ข่าว

นักวิชาการ มอง เปลี่ยนซื้อ เรือฟริเกต เหมาะกับการใช้งาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการดังม.รังสิต วิเคราะห์ปม เปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ชี้แม้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแง่บำรุงรักษา แต่ศักยภาพการปฏิบัติงานเหมาะสมกับการใช้งาน


จากกรณีประเด็นร้อนในเรื่องของยุโธปกรณ์ของกองทัพเรืออย่าง เรือดำน้ำ ที่ยังไม่มีวี่แววได้ข้อยุติ ซึ่ง นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเผยว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเริอดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต ซึ่งมีแนวทางว่าเหมาะสม และคุ้มค่าในการเปลี่ยนแปลง

รวมทั้งการให้สัมภาษณ์รอบล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ขอให้นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ชี้แจง หากมีข้อมูลครบแล้วค่อยดำเนินการเจรจา แต่เชื่อว่าจะมีข่าวดีและมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี ฉะนั้นขอให้เกียรติทางกระทรวงกลาโหมทำงานก่อนหลังไปเจรจามาแล้ว พร้อมยืนยันว่า การพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี

นักวิชาการ มอง เปลี่ยนซื้อ เรือฟริเกต เหมาะกับการใช้งาน
เมื่อถามย้ำว่า ประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวสั้นๆในทำนองที่ว่าไม่เสียเปรียบ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายทหารและความมั่นคง ได้แสดงความเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า การที่เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต นั้น เป็นการลดแรงเสียดทานทางการเมือง เพราะรู้ทั้งรู้ว่าว่า ถ้ายังดึงดันที่จะซื้อเรือดำน้ำต่อไป ก็อาจจะเสียค่าโง่

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เพราะมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในเรื่องของเครื่องยนต์ของเรือที่จะต้องเป็นสเปกจากเยอรมนี ในข้อนี้ทางจีน ไม่สามารถทำตามข้อเสนอฝั่งไทยได้ การปรับเปลี่ยนข้อเสนอครั้งนี้ อ.วันวิชิต มองว่าเป็นไปเพื่อรักษาสัมพันธภาพ และเรือฟริเกต มีความคุ้มค่าในแง่ศักยภาพ แต่มันก็จะมีคำถามที่ตามกลับมาด้วยว่า ค่าใช้จ่าย ค่าทำนุบำรุง หรือพื้นที่ในการจอดเรือฟริเกต ก็มีค่าใช้จ่ายงบประมาณไม่น้อย ที่ผ่านมาน่านน้ำของไทย เรือที่มีประสิทธิภาพอย่าง เรือพิฆาตขนาดเล็ก หรือ คอร์เวต เช่น เรือหลวงสุโขทัยที่จมไปนั้น ถ้าจะหาลำใหม่มาทดแทน ควรจะปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้มีความสอดคล้องกับภูมิประเทศทางกายภาพ ความมั่นคง

เรือฟริเกต

ซึ่งเรือคอร์เวต มีราคาถูก และคุ้มค่ากว่า รวมทั้งสามารถนำมาทดแทนเรือที่เก่า ชำรุด ประเด็นตรงนี้ถ้าฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกลาโหม หรือพรรคเพื่อไทยเองทำการบ้าน มองว่า ควรจะเชียร์ หรือ แนะนำว่า ถ้าสเปกที่กองทัพเรือควรใช้ในการปฏิบัติตามภารกิจจริง  โดยที่ฝ่ายการเมืองสนับสนุนในแนวทางกันได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทิศทางที่จะไม่ผลักดันในการที่จะซื้อเรือดำน้ำ รวมทั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ในช่วงเป็นฝ่ายค้านก็มีความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ดังนั้นเป็นการตอบโจทย์ในทางการเมืองในฝ่ายตัวเองด้วย และความคาดหวังทางสังคมด้วยเช่นกัน
 

" ประเด็นสาระสำคัญ ในการจัดซื้อที่ผมเข้าใจว่า ในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการจัดซื้อเรือฟริเกตแทนเรือดำน้ำ แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองในแง่คุณูปการ มันเป็นเรือรบพิฆาตแบบ 3 มิติ มีศักยภาพสามารถปฏิบัติงานร่วมกับกองทัพอากาศได้ เป็นสิ่งที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีข้อดีในส่วนนี้ การดำเนินการของกองทัพเรือ ไม่ว่าจะปฏิบัติงานจริง หรือทำการซ้อมรบ สามารถร่วมปฏิบัติการกับกองทัพอากาศได้ ขณะเดียวกันมีที่จอดเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งยังมีศักยภาพในรูปแบบของการปราบปรามเรือดำน้ำได้"

อ.วันวิชิต มองต่อไปว่า  ในแง่นี้ ถ้ามองในเรื่องของขีดความสามารถ เรือฟริเกตมีศักยภาพสูง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะให้ความนิยมเรือคอร์เวต ซึ่งเป็นเรือพิฆาตขนาดเล็ก ที่มีความคล่องตัว แต่เรือฟริเกต เป็นเรือที่แสดงออกถึงแสนยานุภาพ และมีพัฒนาการเทคโนโลยีที่อัทเกรดตลอดเวลา เพราะประเทศที่เป็นต้นทางหรือในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น ของทางเรือ เรือฟริเกตมีการแข่งขันที่สูงมาก มากกว่าเรือประเภทอื่นๆ ถ้าข้ามเรือดำน้ำไป เรือฟริเกต เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศเศรษฐีใหม่ เพื่อเสริมความสามารถให้กองทัพเรือของตนเอง 

ดังนั้นจึงมองว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะทำให้ไม่ถูกมองว่า ทั้งไทยและจีนมีความรู้สึกเสียหน้า ทางจีนก็จะมีความเข้าใจในมิติที่ว่า ทางการไทยต้องการสเปกเครื่องยนต์เยอรมนี แต่ทางจีนไม่สามารถทำให้ในตามข้อบังคับต่างๆ และทางไทย ก็มีคำอธิบายในทางสังคมว่า การเปลี่ยนไปเป็นเรือประเภทอื่นที่มีความคุ้มค่า ในแง่ของการปฏิบัติงานที่มากกว่าเรือดำน้ำนั้น น่าจะได้เสียงสนับสนุนจากสังคมมากกว่า ที่จะเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำตามแผนเดิม.

ส่วนที่มีข้อมูลในโลกออนไลน์ ที่มองว่า ทำไมรัฐบาลไม่มีการทวงเงินในส่วนที่จ่ายไปของเรือดำน้ำคืนมา อ.วันวิชิต กล่าวว่า การทวงเงินส่วนก่อนหน้านี้คือ เกรงว่าจะกระทบต่อความรู้สึก หรือสัมพันธภาพ ความเชื่อมั่นระหว่างกันหรือไม่ เพราะว่า เป็นโครงการสืบเนื่องที่ส่งต่อมาให้รัฐบาลใหม่ การที่จะปฏิเสธไม่ซื้อเรือดำน้ำต่อ ด้วยข้ออ้างที่ว่า สเปกของทางจีนไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพิ่งเดินทางกลับมาจากการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่นาน คงไม่กล้าที่จะสร้างเงื่อนไขในการที่จะไปทวงเงินคืน จึงเป้นการปรับเปลี่ยนไปยังยุทโธปกรณ์ที่คุ้มค่าและเหมาะสมแทน หรืออยู่ในเงื่อนไขที่ทางการไทยได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการรักษาความรู้สึกและสัมพันธภาพระหว่างกันและกัน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ