ข่าว

สตช.แก้ประกาศรับสมัครตร.ให้สิทธิเฉพาะชาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุณหญิงทิพาวดี ชี้ คำสั่งรับสมัครสอบตร.เฉพาะชาย ขัด รธน.-กม.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จี้ให้แก้ไข พร้อมตอบสาระ ร่างกฎหมายตำรวจ ไม่บัญญัติปมกีดกันด้านเพศ

 

         รามาการ์ เด้นท์ - 3 สิงหาคม 2561 - "คุณหญิงทิพาวดี" ชี้ คำสั่งรับสมัครสอบ ตร. เฉพาะชาย  ขัด รธน. -กม. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จี้ให้แก้ไข พร้อมตอบสาระ ร่างกฎหมายตำรวจ ไม่บัญญัติปมกีดกันด้านเพศ เหตุมีอันตราย หวั่นได้คนตรงเพศ แต่ไร้ความสามารถไปทำงาน ย้ำการรับสมัครข้าราชการ ควรยึดความรู้-ความสามารถเป็นหลัก

          ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรี พร้อมองค์กรภาคี จัดเวทีสัมมนา เรื่อง "การเมืองเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ" พร้อมเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธษน เพื่อแก้ปัญหาการกีดกันเพศหญิงเข้ารับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังมีประกาศรับสมัครสอบเข้ารับราชการตำรวจสัญญาบัตรคุณวุฒิเนติบัณฑิต เพื่อทำหน้าที่สายงามสอบสวน ที่จำกัดการรับสมัครเฉพาะเพศชายเท่านั้น

       สตช.แก้ประกาศรับสมัครตร.ให้สิทธิเฉพาะชาย

           โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์  กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่าหลังจากทราบประกาศของสตช.ที่รับสมัครสอบเข้ารับราชการตำรวจสัญญาบัตรคุณวุฒิเนติบัณฑิต เพื่อทำหน้าที่สายงานสอบสวน เฉพาะเพศชาย ตนนำเข้าที่ประชุมกรรมการฯ  และเล่าให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการฯ ฐานะอดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคำตอบที่ได้ คือ ประกาศรับสมัครสอบที่จำกัดเฉพาะเพศชาย ขัดกับรัฐธรรมนูญ  ขณะที่ความเห็นของตน มองว่า การประกาศรับสมัครสอบ หรือแข่งขันต้องยึดความรู้ ความสามารถ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร ขณะเดียวกันการดำรงตำแหน่งข้าราชการ ควรยึดระบบคุณธรรม ที่มีหัวใจคือ หลักความสามารถ ดังนั้นการเปิดรับสมัครข้าราชการ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้านการประกอบอาชีพ การระบุหรือจำกัดเพศ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย ว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มาตรา 17 

สตช.แก้ประกาศรับสมัครตร.ให้สิทธิเฉพาะชาย

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงดังกล่าวตัวแทนนักการเมืองและภาคประชาชนที่ร่วมเวที ตั้งคำถามถึงการกีดกันทางเพศในด้านอาชีพ และเสนอเพื่อให้บัญญัติไว้ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ด้วยว่า การรับสมัครหรือดำรงตำแหน่งใดในหน่วยงาน ให้คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศชาย กับ หญิง หรือ บัญญัติ ห้ามปิดกั้นเพื่อเพศสภาพ เพื่อไม่ให้บุคคลไม่ว่าอยู่ในเพศใดถูกจำกัด โดยคุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า การกำหนดโควต้าไว้ในกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีข้อดีและข้อเสีย เพราะกรณีแต่งตั้งบุคคลยึดตามโควต้า ชาย และหญิงนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะอาจได้บุคคลที่ตรงเพศแต่ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ และเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานอาจตกเป็นเครื่องมือของบุคคลได้ง่าย. ดังนั้นสิ่งที่ต้องต่อสู้ร่วมกันเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ต้องปรับแนวคิดใหม่ เป็นการสร้างความยอมรับด้านความรู้ ความสามารถ มากกว่ายึดเรื่องเพศเป็นหลัก
           คุณหญิงทิพาวดี กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ที่จัดทำแล้วเสร็จเบื้องต้น มีหลักการปฏิรูปที่สำคัญ คือ กำหนดว่าพนักงานสอบสวน ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการตำรวจ เพราะเนื้อหาร่างกฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอิสระ และมีความมืออาชีพ ขณะที่ผู้บังคับบัญชางานสอบสวน ต้องเป็นผู้ที่ดูแลและรับผิดชอบโดยตรงเพื่อแก้ปัญหากรณีที่มีผู้มีอำนาจแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงรูปคดี 

 

 

 

            สตช.แก้ประกาศรับสมัครตร.ให้สิทธิเฉพาะชาย

ขบวนการสตรี จ่อยื่น "ผู้ตรวจฯ" เอาผิด คนออกประกาศรับสมัครสอบ ตร. เฉพาะเพศชาย ชี้สาระขัดรธน.-กม.เท่าเทียมระหว่างเพศ  ด้าน "รัชดา" ชี้จำกัดเพศหญิงเป็น พนง.ตร. เพราะขาดวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาภัย-ความรุนแรงต่อเพศหญิง ส่วน "ตัวแทนพนง.สอบสวนหญิง" ยอมรับปัญหาระหว่างทำงาน แนะต้องหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพ

            สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี จัดเสวนา เรื่อง "การเมืองเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ : กรณี สตช. ไม่รับเนติบัณฑิตหญิงเป็นพนักงานสอบสวน" โดยมีตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรต่อสู้เพื่อผู้หญิง , นักการเมืองและตัวแทนตำรวจหญิง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและนำเสนอแนวทางที่จะยื่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อทบทวนต่อประกาศสมัครสอบข้าราชการตำรวจสัญญาบัตร คุณวุฒิเนติบัณฑิต เพื่อทำหน้าที่สายงานสอบสวน เฉพาะเพศชาย

            โดยน.ส.ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ตัวแทนนักการเมือง จากพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้มีกระบวนการเคลื่อนไหวและกดดันให้ ประกาศรับสมัครสอบดังกล่าว เป็นโมฆะ แม้ขณะนี้จะปิดรับสมัครสอบแล้ว เนื่องจากคำประกาศดังกล่าวพบเนื้อหาที่ขัดต่อหลักสิทธิ และความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 โดยส่วนที่ต้องร่วมเคลื่อนไหวสำคัญ​คือ ภาคการเมือง และองค์กรสตรีภายนอกหน่วยงาน สตช. ต้องช่วยกันทำหนังสือไปยังหน่วยงาน อย่าปล่อยให้พนักงานสอบสอบสวนต้องดำเนินการเอง เพราะมีส่วนบังคับบัญชาที่กำกับการทำหน้าที่ แต่หากสตช. ยังนิ่งเฉย จำเป็นต้องทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ฐานะผู้กำกับดูแล สตช. เพื่อให้พิจารณา

            สตช.แก้ประกาศรับสมัครตร.ให้สิทธิเฉพาะชาย

            ขณะที่น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ตัวแทนนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าประกาศของสตช. ต่อการรับสมัครสอบดังกล่าว อาจเป็นเพราะความไม่รู้กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมองให้เห็นว่า สตช. หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้นขาดวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรง ทั้งที่ในทางสากลเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงเพื่อหวังให้แก้ปัญหา เช่น ประเทศบราซิล , ประเทศอินเดีย ที่มีปัญหาความรุนแรงกับผู้หญิง วิธีแก้ปัญหาคือ เพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ในพื้นที่ รวมถึงริเริ่มให้มีพนักงานตำรวจหญิงในสถานีต่างๆ  หรือในบางสถานีตำรวจมีพนักงานตำรวจเป็นผู้หญิงทั้งหมด เพื่อเป้าหมายแก้ป้ญหาการใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง หรือเพศหญิงตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

            "ประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนหญิง ประมาณ 400 คน จากตำแหน่งกว่า 10,000 ตำแหน่ง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำกับคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ถูกต้อง และขัดรัฐธรรมนูญนั้น ควรใช้ช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยคำประกาศของสตช. ดังกล่าว อย่างน้อยเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่า ไม่ว่าหน่วยงานรัฐ ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรเอกชน หากจะกีดกันการสมัครงานเพราะเพศสภาพ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้สำนักงานกิจการสตรี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้แสดงบทบาทต่อการพิทักษ์สิทธิและความเสมอภาคของสตรี และต้องไม่ทำบทบาทดังกล่าวเฉพาะ สตช. เท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกหน่วยงาน" น.ส.รัชดา กล่าว 

            ขณะที่พ.ต.ท.หญิง เพชรรัตน์ เลิศวานิช สารวัตรสอบสวน สน.บางพลัด ฐานะตัวแทน ชมรมพนักงานสอบสวนหญิง กล่าวว่าการประกาศรับสมัครสอบฯ  ที่มีข่าวระบุว่า รับเฉพาะเพศชาย ตนไม่แน่ใจว่าเป็นเชิงนโยบายหรือกาารให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการแถลง เพราะโดยปกติการเปิดรับสมัครสอบฯ จะไม่ระบุหรือจำกัดว่าเป็นเพศใดเท่านั้น ขณะที่การทำงานภายใน สตช. ที่เปิดรับสมัครพนักงานสอบสวน เพศหญิง ตั้งแต่ พ.ศ. 2538  พบว่าการทำงานของพนักงานสอบสวนหญิงมีปัญหาและอุปสรรค เพราะถูกคาดหวังจากผู้ชายว่าต้องมีความละเอียดและรอบคอบที่สูงกว่า  แต่บางเรื่องต้องให้ความเท่าเทียมระหว่างการทำงาน เช่น การปฏิบัติหน้าที่ พื้นที่วิกฤต หรือเหตุการณ์อันตราย  เป็นต้น ดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ควรปรับเป้าหมายเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเน้นการอบรมเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเวทีเสวนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี พร้อมองค์กรภาคี ที่ร่วมงาน อาทิ ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศ, เจนเดอร์ โพลิติกส์ กรุ๊ป และผู้ร่วมเสวนามีความเห็นร่วมกันว่าจะทำหนังสือไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่พิทักษ์ด้านความเสมอภาค ให้ตรวจสอบการออกประกาศสมัครสอบเข้ารับราชการตำรวจสัญญาบัตร คุณวุฒิเนติบัณฑิต เพื่อทำหน้าที่สายงานสอบสวน เฉพาะเพศชาย ว่า เข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงปฎิญญาสากลที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่ ขณะเดียวกันขอเรียกร้องไปยัง สตช. ให้แก้ไขคำประกาศรับสมัครสอบดังกล่าวฯ เพราะผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าประกาศดังกล่าวมีความไม่ชอบตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นในการรับสมัครข้าราชการตำรวจของสตช. ควรกำหนดให้ชัดเจนต่อการบรรจุพนักงานเพศหญิงให้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจทุกสถานี และเพื่อส่งเสริมและยกระดับเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจด้านความเสมอภาคด้านเพศ ต้องจัดอบรมพนักงานทุกเพศสภาพให้ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน แต่ในท้ายสุดหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉย องค์กรที่เกี่ยวข้องอาจต้องยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ และเคลื่อนไหวผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ