ข่าว

อัยการนัด สั่งคดีล้มบอลไทยลีก ครั้งแรก 24 เม.ย.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รอง อธ.อัยการคดีอาญา" ขอทำคดีเป็นบรรทัดฐาน ชี้ล้มบอลทำวงการกีฬาตกต่ำ ไทยไปไม่ถึงบอลโลก พร้อมตั้ง 6 คณะทำงานมือดีที่สุดผ่านคดีอาญาใหญ่ฆ่าหั่นศพทำคดี

 

          ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 13 มี.ค.61 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีขบวนการล้มบอลล็อคผลสกอร์การแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทย ลีก2017 พร้อมคณะกว่า 10 คน ได้นำสำนวนการสอบสวน พร้อมพยานหลักฐาน 10 แฟ้ม รวม 3,000 แผ่น ซึ่งได้สอบสวนผู้ต้องหา 16 รายและพยาน 68 ปาก และความเห็นสมควรฟ้องผู้ต้องหากลุ่มนายทุนพนัน , นักฟุตบอล และกรรมการตัดสินกับผู้ช่วยผู้ตัดสิน รวม 15 ราย ในความผิดร่วมกันล้มบอลและร่วมกันสนับสนุนล้มบอล ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งมีโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพทำการล้มกีฬา ตามมาตรา 64 , ฐานเป็นผู้ใดเรียกรับทรัพย์เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่นฯ มาตรา 65 , ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน เพื่อจูงใจให้การตัดสินไม่เที่ยงธรรม มาตรา 66 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานเป็นผู้ตัดสินเรียกรับทรัพย์สินฯ มาตรา 67 ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความเห็นควรไม่ฟ้อง 1 ราย มาส่งมอบให้ นายพรชัย ชลวาณิชกุล รองอธิบดีสำนักงานคดีอาญา เพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป

 

          โดยวันนี้ผู้ต้องหาทั้งหมด ที่ได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ก็ได้เดินทางมารายงานตัวกับอัยการครบถ้วน ขณะที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 6 ผู้รับผิดชอบสำนวน ให้ผู้ต้องหาทั้งหมด มารายงานตัวครั้งแรกเพื่อฟังคำสั่งคดี ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

 

          ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวว่า การดำเนินคดีนี้ก็เป็นไปตามที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร้องทุกข์ ถือเป็นคดีแรกของประเทศไทยที่เราสามารถรวบรวมพยานหลักฐานและส่งให้อัยการได้ภายหลังที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 

 

          ซึ่งพนักงานสอบสวนดำเนินการอย่างเต็มที่โดยไม่ได้เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ซึ่งกีฬาฟุตบอลมีมานานแล้ว และเป็นที่เคลือบแคลงใจกันมาตลอด 20-30 ปี การล้มบอลนั้นทำให้เจ้าของสโมสรเสียหาย ซึ่งเขาไม่มีโอกาสรู้เลยว่านักฟุตบอล หรือผู้รักษาประตู หรือนักกีฬาคนใดคนหนึ่งจะมีส่วนร่วมในการโกงหรือล้มบอล สิ่งที่ตำรวจพยายามรวมรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วกล้าดำเนินคดี ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

 

          ด้าน พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผช.ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีล้มบอล กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ สำหรับสำนวนถือว่าสมบูรณ์ครบถ้วนสามารถยืนยันผู้ต้องหาได้ทุกคน โดยพนักงานสอบสวนก็ได้ปรึกษาการหาพยานหลักฐานคดีนี้กับพนักงานอัยการ จนทำให้คดีนี้มีความสมบูรณ์แล้ว จึงนำสำนวนคดีมาส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี

 

          โดย นายพรชัย ชลวาณิชกุล รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นคดีแรกเลยของเมืองไทย และยังเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะกระทบกระเทือนต่อการพัฒนาวงการกีฬาของประเทศไทย และยังทำให้ภาพลักษณ์ในวงการกีฬาตกต่ำ โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็ผู้กล่าวหาในคดีนี้เอง ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อต้องการป้องกันและปราบปรามล้มกีฬา หมายถึงการแกล้งแพ้ในการแข่งขันกีฬา และกระทำการหรือไม่กระทำการในการแข่งขันกีฬาด้วยเจตนาทุจริตคือการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรชอบโดยผิดกฎหมายเพื่อตัวเองหรือผู้อื่น และการแข่งขันกีฬาโดยสมยอมกันซึ่งมีการกำหนดผลการแข่งขันกีฬาไว้ล่วงหน้า หรือล็อคสกอร์

 

          อย่างไรก็ดี เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่แรกซึ่งตำรวจและอัยการก็ไม่เคยทำ แต่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะเราได้ดำเนินการร่วมกันในการสอบสวนหาพยานหลักฐานจนมีความเชื่อมั่นเรื่องเหตุจูงใจว่า มาจากเรื่องสินพนัน ที่ได้เตรียมการติดต่อนักฟุตบอล , ผู้ตัดสิน จนสู่การล้มบอล ขณะที่มีเส้นทางการเงินและเส้นทางกระทำผิดเชื่อมโยงกัน โดยหลังจากได้รับสำนวนแล้วเราก็จะตรวจดูสำนวนให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง ถ้ายังไม่พอเราก็จะให้สอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งการกระทำในคดีนี้มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มทุนการพนัน คือ กลุ่มที่อยากได้สินพนันให้มาร่วมลงขันกันแล้วเตรียมการวางแผนไปจ้าง ซึ่งครั้งแรกไม่สำเร็จ ก็ขยายผลอีก โดยการแข่งขันมี 5 แมตช์แข่งขัน 2.กลุ่มนักฟุตบอล ที่ประสงค์จะได้รับค่าจ้างในส่วนตรงนี้ 3.ผู้ตัดสิน ดังนั้นการกระทำจึงต้องแยกส่วนว่า ใครคือผู้ให้ ใครคือผู้รับ โดยความผิดการล้มบอลคดีนี้ มีเพียง 4 มาตรา ซึ่งหากเป็นผู้ให้-ผู้รับ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้ตัดสินเรียกรับเองโทษจะหนักขึ้นคือ จำคุกตั้งแต่ 1 -10 ปี ปรับ 300,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          "คดีนี้มีการเตรียมการ มีการวางแผน มีการกระทำผิดโดยมีเส้นทางการเงินแสดงให้เห็นว่าเข้ามาสู่คนที่กระทำผิด จึงทำให้เราเห็นว่าคดีมีความชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดีจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดคดีมากกว่านี้ แต่ให้เห็นภาพกว้างเพียงเท่านี้เพราะเกรงจะทำให้เสียรูปคดีได้" นายพรชัย รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวและว่า ในส่วนการทำงานของอัยการ ได้ตั้งคณะทำงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 6 รับผิดชอบสำนวนคดีรวม 5-6 คน โดยมี นายอธึก คล้ายสังข์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งการรวมอัยการชุดนี้ถือว่าเป็นชุดดีที่สุดเพราะเคยผ่านคดีใหญ่สำคัญ เช่น การฆ่าหั่นศพชาวสเปนด้วยกันที่ส่งฟ้องศาล กระทั่งศาลมีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตมาแล้ว ทั้งนี้ในส่วนของผู้ต้องหานั้นอัยการจะกำหนดนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวแบบเดือนต่อเดือนเพื่อรอฟังผลการสั่งคดี ซึ่งอัยการก็จะดำเนินให้รวดเร็ว และรอบคอบที่สุด เพราะคดีนี้ถือว่ากระทบต่อวงการกีฬาไทย

 

          "จากคดีนี้ผมอยากสร้างบรรทัดฐานให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าปัจจุบันกีฬาฟุตบอลที่เป็นกีฬานิยมของคนไทยเรา ถ้าเราให้ปล่อยให้มีการกระทำผิดแบบนี้ ภาพลักษณ์ของฟุตบอลไทยจะตกต่ำย่ำแย่ โอกาสที่จะไปฟุตบอลโลกผมว่าไม่มีหรอก ดังนั้นผมอยากทำให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง คนที่ทำผิดต้องได้รับโทษจริงและศาลอาจมองเหมือนเราก็ได้ว่าลงโทษแบบเฉียบขาด เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างแบบคดีอื่น" นายพรชัย รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าว

 

          ทั้งนี้ นายพรชัย รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวในตอนท้ายถึงสิทธิการร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาด้วยว่า หากผู้ต้องหาเห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเห็นว่าควรจะให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก็สามารถยื่นคำร้องให้พนักงานอัยการได้ ขณะที่ผลการสั่งคดีของอัยการนั้นอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับพนักงานสอบสวนก็ได้

 

          เมื่อถามว่านอกจากคดีล้มบอลนี้แล้ว ตำรวจจะมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอื่นๆ เป็นสำนวนคดีที่ 2 หรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ที่ดำเนินคดีได้ คือ ไทยลีก 1 หรือ T 1 โดยเชื่อว่าหลังจากเราทำลีกใหญ่แล้วลีกเล็กเขาก็ต้องระมัดระวังตัวขึ้นแต่หากมีการแข่งขันนัดใดมีข้อมูล เราก็จะดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่าต่อไปนี้เรื่องล้มกีฬาคงน้อยลง และอาจจะไม่มี ขณะที่พวกสปอร์ต หรือไลน์แมนเขาก็จับตาดูกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแต่ตำรวจ และสมาคมฯเองก็มี โดยราได้บูรณาการแล้วในการทำสำนวนตำรวจกับอัยการเพียงให้เป็นแนวทิศทางเดียวกัน

 

          เมื่อถามว่า คดีนี้ ผบ.ตร. ให้ความสำคัญ มาดูแลเอง จะแสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นในการดำเนินคดีโดยไม่คำนึงถึงผู้มีอิทธิพลหรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า "อิทธิพลเราไม่กลัว เราไม่ได้กลัวผู้มีอิทธิพล ถ้ากลัวเราคงไม่กระทำคดี และไม่ใช่เฉพาะแต่กีฬาฟุตบอล อาจมีกีฬาประเภทอื่นก็ได้ เราไม่ได้กลัวเกรงอิทธิพลใดๆ"

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 16 รายนั้น แบ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มผู้ตัดสิน 2 ราย ได้แก่ 1.นายภุมรินทร์ คำรื่น อายุ 31 ปี ผู้ตัดสินฟีฟ่า 2017 และ2.นายธีรจิตร หรือเก๋ สิทธิศุข อายุ 43 ปี ผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือไลน์แมน

 

          นักฟุตบอลอาชีพ 8 ราย ได้แก่ 1.จ.ท.สุทธิพงษ์ เหลาพร อายุ 28 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี 2.นายณรงค์ วงษ์ทองคำ อายุ 36 ปี ผู้รักษาประตูราชนาวี เอฟซี 3.จ.ท.สุวิทยา นำสินหลาก อายุ 26 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี 4.จ.อ.เสกสันต์ หรือเสก ชาวทองหลาง อายุ 35 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี 5.นายวีระ เกิดพุดซา อายุ 33 ปี ผู้รักษาประตูนครราชสีมา มาสด้าเอฟซี 6.ส.อ.ธีรชัย งามเจริญ อายุ 35 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี 7.นายทศพร เขม็งกิจ อายุ 33 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี 8.นายเอกพันธ์ จันดากรณ์ อายุ 32 ปี อดีตนักเตะศรีสะเกษ เอฟซี 

 

          กลุ่มนายทุน (พนัน) หรือตัวแทนนายทุน 6 ราย ได้แก่ 1.นายเชิดศักดิ์ หรือจ่อย บุญชู อายุ 46 ปี ผู้อำนวยการสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี 2.นายวัลลภ สมาน อายุ 46 ปี 3.นายกิตติภูมิ หรือเด่น ปาภูงา อายุ 31 ปี อดีตนักเตะ 4.นายมานิตย์ หรือเศรษฐปสิทธิ์ หรือป้อม โกมลวัฒนะ อายุ 48 ปี 5.นายภาคภูมิ หรือแบงค์ พันธ์นิกุล อายุ 32 ปี และ 6.นายกันตพัฒณ์ ศรีรัตนโชติ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ