ข่าว

ระทึก !!วันนี้ ศาลตัดสินคดีขบวนการค้ามนุษย์'โรฮิงญา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญานัดตัดสินคดีประวัติศาสตร์ คดีขบวนการค้ามนุษย์'โรฮิงญา' จำเลย 103 คน หลังจากสืบพยานนาน 2 ปี

              ลุ้นยกแรก แผนกคดีค้ามนุษย์ศาลอาญา นัดพิพากษาชี้ชะตา “โกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล – พล.ท.มนัส คงแป้น” – ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา หลังอัยการยื่นฟ้องปี 58 รวม 103 ราย 11 สำนวนจากผู้ต้องหา 120 คน พยานร่วม 200 ปาก สืบปีกว่าแบบต่อเนื่องเดือนละ 8 วันเสร็จ ขณะที่จำเลยไร้ประกันถูกขังเรือนจำตลอดการพิจารณา 2 ปี   
             จากกรณีที่มีการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา อย่างหนักเมื่อปี 2558 หลังจากพบหลักฐานการปลูกสร้างค่ายกักกันชาวโรฮิงญา และอุยกูร์ ซึ่งการค้ามนุษย์เป็นเหตุหนึ่งทำให้ไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีเทียร์ 3 กระทั่งเจ้าหน้าที่ไทย ได้เดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ต้องหาๆ ต่างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หลังจากมีการกวาดล้างอย่างมากในประวัติศาสตร์

             โดยปี 2558 อัยการได้ทยอยยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา ซึ่งครั้งแรกได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลจังหวัดนาทวีใน จ.สงขลา แต่เมื่อมีการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แยกจากคดีอาญาทั่วไป เมื่อเดือน ส.ค.58 อย่างเป็นทางการเพื่อทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากที่มีผู้พิพากษาซึ่งเชี่ยวชาญดำเนินกระบวนพิจารณา โดยแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ถือเป็นศาลแรกแห่งเดียวที่เปิดพิจารณาคดีค้ามนุษย์ซึ่งมีการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะทางด้วย คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 นอกเหนือจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ก็ได้มีการโอนคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวมาพิจารณาในแผนกคดีค้ามนุษย์ศาลอาญา และระหว่างนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ได้เปิดสำนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์เพื่อดำเนินการเฉพาะความผิดลักษณะนี้ด้วย ซึ่งเป็นการบูรณาการกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เต็มรูปแบบทั้งศาลและอัยการ
            โดยอัยการในยุคนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (ปี 2558)ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.58 เป็นเอกสาร 19 ลังที่มีการกล่าวหาผู้ต้องหาชุดแรกการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โรฮิงญา กระทั่งวันที่ 24 ก.ค.58 อัยการจังหวัดนาทวี ได้ทยอยยื่นฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล , นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล , พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือน รวม 72 ราย เป็นจำเลยชุดแรกในคดีหมายเลขดำ อ.2741/2558 ต่อศาลจังหวัดนาทวี ความผิด 16 ข้อหาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ ซึ่งอัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัวด้วยเนื่องจากเป็นคดีที่ร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต

             แต่ภายหลังอัยการเห็นว่าเนื่องจาก 1.เป็นคดีเกี่ยวพันกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2.คดีมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเกี่ยวข้องกระทำผิด 3.คดีอยู่ในความสนใจของประชาชนและนานาชาติ 4.พยานบางส่วนถูกข่มขู่ 5.การพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนาทวีคับแคบอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนจำเลยและทนายความที่ร่วมกระบวนพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจังหวัดนาทวีก็มีคดีอื่นนอกเหนือจากคดีค้ามนุษย์ที่ต้องพิจารณาจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งอัยการโจทก์ มีพยานประมาณ 200 ปาก ก็อาจส่งผลความล่าช้าต่อการพิจารณาและอาจกระทบต่อไม่สงบเรียบร้อยและความเที่ยงธรรม

            ดังนั้นอัยการจังหวัดนาทวีจึงยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 20 ส.ค.58 ขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตโอนคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้าน โดยศาลจังหวัดนาทวี รวบรวมเอกสารคำร้องทั้งหมดของอัยการและจำเลยเสนอประธานศาลฎีการับไว้เมื่อ 17 ก.ย. กระทั่งวันที่ 29 ก.ย.58 นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาขณะนั้น ได้มีคำสั่งอนุญาตให้โอนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามาดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกได้ 
              โดยนายตระกูล ที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการสูงสุดปี 2558 ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา 104 ราย ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52 , 53/1 , ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3 ,5, 6, 10, 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63,64 , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4 ,7 , 8 ทวิ , 72 ,72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270 , 309 , 312 , 312 ทวิ , 312 ตรี , 313 , 320 , 371 รวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา ตามสำนวนที่พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมความเห็นกล่าวหา นายบรรจง หรือ จง ปองพล กับพวก รวม 120 คน

             ประกอบด้วย บุคคลสัญชาติไทย 107 คน ซึ่งเป็นพลเรือน 92 คน ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน (ชั้นสัญญาบัตร 3 คนและชั้นประทวน 1 คน) , ทหาร 1 คน , ข้าราชการพลเรือน 1 คน , กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2 คน , ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และสมาชิกท้องถิ่น 4 คน , บุคคลสัญชาติเมียนมาร์ 9 คน และบุคคลสัญชาติบังคลาเทศ 4 คน โดยยังสั่งยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหา 1 รายที่ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งผู้ต้องหา 104 ราย ที่สั่งฟ้องนั้น ก็ปรากฏว่าขณะนั้นปี 2558 ยังจับตัวไม่ได้ 32 ราย ประกอบด้วยเป็นบุคคลสัญชาติไทย 24 คน , บุคคลสัญชาติเมียนมาร์ 5 คน และบุคคลสัญชาติบังคลาเทศ 3 คน อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งให้แจ้งนายอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ติดตามตัวผู้ต้องหากลุ่มนี้มายื่นฟ้องตามข้อกล่าวหาที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องภายในอายุความ 20 ปี หากมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ก็ให้สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ต่อไป
              ขณะที่ในกลุ่มผู้ต้องหานั้นยังมีผู้ร่วมกระทำการอีก 15 รายซึ่งยังจับกุมตัวไม่ได้เช่นกัน อัยการสูงสุดก็ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปเพื่อให้ได้ความชัดเจนว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับผู้ต้องหาอื่นอย่างไร โดยพฤติการณ์คดีนี้น่าเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกเป็นจำนวนมากและเพื่อให้การสอบสวนขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายตระกูล อัยการสูงสุดขณะนั้นจึงได้มีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมกันดำเนินคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
               หลังจากนั้นเดือน ต.ค.58 พนักงานสอบสวนก็ทยอยส่งผู้ต้องหาและสำนวนค้ามนุษย์โรฮิงญาให้อัยการ ในยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด กระทั่งเมื่อแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา เริ่มรับโอนสำนวนคดีที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 ซึ่งรับผิดชอบแทนอัยการนาทวี ที่ยื่นฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล  จำเลยที่ 1 , นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีต นายก อบจ.สตูลจำเลยที่ 29 , พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยที่ 1 - 88 เป็นคดีหมายเลขดำ คม.27/2558,คม.28/2558,คม.29/2558 ที่อัยการทยอยฟ้องจำเลยดังกล่าวตั้งแต่เดือน ก.ค.58 ในความผิด 16 ข้อหาเมื่อวันที่ 10 ต.ค.58 จากนั้นอัยการก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยอื่นๆที่ถูกกล่าวหาร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์ที่เป็นเครือข่ายอีกในคดีหมายเลขดำ คม.19,32,35,36,40,41,47,63/2558 รวมทั้งสิ้น 11 สำนวน จำเลยทั้งหมด 103 คนโดยจำเลยทุกคนในคดีนี้ไม่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา
                 โดยศาลอาญาเริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ย.58 จากนั้นศาลได้สืบพยานรวม 116 นัด ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.59 เดือนละ 8 วัน โดยไม่มีการเลื่อนคดีหรือยกเลิกนัด ซึ่งโจทก์ สืบพยาน 98 ปาก จำเลย 111 ปาก และพยานเอกสาร 
                ขณะที่การสืบพยานฝ่ายจำเลยได้มีการร้องขอให้พิจารณาคดีลับสำหรับพยานจำเลยบางปากด้วยที่ต้องเบิกความในข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ โดยศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาเป็นการลับโดยให้มีเพียงคู่ความ ทนายความ กับเจ้าหน้าที่ศาลอยู่ในห้องพิจารณาและมีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณทีวีวงจรปิดถ่ายทอดการพิจารณาด้วยซึ่งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้สืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ก.พ.60 โดยศาลกำหนดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ค.60 นี้ โดยให้ฝ่ายจำเลยที่ประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่คดีเสร็จการพิจารณา 24 ก.พ.60

(ข่าวเกี่ยวข้อง) เปิด! 103 รายชื่อจำเลย คดีค้ามนุษย์ โรฮิงญา

อ่านข่าว คุมเข้ม103จำเลยฟังคำตัดสินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

อ่านข่าว คาด...ศาลอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ 'โรฮิงญา' ถึงเย็น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ