ข่าว

 "วิศวะ'61" เวทีโชว์นวัตกรรม(ขายได้)ฝีมือไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภายในงานวิศวะ'61 มีผลงานเด่นที่อยู่ในขั้นตอนต่อยอดการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเยาวชน

           ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 แล้ว สำหรับงานโชว์เคสระดับชาติของผลงานจากภาคการศึกษาในสาขาวิศวกรรมของประเทศไทย ทุกปีจะเห็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่บ่งชี้เทรนด์มาเปิดตัวสู่สาธารณะ มีการจัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่ให้นักศึกษารวมทั้งอาจารย์จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีแสดงผลงานที่ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา มาสู่นวัตกรรมที่ใช้งานได้ อีกทั้งหลายๆ ผลงานยังยกระดับเป็น “นวัตกรรมฝีมือไทย” ที่สามารถต่อยอดสู่การทำตลาดเชิงพาณิชย์ได้

          และสำหรับจัดงานในปีที่ 4 “วิศวะ’61 หรือ Engineering Expo 2018” ภายใต้ธีม “Business Transformation – ถอดรหัส..ความสำเร็จให้ธุรกิจในยุคดิจิทัล” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคมนี้ ณ อาคาร EH103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จะมีผลงานทั้งที่พัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใหม่ รวมถึงการปรับปรุงต่อยอดเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการจริงในยุคที่ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวรับมือDisruptive Technology มาร่วมจัดแสดงมากกว่า 50 ผลงาน จากมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่งของไทย

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นในอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ความสำเร็จของไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ โทรคมนาคม, อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT), Logistics & Transformation, พลังงานอนาคต, หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และกลุ่มอาหาร, เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

 

นวัตกรรมยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องขายได้

          รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความพิเศษของผลงานนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นงานใหม่ๆ ที่พัฒนาและปรับปรุง เป็นสิ่งที่ตรงกับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไปได้ และยังดึงภาคเอกชนเข้ามาเพื่อร่วมกันดูว่าจะต่อยอดผลงานนวัตกรรมฝีมือคนรุ่นใหม่ของไทยไปสู่แผนธุรกิจของภาคเอกชนต่างๆ ได้อย่างไร เนื่องจากมองว่างานนวัตกรรมถ้าไม่ออกไปสู่ภาคธุรกิจ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ทำแล้วก็ขึ้นหิ้ง

          "คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. หลักสูตรเราเปลี่ยนทุกปี ล่าสุดปรับปรุงให้สามารรถตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เพิ่งจัดทำขึ้น มีการฝังวิชาที่เป็นแนวทางสำคัญ เช่น บิ๊กดาต้า ระบบอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูล อยู่ในหลักสูตรพื้นฐานทุกหลักสูตร ทุกคนที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ ต้องได้เรียน Lab Robot เรียนด้านหุ่นยนต์ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก่อนเลย เพราะการแข่งขันยุคต่อไปเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแข่งขันในระบบดิจิทัล ไม่สามารถทำการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมๆ”

          นอกจากนี้ สจล. ยังกำหนดแนวทางใหม่สำหรับการทำโครงการด้านงานวิจัยและพัฒนา คือให้พัฒนาบนแนวคิดของภาคอุตสาหกรรม ต้องมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการให้ทุนส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความร่วมมือดังกล่าวอีกด้วย เพื่อให้สามารถต่อยอดทางอุตสาหกรรมได้

          ภายใต้แนวคิดนี้ มีผลงานนักศึกษาบางคนได้ต่อยอดไปสู่เชิงธุรกิจแล้ว ได้แก่ แอพพลิเคชั่น Station Alert แจ้งเตือนสถานีปลายทางที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าต้องการลง โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ โดยผู้ใช้งานเลือกสถานีที่ต้องการจะลง ระบบก็จะแจ้งเตือนล่วงหน้า 1 สถานี ทั้งแบบเป็นระบบเสียงและระบบสั่น ช่วงแรกจะเปิดให้บริการสำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ล่าสุด ได้รับความสนใจเพื่อนำไปให้บริการสำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง แต่ยังไม่มีแอพรูปแบบนี้

 

จักรยานอัจฉริยะ กับไอเดียธุรกิจ Bike sharing

          หนึ่งในผลงานนวัตกรรมฝีมืออาจารย์และนักศึกษาของ สจล. ซึ่งพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่อย่างเต็มตัวแล้ว และเตรียมเปิดตัวในงานวิศวะ’61 ก็คือ Smart Bicycle Fleet Management System หรือรถจักรยานอัจฉริยะ ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนามาจากปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และไม่มีที่จอดรถ ตัวจักรยานออกแบบพิเศษทั้งคุณภาพวัสดุ และการใช้พลังงานทางเลือก เพราะอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งภายในรถจักรยานคันนี้จะอาศัยแหล่งพลังงานจากแผ่นโซลาร์เซลล์ ที่อยู่ในตะกร้าด้านหน้าของตัวรถ และยังมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามารองรับการทำงาน

 "วิศวะ'61" เวทีโชว์นวัตกรรม(ขายได้)ฝีมือไทย

          ผศ.ดร.รณชัย ติยะรัตนาชัย วิทยาลัยนานาชาติ สจล. เล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบของสตาร์ทอัพ ชื่อว่า บริษัท จักรยานอิสระ จำกัด โดยนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ สจล. เพื่อทำตลาด T-Bike จักรยานอัจฉรยะโมเดลแรกของบริษัท และผลิตภัณฑ์ต่อยอดอื่นๆ ที่จะพัฒนาขึ้นมาเพิ่มเติม อีกทั้งมีการจ้างงานให้นักศึกษารุ่นน้องมาช่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างรุ่น และฝึกการทำงานจริงระหว่างเรียน ที่สำคัญเป็นการผลักดันนวัตกรรมจากผลงานวิจัยออกไปสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

          “T-Bike เป็นระบบ Bike Sharing อำนวยความสะดวกในการจัดการเช่ายืมจักรยานผ่านแอพชื่อว่า T-Bike ที่เตรียมเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะช่วยการยืมจักรยานมีความสะดวก ลดการใช้สถานีจอดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยการเช่ารถเริ่มตั้งแต่กระบวนการสั่งจ่ายเงินเพื่อเช่าจักรยาน ทั้งหมดจะทำได้ผ่านแอพบนมือถือ เมื่อมีการอนุมัติก็จะสามารถปลดล็อครถจักรยานออกจากแท่นจอดได้ และเมื่อใช้บริการเรียบร้อยแล้วก็นำจักรยานมาจอดที่แท่นจอดและล็อคผ่านแอพได้เลย

 "วิศวะ'61" เวทีโชว์นวัตกรรม(ขายได้)ฝีมือไทย

          ทั้งนี้ เนื่องจากตัวรถจักรยานต้องได้รับการออกแบบพิเศษเพื่อคุณภาพความคงทน และใช้งานกับอุปกรณ์ล็อคอัจฉริยะได้ โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เป็นผู้ออกแบบ และบริษัท แอลเอไบค์ เป็นผู้ผลิตจักรยานต้นแบบ ปัจจุบันได้รับคำสั่งซื้อล็อตแรกแล้ว

          “แม้ว่า T-Bike อาจไม่ใช่ระบบ bike sharing ที่แรกของโลก แต่เรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้เองให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา เราจะพยายามทำให้ระบบนี้แก้ปัญหาที่ bike sharing อื่นจากต่างประเทศ ที่ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย”

 

นวัตกรรมที่น่าจับตามอง-รอขายจริง

          ภายในงานวิศวะ’61 ยังมีผลงานเด่นที่อยู่ในขั้นตอนต่อยอดการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับเยาวชน คุณภาพชีวิตสำหรับสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ รวมถึงตอบรับเทรนด์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ผศ.ดร.พิกุลแก้ว ตังติสานนท์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัย และนวัตกรรม ของ สจล. กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กครบวงจร ที่สามารถตรวจวัดความผิดปกติทางชีวภาพของเด็กได้ รวมทั้งการตรวจวัดระดับความมีสมาธิในการเรียน

          “สายรัดข้อมือเพื่อวัดระดับสมาธิในการเรียน โดยใช้แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนกรณีฉุกเฉิน เบื้องต้นพัฒนาขึ้นเพื่อแจ้งเตือนเมื่อผู้สวมใส่เกิดความผิดปกติทางชีวภาพ เช่น หากสัญญาณอัตราการเต้นของหัวใจมีค่าต่ำหรือสูงกว่าปกติมากเกินไป หรือเกิดเป็นลมกะทันหันระหว่างการเดินทางมาโรงเรียน สายรัดข้อมือจะส่งสัญญาณไปยัง Server จากนั้น Server จะทำการส่งข้อมูลความผิดปกติไปยังสมาร์ทโฟนของผู้สวมใส่ เพื่อทำการโทรออกไปยังเบอร์ผู้ปกครองโดยอัตโนมัติ และทำการปล่อยเสียงไซเรนจากลำโพง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้คนรอบข้างให้ตระหนักว่า มีคนป่วย และเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น

          อีกทั้งสายรัดข้อมือนี้ ยังสามารถวัดระดับความมีสมาธิ เมื่อผู้สวมใส่เข้าสู่ภาวะความมีสมาธิก็จะมีข้อความแสดงว่าในขณะนี้ผู้สวมใส่เริ่มมีสมาธิแล้ว และสามารถเปิดดูประวัติอารมณ์ของผู้สวมใส่ได้โดยมีการเก็บวันเวลาและค่าทางชีวภาพ ทั้งนี้ มีการทำวิจัยแล้วพบว่า การทำสมาธิ จะช่วยให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น เครื่องนี้จะทำการตรวจจับว่าเด็กมีสมาธิแค่ไหน ระหว่างนั่งสมาธิเป็นอย่างไร หรือระหว่างอ่านหนังสืออยู่มีสมาธิแค่ไหน โดยจะวัดระดับออกมาได้ อีกทั้งเตรียมพัฒนางานไปสู่ขั้นสูงขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) เข้ามาช่วยในการตรวจวัด เนื่องจากสมาธิของแต่ละคนไม่เท่ากัน

 "วิศวะ'61" เวทีโชว์นวัตกรรม(ขายได้)ฝีมือไทย

          “เรากำลังคุยกับทางโรงงานผลิต เพื่อออกแบบการผลิตอุปกรณ์ให้มีขนาดเล็กลง สวมใส่ได้สะดวก เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ปกครอง อุปกรณ์นี้จะมีเซ็นเซอร์ในการตรวจจับและเก็บข้อมูล โดยเราพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ในการทำงานขึ้นมาเอง"

          นายปริญญา สิงห์พิทักษ์ นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เจ้าของผลงานจานใบไม้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบภายใต้แนวคิดการผลิตภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ สร้างคุณค่าให้กับวัตถุดิบที่ใช้ ด้วยการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

 "วิศวะ'61" เวทีโชว์นวัตกรรม(ขายได้)ฝีมือไทย

          “ก่อนหน้านี้ ผมกับเพื่อนทำโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องขึ้นรูปจานใบไมั จนได้เป็นเครื่องที่ใช้งานได้จริงออกมา โดยการใช้ใบไม้ผลิตเป็นภาชนะด้วยกระบวนการอัดขึ้นรูปร้อน และการใช้แรงกดอัดด้วยความดันจากกระบอกสูบลมกับอุณหภูมิ ร่วมกับการใช้ PLA ที่เป็นไบโอพลาสติกสามารถย่อยสลายได้มาเป็นวัสดุประสานระหว่างกัน จึงได้ภาชนะที่มาจากวัสดุจากธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้ แต่ผมต้องการต่อยอดจึงเริ่มพัฒนามาสู่การผลิตจานที่ทำจากใบไม้ ได้แก่ ใบสัก และใบบัว เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย และโดยเฉพาะใบบัวมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ เหมาะกับการทำภาชนะที่ใช้งานได้จริง

//////

จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล๊อก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ