ข่าว

อธิบดีสั่งเด้ง "เจ้าท่านนทบุรี" เซ่นเรือล่มอยุธยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อธิบดีกรมเจ้าท่า สั่งเด้ง "เจ้าท่านนทบุรี" เซ่นเรือล่มอยุธยา เหตุต่อใบอนุญาตเรือโดยไม่มีประกันภัยตามกฎหมายกำหนด สั่งสอบข้อเท็จจริงหากผิดสอบวินัยทันที

     จากกรณีเหตุเรือรับชาวไทยมุสลิมกลับจากงานประเพณีโฮ้ล หรือทำบุญครู ที่มัสยิดตะเกี่ยโยคิณ ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ชนกับแนวชะโงกริมเขื่อนหน้าวัดสนามไชย หมู่ 7 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 28 คน บาดเจ็บ 56 คน
    ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ได้ลงนามในคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 772/2559 ย้าย นางหทัยกาญจน์ เพ็ญกูล นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานนทบุรี ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักฯมอบหมายเป็นเวลา 2 สัปดาห์ 
    ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรือโดยสารล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดสนามไชย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 28 ราย พบว่าเรือลำดังกล่าวไม่ได้จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด แต่นางหทัยกาญจน์ได้ลงนามต่ออายุใบอนุญาตให้กับเรือดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ.2530) ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ที่กำหนดให้การขอรับหรือต่อใบอนุญาตใช้เรือโดยสารรับจ้าง จะต้องจัดให้มีการประกันภัยสำหรับผู้โดยสารและเจ้าของเรือจะต้องยื่นเอกสารสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุ ที่มีผลคุ้มครองผู้โดยสารตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวด้วย พร้อมกับคำขอรับหรือต่อใบอนุญาตการใช้เรือ
    “กรมเจ้าท่าตรวจพบว่า เจ้าท่านนทบุรีต่อใบอนุญาตใช้เรือให้กับเรือลำดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งที่เรือไม่มีการทำประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ผมจึงลงนามคำสั่งย้ายเจ้าท่านนทบุรีออกจากพื้นที่ และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน หรือภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ หากผลสอบพบว่าเข้าข่ายมีความผิด ก็จะตั้งกรรมการสอบวินัยเพื่อเอาผิดทางวินัยต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาสอบอีก 20 วัน” นายศรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดให้เรือโดยสารต้องทำประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารตามระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ โดยได้ระบุความคุ้มครอง กรณีผู้โดยสารได้รับจากอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย ทุพพลภาพ หรือบาดเจ็บ ดังนี้ เช่น กรณีสูญเสียชีวิต ชดเชยคนละ 50,000 บาท สูญเสียตาหรือสายตา 2 ข้าง คนละ 50,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลคนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
    วันเดียวกัน จากการที่อธิบดีกรมเจ้าท่าได้สั่งให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของการสร้างท่าน้ำหน้าวัดสนามไชย ที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เวลา 10.00 น. พ.อ.ท.พิมุข นาคขำพันธ์ สว.งานสอบสวน พร้อมด้วย ร.ต.ท.พงศกร อินทร์หอม พนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแนวเขื่อนหน้าวัดสนามไชย โดยวัดความกว้างของเขื่อนได้ 120 เมตร และมีการสร้างท่าน้ำลักษณะคล้ายๆระเบียงยื่นออกไป 3 ท่า แต่ละท่า กว้าง 3 เมตร และมีเพียงท่าเดียวที่มีการติดตั้งราวเหล็ก เห็นโผล่เหนือน้ำเพียง 1 ฟุต ส่วนพื้นท่าน้ำจมอยู่ใต้น้ำลึกกว่า 1 เมตร
    จากนั้น พ.ต.ท.พิมุข และ ร.ต.ท.พงศกร ได้เข้าไปพบพระครูปลัดสมบัติ ศิริสุวรรโณ เจ้าอาวาสวัดสนามไชย เพื่อขอทราบที่มาที่ไปของการสร้างเขื่อน พร้อมขอดูเอกสารที่ดินของวัดและเอกสารการขออนุญาตก่อสร้างท่าน้ำ ทางวัดแจ้งว่าไม่มีเอกสารเรื่องการสร้างเขื่อน เนื่องจากสร้างมานานกว่า 15 ปี ก่อนที่พระครูปลัดสมบัติจะมารับตำแหน่ง ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงขอเชิญเจ้าอาวาสไปให้ปากคำในฐานะพยาน
    ด้านพระครูปลัดสมบัติ เปิดเผยว่า เขื่อนสร้างมานานกว่า 15 ปี เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และยังเป็นจุดใช้ชาวบ้านใช้ลงไปให้อาหารปลาและเทียบเรือในบางครั้ง ซึ่งตั้งใจจะทำราวกันคนตกลงไปในน้ำ แต่ไม่มีงบประมาณจึงสร้างไว้ได้เพียงช่วงเดียว ยังคงเหลืออีกสองช่วง
    "เชื่อว่าการขออนุญาตก่อสร้างคงขออนุญาตถูกต้อง ไม่เช่นนั้นเจ้าท่าก็คงจะสั่งให้รื้อไปนานแล้ว ไม่ปล่อยมาจนทุกวันนี้ ซึ่งในวันเกิดเหตุเชื่อว่าคนขับเรือไม่ชำนาญร่องน้ำ และไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีระเบียงยื่นออกไป ซึ่งตั้งแต่สร้างมาก็ยังไม่เคยมีเรือชน เพิ่งมีครั้งนี้ ซึ่งเรือวิ่งเข้ามาใกล้เขื่อนมากจนชนกับระเบียง" พระครูปลัดสมบัติ  กล่าว และว่า หากมองว่าวัดสร้างแล้วทำให้เรือเข้ามาชนคงไม่ใช่ และหากจะให้รื้อถอนอีกก็คงไม่ถูก เพราะยังมีท่าน้ำที่ใหญ่กว่าของวัดสนามไชยอีกมากมาย รวมถึงเรื่องการวางแนวทุ่นบอกจุดเสี่ยงนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าท่า หลังเกิดเหตุได้มีการมาวางแนวทุ่นแล้ว
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เวลา 12.00 น.วันเดียวกันนี้ นายสุนทร พันธุ์เสือทอง เจ้าของเรือที่ประสบอุบัติเหตุพร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยมี พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.เอกราช อุ่นเจริญ ผกก.งานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมสอบปากคำ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา คือ 1.ร่วมกันใช้ยานพาหนะรับจ้างขนส่งโดยสารเมื่อยานพาหนะนั้นมีลักษณะหรือการบรรทุกนั้นจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดมาตรา 233 และ 238 ประกอบกับมาตรา 59 วรรคสอง มาตรา 83 2.ร่วมกันใช้ยานพาหนะผิดเงื่อนไข หรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือ
    3.ร่วมกันใช้เรือยนต์บรรทุกผู้โดยสารมากกว่าจำนวนที่แจ้งในใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้น 4.ร่วมกันควบคุมเรือยนต์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 155 อันเป็นความผิดมาตรา 155 175 161 ทวิ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ประกอบกับกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสอง มาตรา 83 อย่างไรก็ตาม นายสุทรได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวส่งให้ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามขั้นตอนต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ