คอลัมนิสต์

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจช่างภาพ "วสันต์ วณิชชากร" และคนในภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก” 1 ใน 9 "ภาพแห่งความภักดี" ที่จะลงใน "จดหมายเหตุ" : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ รายงาน

 

            เป็นภาพที่ใครเห็นก็ต้องบอกว่าสะท้อนความรู้สึกของปวงชนชาวไทยในขณะนี้ได้อย่างชัดเจน สำหรับภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก ที่ถ่ายโดย วสันต์ วณิชชากร

            สิ่งหนึ่งที่การันตีว่าภาพนี้สะท้อนความรู้สึกของปวงชนชาวไทยได้อย่างชัดเจน คือ การได้รับคะแนนโหวตให้เป็นภาพที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด ในจำนวน 89 ภาพที่กระทรวงวัฒนธรรมคัดเลือกจาก 2 หมื่นกว่าภาพมาจัดนิทรรศการ “ทรงสถิตในดวงใจไทยทั้งชาติ” ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติและการโหวตผ่านเวบไซต์ของกระทรวง และยังเป็นได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 9 “ภาพแห่งความภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่กระทรวงวัฒนธรรมจะนำมาจัดทำ “จดหมายเหตุ” พร้อมสัมภาษณ์บุคคลในภาพเพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป

            “วสันต์” ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ประจำประเทศไทย ได้มาทำหน้าที่บันทึกภาพความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ภาพถ่ายและเรื่องราวที่เขาบันทึกผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวตลอดช่วงที่ผ่านมาได้รับการแชร์ต่อไปจำนวนมากทั้งในโลกโซเชียลและสื่อกระแสหลัก

            สำหรับภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก”นั้น “วสันต์” ถ่ายไว้เมื่อเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม ที่บริเวณหน้าประตูพระบรมมหาราชวัง ในระหว่างที่ประชาชนมารอเข้าร่วมลงนามถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

            “วสันต์” เปิดเผยกับ "คมชัดลึก" ว่า ระหว่างเก็บภาพไปเรื่อยๆ เจอผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนั่งเล่าเรื่องในหลวงของคนไทยให้กับชาวต่างชาติฟังด้วยความปลื้มปิติ เธอเล่าไปด้วยด้วยรอยยิ้มของความภาคภูมิใจ ซึ่งเขาก็บันทึกภาพเธอไว้ และเดินเก็บภาพอื่นต่อ

            “ผมหันกลับมาอีกทีเห็นเธอพูดไปร้องไห้ไป น้ำตาไหลอาบแก้ม จนหยดลงมาบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่กอดอยู่ ผมรีบบันทึกภาพไว้ทันที น้ำตาของเธอที่หยดลงมาบนพระบรมฉายาลักษณ์ มองอีกมุมเป็นประหนึ่งเหงื่อของพระองค์ท่านที่ไหลหยดเพราะการตรากตรำทำงานหนักเพื่อพสกนิกรของท่านตลอดระยะเวลา 70 ปี และต่อการสูญเสียพระองค์ท่านไปก็หมายถึงน้ำตาแห่งความโศกเศร้า เสียใจ จึงเป็นที่มาของชื่อภาพนี้...หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก” 

                   เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            ถามว่ารู้สึกอย่างไร ภูมิใจหรือไม่ที่ภาพนี้ได้รับการโหวตจากประชาชนมากที่สุดและจะเป็น 1 ใน 9 ภาพที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ วสันต์ บอกว่า ไม่อยากบอกว่ารู้สึกอย่างไร ขอบอกผ่านคำขอบคุณไปยังทุกท่านที่โหวตให้ภาพนี้ แต่จริงๆไม่อยากถ่ายภาพแบบนี้ ถ้าเลือกได้ ใจจริงๆไม่อยากให้เกิดมีภาพแบบนี้เลย 

            วสันต์ บอกว่า ครั้งนี้เป็นการถ่ายภาพที่ยากที่สุดในชีวิต เพราะหลายช่วงเขาต้องถ่ายภาพผ่านม่านน้ำตาของตัวเอง แต่เขาก็ต้องทำหน้าที่ เพราะความมุ่งมั่นของเขาคือ “ผมต้องการถ่ายภาพเพื่อสะท้อนให้ชาวโลกเห็นว่าคนไทยรักพระองค์ท่านมากมายแค่ไหน สะท้อนให้ชาวต่างชาติคิดกลับมาว่า พระองค์ท่านต้องรักและทำอะไรให้คนไทยอย่างมากมายมหาศาลจริงๆ จึงทำให้คนไทยโศกเศร้าเสียใจได้มากมายและยาวนานขนาดนี้”

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            การถ่ายภาพกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันครบ 1 เดือนของการการจากไปของพ่อหลวง เป็นอีกที่ “วสันต์” บอกว่า ถ่ายภาพยากมาก วันนั้นขณะที่เขาถ่ายภาพ เขาร้องเพลง และร้องไห้ อยู่หลังกล้องด้วย

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            “วันนั้นผมรู้สึกได้ว่าขณะที่พี่น้องประชาชนร้องเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงต้นไม้ของพ่อ โดยเฉพาะบทเพลงพระราชนิพนธ์ "ความฝันอันสูงสุด" พวกเขากำลังสื่อสารอยู่กับพ่อหลวงด้วยความเป็นสมาธิ ความจริงผมไม่อยากรบกวนอารมณ์ของพวกเขาเลย แต่ผมก็เชื่อว่าการที่พวกเขาเห็นผมร้องเพลงไปด้วย น้ำตาไหลนองอาบแก้มไปด้วย ขณะค่อยๆขยับเข้าไปถ่ายรูป ก็คงรับรู้ได้ว่าผมก็อยู่ในอารมณ์เดียวกันกับพวกเขา เพียงแต่ผมก็ต้องทำหน้าที่ของผมไปด้วย”

            อีกครั้งที่ “วสันต์” ตั้งใจอย่างมากเพื่อบันทึกภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่เหล่าพสกนิกรมีต่อพ่อหลวง คือ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม วันแรกที่มีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบพระบรมศพได้ แม้ฝนจะตกลงมาอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถทำลายความมุ่งมั่นของพวกเขาได้ 

            แน่นอนวันนั้น “วสันต์” ก็ใช้กล้องคู่ใจถ่ายภาพท่ามกลางสายฝนเช่นกัน 

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            “ภาพประวัติศาสตร์ในชั่วโมงนั้น ผมเห็นแล้ว ไม่ถ่ายเอาไว้ไม่ได้หรอก ไม่มีใครมาทำแบบนี้หรอก นอกจากจะทำให้ในหลวง ในหลวงคนเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนไทยยอมทนแดด ทนฝน ทนหิว อดทนทุกอย่าง เพื่อเฝ้ารอที่จะเข้าเฝ้า ได้อยู่ใกล้ๆ กับพระองค์ท่านอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย กล้องผมพัง ผมหาที่ซ่อมได้ แต่ภาพเหล่านี้ ผมไม่สามารถหามันได้อีกแล้ว ผมถือว่านี่คือภาพแห่งความรักและภักดีอย่างสุดขั้วหัวใจ"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เปิดใจคนในภาพ "หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            “มาลิน โกไศยกานนท์” เจ้าของหยดน้ำตาในภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก” ที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 ภาพแห่งความภักดีที่กระทรวงวัฒนธรรมจะบันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุ” เป็นชาวสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

            “มาลิน” หรือ “แนน” วัย 42 ปี เปิดเผยกับ "คมชัดลึก" ว่า หลังรู้ข่าวร้ายในช่วงค่ำวันที่ 13 ตุลาคม  เธอก็ รีบจองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางมากรุงเทพฯในวันรุ่งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นว่าจะขอมาร่วมส่งเสด็จพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวังด้วย ซึ่งสุดท้ายเธอก็ทำภารกิจลุล่วงตามตั้งใจ

            เธอเล่าถึงเล่าถึงเหตุการณ์ในภาพถ่ายแห่งความภักดีนี้ว่า วันนั้นเป็นวันที่ 15 ตุลาคม วันแรกที่เปิดให้ประชาชนเข้าลงนามถวายความอาลัย “พ่อหลวง” ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เธอนั่งอยู่ที่บริเวณหน้าประตูพระบรมมหาราชวังเพื่อรอเข้าถวายความอาลัยร่วมกับพี่น้องประชาชนที่มาจากทุกสารทิศด้วยความรู้สึกเดียวกัน

            “ความจริงพระบรมฉายาลักษณ์ที่แนนถืออยู่นั้นไม่ใช่ของแนน พี่ที่นั่งข้างๆเขาแบ่งมาให้ เขาบอกมีหลายใบ และพอดีมีฝรั่งมานั่งอยู่ข้างแนน แนนเลยคุยกับเขา ถามว่ารู้ไหมว่าทำไมคนไทยรักพ่อหลวงมากขนาดนี้ รู้ไหมว่าพระองค์ท่านทำอะไรให้คนไทยบ้าง แนนภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เกิดในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ตอนหลังก็รู้สึกตื้นตันและร้องไห้ออกมา”

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

                   เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            “ตอนแรกไม่รู้ว่าช่างภาพมาถ่ายรูป จนกลับมาที่สมุย เพื่อนแท็กรูปมาให้ ขอขอบคุณคุณวสันต์ ช่างภาพ ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เราได้มาอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เพราะเรามีพ่อองค์เดียวกัน ภาพของคุณวสันต์สะท้อนความรู้สึกของข้ารองบาทของพ่อคนนี้ได้อย่างชัดเจน เป็นภาพที่บอกถึงการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงในชีวิต”

            "มาลิน" เป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและการฝึกอบรม ของโรงแรมซามูจาน่า ที่เกาะสมุย เนื่องจากบ้านของเธออยู่ไกลถึงเกาะสมุย การเดินทางมากรุงเทพฯไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ด้วยความรักที่มีต่อ “พ่อ” เธอสัญญาว่าจะมาหาพ่ออีกเรื่อยๆ

            “ครั้งแรกที่ไปรับเสด็จขบวนเคลื่อนพระบรมศพแนนไปคนเดียว แต่ครั้งที่สองเราไปกันทั้งครอบครัว สามีขับรถพาไป ซึ่งต้องขอบคุณเขามากที่เข้าใจความรู้สึกของเรา ครั้งนั้นเราแวะไปบ้านของพ่อคือ โครงการชั่งหัวมัน ที่จ.เพชรบุรีด้วย แนนตั้งใจไว้ว่าถ้ามีโอกาสจะไปทุกที่ที่พ่อเคยไป”

เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"

            “ครั้งที่สองเราไปถึงกรุงเทพตอนกลางคืนและฝนตก แต่แนนก็ขอแวะไปกราบท่านด้วย แม้จะกราบได้เพียงนอกกำแพงพระราชวัง แต่ก็ขอให้ได้ไป รุ่งขึ้นครอบครัวเรานำรูปของพ่อไปแจกให้ผู้ที่มาที่สนามหลวงด้วย ช่วงนั้นยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบพระบรมศพ แนนเลยต้องมาหาพ่ออีกครั้ง”

            “มาลิน” ตั้งใจเดินทางมากรุงเทพอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อภารกิจเรื่อง “พ่อ” ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ย.นี้ โดยเธอบอกว่าจะไปกราบพระบรมศพ และหากมีเวลาจะขอไปถ่ายภาพคู่กับภาพของเธอที่ยังคงจัดนิทรรศการอยู่ที่พิพิธภัฑ์สถานแห่งชาติ พร้อมกับ “วสันต์” ผู้ถ่ายภาพ  

            แน่นอน “มาลิน” มีความรู้สึกเดียวกับ “วสันต์” คือ ต้องการการถ่ายทอดความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อในหลวงให้ทั่วโลกรับรู้ "ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง"                     

                    เบื้องหลังภาพ “หยาดเหงื่อของพ่อและหยดน้ำตาของลูก"     

                    (วสันต์ วณิชชากร : “ในหลวงสวรรคต...ถ่ายภาพยากที่สุดในชีวิต")

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ