ข่าว

แนะ รมต.ออกประกาศกำหนดสัตว์ในธรรมชาติ ใน กม.ทารุณสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โฆษกศาลปกครอง" แจงข้อกฎหมาย ตร.ถูกภาคทัณฑ์คดีเปรมชัย หากอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นผล ยื่นฟ้องศาลได้ พร้อมชี้ช่อง รมต.ออกประกาศกำหนดห้ามทารุณสัตว์ในกฎหมายได้

 

          8 มี.ค. 61 - นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง ได้ให้ความเห็นกรณีที่พนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ คดีนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารบริษัทอิตาเลียนไทย ถูกสั่งภาคทัณฑ์ หลังจากครั้งแรกรับแจ้งความข้อหาตามกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ แต่ภายหลังมีการถอนแจ้งความโดยเห็นว่ากรณียังไม่เป็นความผิดการทารุณกรรม ว่า คำสั่งภาคทัณฑ์ของผู้บังคับบัญชาในเชิงลงโทษนั้น ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง ที่สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองได้ เพราะลักษณะการสั่งภาคทัณฑ์นั้นถือเป็นบทลงโทษเพียงแต่เบาสุด ส่วนที่จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าการออกคำสั่งนั้นชอบหรือมิชอบ สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ผู้ถูกออกคำสั่งหรือไม่ อย่างไร ถ้าหากเป็นคดีเข้าสู่ศาลก็จะได้วินิจฉัยต่อไป แต่ทั้งนี้ตามกระบวนการก่อนที่คดีจะเริ่มเข้าสู่ศาลได้ ผู้ถูกออกคำสั่งทางปกครองนั้นต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภาคทัณฑ์ของผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานตามขั้นตอนก่อน หากผลอุทธรณ์คำสั่งภายในหน่วยงานไม่เป็นผลแล้ว จึงนำคดีมายื่นฟ้องได้

          เมื่อถามถึงทัศนะในฐานะนักกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ว่าควรที่จะต้องปรับแก้หรือไม่ จากกรณีที่เสือดำถูกฆ่าตายซึ่งพบบาดแผลรอยกระสุนหลายแห่งจนสังคมเกิดกระแสวิจารณ์ว่าเหตุใดไม่แจ้งความตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและกานจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เพราะจะมีโทษที่เพิ่มขึ้นอีก นายประวิตร ในฐานะนักกฎหมายคดีปกครอง กล่าวแสดงความเห็นส่วนตัวว่า กรณี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายเฉพาะที่เป็นส่วนของคดีอาญาที่จะต้องดำเนินไปตามกระบวนการ ส่วนที่ว่าจะเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องตีความตามบทบัญญัติกฎหมายกันไป 

          นายประวิตร กล่าวอีกว่า ส่วนที่บางคนวิจารณ์ตีความ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เป็นการคุ้มครองสัตว์บ้าน ไม่ใช่สัตว์ป่า ดังนั้นจึงควรที่จะแก้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในเรื่องของการฆ่าอย่างทารุณ หรือไม่ จากที่ได้ดูบทบัญญัติ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 3 "สัตว์" หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 

          ดังนั้นหากกฎหมายกำหนดเช่นนี้ รัฐมนตรีก็มีอำนาจออกประกาศกำหนดถึงสัตว์ในธรรมชาติได้ ไม่ต้องไปแก้กฎหมายคุ้มครองและสงวนสัตว์ฯ ซึ่งหากออกประกาศรวมถึงสัตว์ในธรรมชาติแล้ว ก็มีผลทำให้การทารุณสัตว์ในธรรมชาติมีความผิดตามกฎหมายนี้ โดยในอนาคตก็บังคับใช้ปฏิบัติได้ในเชิงการป้องกันและการคุ้มครองการทารุณสัตว์ในธรรมชาติได้.

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ