ข่าว

ก้าวศักราชใหม่ ศาลยุติธรรม ลุย!! คุ้มครองสิทธิแพ่ง-อาญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เลขาธิการศาลยุติธรรม” เผย แพ่งเน้นช่วยคนจนงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล ส่วนแพ่งสัญญาโครงการใหญ่ ผ่านระบบอนุญาโตฯได้รับความเชื่อถือ 17 ปีดูแลคดีสำเร็จ นับ 8 แสนล้าน

         3 ม.ค.61 - “นายสราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงแผนบริหารศาลยุติธรรม ปีศักราชใหม่ 2561 ว่า ในกระบวนการศาล ทั้งส่วนของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลย จะดูแลเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงความยุติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญฯ บอกไว้ ส่วนหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์มาก ก็คือระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีที่จะทำอย่างไรให้มีช่องทางทำให้การตกลงเกิดขึ้นได้ เพราะว่า 1.ถ้าตกลงกันได้ในชั้นต้น ก็ลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลด้วย 2.ถ้าเขาพอใจทั้งสองฝ่าย คดีที่จะขึ้นไปสู่ศาลสูงก็ลดน้อยลง นี่ก็เป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาล และผลที่ประชาชนได้รับคือความพึงพอใจที่ตกลงกันเองซึ่งคือยุติธรรมทางเลือก  เพราะถ้าให้ศาลตัดสินจะมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ 

         ขณะที่เรื่องข้อสัญญาและการค้านั้น เราก็มีสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (TAI) ซึ่งมีผู้พิพากษาจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้อำนวยการบริหาร ดูแลกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่งโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ก็ได้รับความเชื่อถือจากคู่กรณี โดยปี 2560 มีคดีอยู่ระหว่างดำเนินการ 310 คดี มูลค่า 30,900 ล้านบาทซึ่งเสร็จไป 134 คดี ส่วนในปี 2559 คดีดำเนินเสร็จสิ้นไป 103 คดี ทุนทรัพย์ 40,129 ล้านบาท , ปี 2558 ทุนทรัพย์ 86,191 ล้านบาท โดยย้อนไปเมื่อเริ่มดำเนินสถาบันฯ ครั้งแรกรับเพียงเดียวเท่านั้นมูลค่าเริ่มต้น 12 ล้านบาท แต่ถ้านับรวมตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันคดีที่รับทั้งหมด 2,337 เรื่อง เสร็จแล้ว 2,045 เรื่อง ทุนทรัพย์ที่พิจารณาแล้วทั้งหมด 838,081,700,223 บาท ก็ถือว่าสำเร็จ 

         อีกส่วนคือคดีแพ่งทั่วไปที่พยายามจะทำให้ระบบการงดเว้นค่าธรรมเนียมศาล กรณีที่ประชาชนยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมศาลมีประสิทธิภาพ อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นเราก็จะปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น จะทำให้ศาลสามารถพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็ว เพราะการจะพิจารณางดเว้นค่าธรรมเนียมศาลก็ขึ้นกับข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง โดยปัญหาส่วนหนึ่งประชาชนก็อาจจะขาดข้อแนะนำจากทนายความ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย 

        “สิ่งที่ศาลกำลังทำคือ คดีที่มีทุนทรัพย์เล็กๆน้อยๆ จะทำอย่างไรให้กระบวนพิจารณาเรียบง่ายและรวดเร็ว เป็นไปอย่างง่ายดาย อย่างคดีผู้บริโภคก็จะมีเจ้าพนักงานคดีคอยช่วยเหลือประชาชนในการยื่นฟ้องด้วย หรืออย่างคดีแรงงานก็เช่นกัน ผู้ใช้แรงงานที่มีข้อพิพาทกับนายจ้างเราก็มีนิติกรคอยช่วยเหลือ โดยนิติกรหรือเจ้าพนักงานคดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและไม่มีเงินจ้างทนายความด้วย”

         นอกจากนี้การเสริมศักยภาพกระบวนการทางศาล ก็จะเน้นสร้างความเชี่ยวชาญผู้พิพากษาตามนโยบายข้อ 2 ของ “นายชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา ในการจะพัฒนาศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการด้วยการส่งเสริมให้มีการศึกษา-ฝึกอบรมทั้งใน-ต่างประเทศด้วย เช่นการค้าระหว่างประเทศ เรื่องล้มละลาย เรื่องภาษี ก็เป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเป็นมาตรฐานสากล เพราะประเทศไทยไม่ได้ตัดสินคดีข้อพิพาทเฉพาะคนไทยด้วยกัน  แต่บางครั้งมีคดีพิพาทที่ชาวต่างชาติมาลงทุนในไทยด้วย มาตรฐานของผู้พิพากษาที่ตัดสินก็ต้องมีความรู้ ซึ่งการฝึกอบรมเริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจนถึงเป็นผู้พิพากษาอาวุโส รวมทั้งเวลามีกฎหมายใหม่ออกมา สำนักงานศาลฯก็จะจัดข้อมูล รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาเพื่อให้ผู้พิพากษาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร

         ขณะที่ในอนาคต จะนำเทคโนโลยีมาใช้บันทึกภาพและเสียงที่สามารถถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องมาใช้กำกับดูแลการขอหมายค้น หมายจับกุม การชี้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพราะสภาพทางกายภาพของประเทศในบางพื้นที่ศาลอยู่ในที่ตั้งของจังหวัดหรืออำเภอที่อยู่ห่างไกล ซึ่งศาลไม่ได้มีตั้งอยู่ในทุกอำเภอ ดังนั้นกระบวนการตรงนี้ไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น เวลาจะขอออกหมายค้น หมายจับ อาจจะต้องเดินทางไกลเข้ามาที่ศาล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ