความรุนแรงเด็ก-สตรี

 

          “ความรุนแรง” หมายความว่าอย่างไร?

          ความรุนแรงในสายตาผู้ใหญ่ สายตาผู้ชาย สายตาผู้หญิง สายตาเด็ก อาจแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละครอบครัวและชุมชน รวมถึงสภาพแวดล้อมของสังคม องค์การสหประชาชาติให้ความหมาย “ความรุนแรงต่อสตรี” ว่า

          “เป็นการกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงจากอคติทางเพศทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว เช่น ความรุนแรงต่อร่างกาย ทางเพศ และจิตใจ การหาประโยชน์จากสตรีการทารุณกรรมทางเพศ การลวนลามทางเพศ การข่มขู่ในสถานที่ต่างๆ และที่สำคัญคือ

          “ความเพิกเฉยของรัฐต่อความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดทางร่างกาย ทางเพศ และจิตใจ” ถือว่าเป็นการทำความรุนแรงรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

          ส่วน “ความรุนแรงต่อเด็ก” หมายถึง การที่เด็กได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกครอบครัว ในลักษณะที่ไม่เป็นที่ยอมรับ จนเป็นเหตุให้เด็กได้รับอันตราย บาดเจ็บ กระทบกระเทือน ทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ตลอดจนการถูกละเลยไม่สนองตอบความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร การดูแลสุขภาพ และการอบรมเลี้ยงดู

 

17 ปี ไอเดียใหม่...ยุติความรุนแรงเด็ก-สตรี

 

          “สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง” ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมหนึ่งในผู้ผลักดันขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยวิเคราะห์ให้ฟังจากประสบการณ์ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กมายาวนานกว่า 20 ปีว่า

          หากเปรียบเทียบสถิติหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในเมืองไทย 10 กว่าปีที่ผ่านมาสรุปได้ว่าตัวเลขไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย แม้ว่าจะมีความสำเร็จในการออกกฎหมายที่เข้มข้นและมีบทลงโทษหนักกว่าเดิม

          ?“ที่ผ่านมาเราผลักดันให้ออกกฎหมายหลายฉบับ เพราะคาดว่าจะช่วยยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่หรือกลไกที่มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย ยังขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่มีความพยายามจะช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ตำรวจเมื่อมีผู้หญิงมาแจ้งความก็พยายามไกล่เกลี่ย มองว่าเป็นเรื่องทะเลาะกันเล็กน้อยในครอบครัว เขาไม่ได้มองว่าการข่มขืน ทำร้าย ทุบตีมันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน บางคนพูดเชิงซ้ำเติมผู้หญิงด้วยซ้ำไป ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าไปแจ้งความ รวมถึงไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อนหรือเกิดความอับอายด้วย”

          สุเพ็ญศรี กล่าวต่อว่า การเลี้ยงดูในสังคมไทยที่ยอมรับอำนาจของผู้ชายและผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าทำให้คดีความรุนแรงเหล่านี้ไม่ถูกดำเนินไปจนถึงจุดจบของคดี ส่วนใหญ่มีการถอนแจ้งความระหว่างทาง เช่น คนในครอบครัวมาขอร้องให้ถอนแจ้งความ และที่น่าเป็นห่วงคือ แม้แต่ผู้หญิงที่มีการศึกษา มีหน้าที่ตำแหน่งใหญ่โต ก็ยังถูกลวนลามทางเพศ หรือทำร้ายจากคนในครอบครัว ผู้ชายไทยชอบคิดว่าการแซวเรื่องลามกกับเพื่อนร่วมงานหญิงหรือลูกน้องผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดา หรือการมีกิ๊กมีชู้เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ ไม่เคยคิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้คือการทำความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง เป็นการทำร้ายจิตใจ

          “เมื่อการรณรงค์และการออกกฎหมายยังไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากนัก ตอนนี้พวกเรากำลังช่วยกันเสนอความคิดไอเดีย หรือวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่เช่น 1 การปรับเปลี่ยนแนวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องไปเอาสามี เอาพ่อ เอาพี่น้อง ไปดำเนินคดีในแง่ลงโทษตามกฎหมายหรือจับเข้าคุก แต่ต้องเอาคนที่มีพฤติกรรมชอบทำรุนแรง มาบำบัดหรือมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มาทำความเข้าใจว่าแต่ละคนทำไมชอบทำร้ายผู้อื่น และหาวิธีปรับทัศนคติเปลี่ยนความคิด ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าการตีเมีย ตีลูก ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวอย่างไรบ้าง วิธีนี้จะดีกว่าจับเข้าคุกแล้วปล่อยออกมา”

          เมื่อสถานีตำรวจไม่ได้เป็นสถานที่ปกป้องคุ้มครองภัย ในแต่ละวันจึงมีผู้หญิงและเด็กไปร้องขอความช่วยเหลือยังมูลนิธิต่างๆ ทั่วประเทศแทน เฉพาะ ข้อมูลจาก “มูลนิธิปวีณาฯ” พบว่าในปี 2558 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 11,151 รายแบ่งเป็น คดีข่มขืนอนาจาร 656 ราย คดีทารุณกรรมทำร้ายร่างกาย 725 ราย คดีค้ามนุษย์ 200 ราย

          ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล อนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยเปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการกำลังเสนอให้แก้ไข "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550" เนื่องจากผ่านไป 9 ปี กฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดน้อยลง

          ดังนั้นเครือข่ายกลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิงและเด็ก จึงเสนอความคิดให้แก้ไขปรับปรุงเนื้อหากฎหมายฉบับนี้ 4 ประเด็นใหญ่ด้วยกันได้แก่

          ?1.การแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการร้องทุกข์ เดิมกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น ที่มีสิทธิมาแจ้งความหรือมาร้องทุกข์ แต่ที่ผ่านมาเหยื่อความรุนแรงมักไม่กล้าหรือไม่อยากไปแจ้งความ ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคประชาชน องค์กรเอกชน สามารถเข้าไปช่วยเหลือและแจ้งดำเนินคดีได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้เหยื่อมาแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจก่อน เช่น พ่อ สามี ครู ถ้ามีหลักฐานก็สามารถแจ้งความได้ทันที เพื่อยุติความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

          ?2.กรณีเป็นความผิดในคดีที่ยอมความกันได้นั้น ก่อนที่เจ้าทุกข์จะถอนแจ้งความหรือถอนคำร้องนั้น ผู้กระทำความผิดที่ใช้ความรุนแรงกับคนอื่น เช่น ชอบทุบตีคนในครอบครัว ต้องผ่านกระบวนการบำบัดพฤติกรรม เพื่อให้ลดเลิกและปรับเปลี่ยนเลิกนิสัยเหล่านี้ หากทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จก็ต้องไปรับโทษในคุก

          ?3.มีการเสนอให้เพิ่มภาระหน้าที่ของ “เพื่อนบ้าน” หรือผู้รู้เห็นหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น พวกเขา “มีหน้าที่ต้องไปแจ้งความ” หรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐรับทราบ ข้อเสนอนี้คือการสร้างกลไกเฝ้าระวังให้เพื่อนบ้านมีส่วนรับผิดชอบ และถ้ารู้เห็นแล้วละเลย ไม่สนใจ ไม่ไปแจ้งความ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายต้องรับโทษด้วย เช่น กรณีของนายอัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล หรือ น็อต ดาราและนักแสดงที่ทำร้ายคนขี่รถจักรยานยนต์และสั่งให้กราบรถนั้น ในขณะเกิดเหตุเพื่อนของนายอัครณัฐอยู่ด้วยและไม่ได้แสดงอาการห้ามปรามเพื่อนของตนเอง หรือพยายามที่จะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเช่นเดียวกับผู้เห็นเหตุการณ์ที่ยืนดูอยู่รอบข้างด้วย หากมีการแก้ไขกฎหมาย จะช่วยให้ทุกคนในสังคมช่วยดูแลซึ่งกันและกันมากขึ้น

          4.การเสนอให้คดีความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากเหยื่อตอบโต้คู่กรณี ที่เรียกว่า “สภาวะความตึงเครียดที่เกิดขึ้นภายหลังการถูกทารุณกรรม” หรืออาการ “บีดับบลิวเอส” (Battered WomanSyndrome:BWS) ถือเป็นการแสดงความผิดปกติทางจิตใจหลังจากการถูกกระทำความรุนแรงสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งในหลายประเทศจะมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้หญิงหรือญาติของผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอันเนื่องมาจากอาการ “บีดับบลิวเอส”

          ?เช่น คดีภรรยาฆ่าหั่นศพสามีโดยมูลเหตุจากถูกสามีทำร้ายทุบตีมาตลอด จึงเกิดความแค้นหรือกรณีคดี “จ้างวานฆ่า” นักแม่นปืนทีมชาติไทย “เอ็กซ์" จักรกฤษณ์ โดยแม่ของภรรยาที่อ้างว่าสงสารลูกสาวถูกนักแม่นปืนผู้นี้ทำร้ายร่างกายมาตลอด ซึ่งการพิจารณาคดีคล้ายคลึงกันนี้ในบางประเทศจะพิจารณาพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีว่าก่อเหตุเพราะความผิดปกติทางจิตเนื่องจากถูกกระทำรุนแรงหรือถูกกดดันสะสมเป็นเวลานาน หรือกระทำไปโดยเป็นการป้องกันตัวเอง

          “ในต่างประเทศคดีแบบนี้ส่วนใหญ่ลูกขุนหรือผู้พิพากษาจะไม่เอาผิดภรรยาหรือคนก่อคดีแบบนี้ หรือลงโทษน้อยมาก เพราะถือเป็นเหมือนคดีบันดาลโทสะ แม้มีการไตร่ตรองหรือวางแผนล่วงหน้าก่อน ประเทศไทยคงต้องปรับปรุงกฎหมายในส่วนนี้ด้วย เพราะพวกเขาคือเหยื่อความรุนแรงสะสมซ้ำๆ มาก่อน” ดร.สุธาดากล่าวแนะนำทิ้งท้าย

          ?เมื่อต้นปี 2559 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง โดยพบว่า เมื่อผู้ชายเกิดอารมณ์โมโห สิ่งที่พวกเขาเลือกทำเพื่อระบายอารมณ์ คือ ร้อยละ 69 ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน ร้อยละ 57 ทำลายข้าวของในบ้านร้อยละ 45 จะไปดื่มเหล้าจนเมาแล้วทำร้ายภรรยาหรือแฟน ร้อยละ 42 บังคับให้มีเพศสัมพันธ์

          หมายความว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ชายไทย เมื่อเกิดอารมณ์โมโหจะทำร้ายแฟนตัวเอง

          การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีใน “วันที่ 25 พฤศจิกายน” ผ่านไปแล้ว 17 ปี ผลออกมาอย่างไรต้องลองพิจารณาจากครอบครัวของตนเองหรือเพื่อนบ้าน

          อาจถึงเวลาที่ชาวไทยจะช่วยกันเสนอไอเดียหรือมุมมองว่าจะแก้ไขปัญหาใกล้ตัวนี้ได้อย่างไร

          ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สังคมน่าอยู่เพราะมนุษย์เอื้ออาทร!

..............................
ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ