คอลัมนิสต์

“ในหลวงสวรรคต” : ถ่ายภาพยากที่สุดในชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การบันทึกภาพในวันที่ชนชาวไทยโศกสลดเพราะสูญเสีย"ในหลวง"อันเป็นที่รัก ภาพพร่ามัวด้วยน้ำตาที่ไหลเอ่อ เป็นการทำงานที่สุดยากครั้งหนึ่งในชีวิตช่างภาพ (จากใจลูกถึงพ่อ)

 

            "พ่ออดทน พ่อเหนื่อยมามากแล้ว พ่อพักเถิด พ่อจะอยู่ในใจหนูตลอดไป หนูจะเป็นคนดี ตามที่พ่อสอน หนูสัญญา "เสียงคร่ำคราญบอกเล่าถึงความรู้สึกในใจที่ประชาชนคนหนึ่งของพระองค์ พรั่งพรูออกมาในชั่วโมงที่แสนเศร้า แสนเสียใจ เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจไทยทั้งชาติ

            บ่ายโมงวันที่ 12 ตุลาคม ประโยคแรกจากเบอร์โทรที่คุ้นเคย "สองชั่วโมงถึงกรุงเทพไหม ? " เป็นประโยคที่พวกเราช่างภาพข่าวที่สำนักข่าว AP รู้กันว่ามันคืออะไร ร่างกายและจิตใจ อ่อนล้า อ่อนแรงไปหมด ทั้งที่พึ่งตื่นนอนได้ไม่นาน

            " ถึงครับพี่" เสียงตอบรับที่ดูไร้เรื่ยวแรง แต่ต้องยืนยันกลับไปด้วยความรับผิดชอบ

            " มึงไม่สบายรึป่าวว่ะ เสียงมึงเหมือนคนป่วยเลย" ต้นสายถามมาด้วยความเป็นห่วง

            "ไม่ได้เป็นไรครับพี่" พยายามทำเสียงให้แข็งแรงเท่าที่จะทำได้ แล้ววางสายไป

            สี่โมงเย็นแล้ว เรายังนอนหมดแรง หมดใจอยู่บนที่นอนอย่างเดิม ทั้งที่เราควรจะไปถึงโรงพยาบาลศิริราชแล้ว มันเป็นงานที่กลัวจะมาถึงมากที่สุด และเป็นงานที่ไม่อยากทำมากที่สุด ไม่ว่าจะได้เงินมากมายสักเพียงไหน

            แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่สื่อมวลชน ช่างภาพข่าวที่ดี จะต้องพาตัวเอง พาใจ ไปเล่าเรื่องราว ความจริงให้ประชาชน ให้โลกได้รู้ ว่าคนไทยรักและเทิดทูนในหลวงมากแค่ไหน ทำไมคนไทยถึงได้รักในหลวงมากขนาดนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย

            13 ตุลาคม หัวคว่ำในชั่วโมงที่แสนโศกเศร้าและสูญเสียของคนไทยทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก ช่างภาพข่าวคนไทยทุกคนที่เห็น ต่างทำหน้าที่ถ่ายทอดด้วยภาพถึงความจงรักภักดี ความรัก รอยน้ำตาแห่งการสูญเสียสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาเทียบได้

            ในดวงตาของช่างภาพข่าวเหล่านั้น คั่งคลอไปด้วยน้ำตาที่เอ่อจนจะล้น บางคนไหลอาบแก้ม นั่งหมดสภาพ ไร้เรี่ยวแรง มันเป็นความรู้สึกในอารมณ์ร่วมกับประชาชนผู้จงรักภักดีจนไม่สามารถแยกออกได้

            แต่ด้วยหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอภาพข่าว ถึงความรักที่ประชาชนมีต่อพระองค์ท่าน ทุกคนต้องสลัดทิ้งความเศร้าโศก เสียใจแล้วยืนขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าพวกเรารักในหลวงมากมายเพียงใด แม้น้ำในตาคอยจะเอ่อล้นออกมา ภาพที่กำลังจะพร่ามัวด้วยน้ำตาที่ไหลเอ่อ แต่ก็ต้องหักห้ามใจ ตั้งใจทำหน้าที่ต่อ บอกเล่าเรื่องราวด้วยภาพ ให้โลกได้รู้

            ครั้งนี้เป็นการทำงานที่สุดแสนยากครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ต้องกักเก็บความรู้สึกของประชาชนคนหนึ่งที่เกิดมาก็เห็นภาพพระองค์ท่านอยู่ที่กลางฝาบ้าน และภาพพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำ มันเพิ่มพูนความรัก ความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

            มันต้องกักเก็บสิ่งเหล่านี้เอาไว้ เพื่อที่จะทำหน้าที่บันทึกภาพต่อให้สำเร็จ ให้ดีตามที่ตั้งใจ เพื่อเผยแผ่พระบารมีของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ให้โลกได้รู้ ว่าในหลวงของเรานั้นเป็นพระกษัตย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีประชาชนรัก เทิดทูนมากมายขนาดไหน แม้ว่าจะตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวความรัก ความภักดีที่ประชาชนคนไทยที่มีต่อพระองค์ได้ดีสักแค่ไหน ก็ยังไม่ได้หนึ่งในสิบความรัก ความภักดีที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า ที่ซึ่งพระองค์ท่านทรงประทับอยู่ครั้งสุดท้าย "ศิริราช"

            วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายงาน ตามหน้าที่อย่างสุดกำลัง สุดความสามารถ เหมือนที่พ่อเคยสอน

“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปีมาแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ ๑๐๐ บาทอยู่เรื่อยมา”


            ......สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตของผม
            คือการได้เป็นช่างภาพข่าว...
            และจะขอยึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตสืบต่อไป...

 

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า วสันต์ วณิชชากร

14 ต.ค. 59

“ในหลวงสวรรคต” : ถ่ายภาพยากที่สุดในชีวิต

วสันต์ ชูภาพในหลวงที่ Everest Base Camp ตามที่เคยตั้งใจว่า "พ่ออยู่หัวจะอยู่สุงที่สุด แม้ในวันที่ผมอยู่ในจุดที่สูงที่สุดเสมอ เป็นความฝันหนึ่งที่อยากเอาภาพพ่อหลวงที่ผมถ่ายเองไปชูขึ้นเหนือหัวที่ Everest Base Camp " 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ