ข่าว

“แบบบ้านไม่บาน”รับมือ“วิกฤติการณ์น้ำท่วม”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สวัสดีครับแฟนๆ ชาวบ้านไม่บาน ในสัปดาห์นี้เพื่อให้เข้ากับ วิกฤติการณ์น้ำท่วม เพราะเมื่อน้ำลดแล้วคงต้องมีการซ่อมสร้างอาคารบ้านเรือนยกใหญ่ ตัวเลขที่ผมได้รับจากข้อมูลของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

 ประมาณว่ามีอาคารบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 1,210,968 ครัวเรือน หากคิดแบบสมการชั้นเดียวก็หมายความว่ามีอาคารบ้านเรือนกว่า 1,200,000 หลัง ที่รอรับการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ และผมหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการซ่อมหรือสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ครั้งนี้คงจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับ วิกฤติการณ์น้ำท่วม ซึ่งคงจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต

แต่ก่อนอื่นผมขอให้ความรู้กับแฟนๆ ชาว คนรักบ้าน ทั่วประเทศให้รับรู้รับทราบกันเสียก่อน ว่าอะไรคือต้นตอที่แท้จริงของ วิกฤติการณ์น้ำท่วม เพื่อที่จะให้ชาว คนรักบ้าน ได้ “รู้เขา รู้เรา” ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขมิให้เกิด วิกฤติการณ์น้ำท่วม ซ้ำซากอีก ในมุมมองของผมในฐานะอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระ นักเศรษฐศาสตร์ (มหภาค) นักวางผัง และสถาปนิก ขอฟันธงลงไปตรงนี้ว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริงนั้นมาจาก การขยายตัวอย่างไร้ระเบียบแบบแผนและไร้ทิศทางของชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ในระยะเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเมือง คาดการณ์กันว่าจะมีปริมาณสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณกานต์ ตระกูลฮุน ผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในงาน  Sustainable  Development Symposium 2010 ในตอนหนึ่งว่าด้วย Social Movement ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า (2050) ประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,100 ล้านคน ส่วนใหญ่ (98%) มาจากประเทศกำลังพัฒนา และ สภาพเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า (Double Urbanization) จากการขยายตัวแบบก้าวกระโดดดังกล่าวเป็นผลให้โครงข่ายดั้งเดิมของแม่น้ำ ลำคลอง อันเป็น “ของดีมีอยู่” อันเป็น “ภูมิบ้าน ภูมิเมือง ภูมิสังคม” กลับถูกถมทำลาย ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่เคยเป็นมาเท่าที่ควร 

หากว่ากันตาม “ความจริงวันนี้” แล้ว ตามหลักการของเศรษฐกิจ “ทุนนิยม” ที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ สิ่งใดที่ไม่ใช้ประโยชน์ก็จะถูกละเลย และขาดการดูแลรักษาและพัฒนา จึงเป็นผลให้เครือข่ายเส้นเลือดในอดีตของชาวคนรักบ้าน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ยังคงมีอยู่เท่าเดิมไม่ได้รับการพัฒนา มิหนำซ้ำยังไม่ได้ดูแล ทะนุบำรุงรักษา โดยการขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขิน เป็นผลให้ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลงทุกขณะ 
อีกทั้งบรรดาสถาปนิก นักวางผังภูมิภาค นักวางผังเมืองตลอดจนนักวางแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยกลับมองไม่เห็นคุณค่าของเครือข่ายแม่น้ำลำคลองอันเป็น “ของดีมีอยู่” ตลอดจนไม่สามารถเชื่อมโยงกับแนวทางในการพัฒนาชุมชนเมืองในสังคมยุคใหม่

ในเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนเมืองทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม การตัดถนนใหม่และการเพิ่มปริมาณเส้นทางเดินรถที่มีมากขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขยายพื้นที่ของชุมชนเมือง ย่อมทำให้พื้นที่ราบลุ่มเดิมสำหรับการรองรับน้ำลดลงอย่างมากในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น คงต้องยอมรับกันเสียทีว่า “โครงข่ายถนน” คือ ระบบการตัดแบ่งพื้นที่เป็นขนาดเล็กๆ จำนวนมากมาย เป็นการจำกัดการเคลื่อนย้ายของปริมาณน้ำจำนวนมาก ดังนั้น วิกฤติการณ์น้ำท่วม ซ้ำซากแบบฉับพลันในบางบริเวณน่าจะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้ เช่น วิกฤติการณ์น้ำท่วม “โคราช” และ  “หาดใหญ่”  เป็นหลักฐานสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ได้ครับ

สำหรับประเทศไทย อันเป็นบ้านหลังใหญ่ของชาว คนรักบ้าน ตั้งอยู่บนดินแดน “สุวรรณภูมิ”  ตรงเส้น “ศูนย์สูตร” หรือ  “ทรอปริก-ออฟ-แคนเซอร์” ซึ่งเป็นบริเวณป่าฝนเขตร้อนชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกสีน้ำเงินเล็กๆ ใบนี้ ฝนยังคงตกต้องตามฤดูกาลที่ควรจะเป็นและมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยที่ค่อนข้างจะคงที่ หากนำไปประสานแบบบูรณาการกับแนวคิดในการพัฒนาชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน ในมุมมองที่กว้างขึ้น ที่ว่าด้วยความ “สัมพันธ์อย่างสมดุล” ระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ระบบแบบผสมผสานที่ว่านี้ ก็จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนเมือง ถนน-แม่น้ำลำคลองอย่างสมดุลมากขึ้น

การพัฒนาโครงข่ายแม่น้ำลำคลองเดิม ตลอดจนการสร้างโครงข่ายแม่น้ำลำคลองใหม่ (จำนวนมาก) เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ด้วยแนวคิดเช่นเดียวกับการพัฒนาโครงข่ายถนนแบบที่เคยทำมาในอดีต โดยเชื่อมโยงไปยังแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำ หรือระบบน้ำสำคัญอื่นๆ (เช่น ระบบชลประทาน) ที่มีอยู่ก่อเกิดเป็น เครือข่ายแม่น้ำลำคลอง ใหม่ด้วยการผสมผสานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเดิม อันเป็น “ภูมิบ้าน ภูมิเมือง ภูมิสังคม” เดิม สิ่งแวดล้อมเดิม กับระบบเศรษฐกิจริมน้ำรูปแบบใหม่ เป็นการสร้างสมดุลโดยรวมมากขึ้น การก่อร่างสร้างชุมชนใหม่นี้จะเป็น “โมเดล” ต้นแบบและกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับการพัฒนา และปรับเปลี่ยนชุมชนริมน้ำดั่งเดิมให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้นครับ

 จะว่าไปแล้ว เครือข่ายแม่น้ำลำคลอง นั้น ทั่วโลกต่างยอมรับว่าเป็นเครือข่ายคมนาคม ขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงแต่มีต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น หากมีระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการอย่างจริงจัง  มิใช่เป็นเพียงแค่ “ทางเลือก” หากแต่เป็น “ทางรอด” ถ้าสามารถเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันกับระบบถนนด้วยแล้วก็จะเป็นชุมชนเมืองที่สมบูรณ์มากขึ้นครับ นอกจากนั้น เครือข่ายแม่น้ำลำคลอง ยังสามารถสร้างภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของชุมชนเมือง เป็นการฟื้นฟู สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลง (ถนนไม่มีทางทำได้) เครือข่ายแม่น้ำลำคลอง ก็จะเชื่อมโยงกับ “ระบบน้ำสถิต” (แก้มลิง หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก) อื่นๆ กลายเป็นระบบการเก็บกักน้ำ การระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังประโยชน์มากในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมสมัยใหม่ และยังสามารถป้องกันอุทกภัยไปพร้อมกันครับ 

สัปดาห์นี้พื้นที่หมดครับมาว่ากันต่อในสัปดาห์หน้าว่า รูปแบบ “บ้านไม่บาน” ที่สามารถต่อกรกับ “วิกฤติการณ์น้ำท่วม" น่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและควรจะมีหลักการและหลักเกณฑ์ในการออกแบบอย่างไรครับ สำหรับท่านที่สนใจดูข้อมูลย้อนหลังก็สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ยอดฮิตของชาวคนรักบ้าน  www.homeloverthai.com  รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดแบบบ้านไม่บานและอพาร์ตเมนต์ไม่บานที่ทุกท่านชื่นชอบได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ