ข่าว

'ไทยสร้างไทย' แนะ 'รัฐบาลไทย' เร่ง กอบกู้ศักดิ์ศรีประเทศในอาเซียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกไทยสร้างไทย แนะ ‘รัฐบาลไทย’ เร่งกอบกู้ศักดิ์ศรีประเทศ ในอาเซียน ยกระดับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาร์เป็นตัวกลางเจรจาเพื่อสันติภาพ พร้อมหนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้น

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2566 ภายใต้แนวคิด Asean Matters: Epicentrum of Growth หรือ “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” วาระสำคัญในการหารือ ครอบคลุมเรื่องวิกฤตเมียนมาร์ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในภูมิภาค และการผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการสร้างความเจริญตามแนวคิดของประธานอาเซียนอินโดนีเซีย

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย

ในโอกาสนี้ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาร์ โดยต้องการให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกเพื่อให้บรรลุสันติภาพและสร้างความเจริญในกับอาเซียนและที่อื่นๆ บนโลก ซึ่งน.ส.ธิดารัตน์ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าผู้นำคนใหม่ของกัมพูชาได้ใช้โอกาสบนเวทีอาเซียนแสดงจุดยืนด้านต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลไทยกอบกู้ศักดิ์ศรีประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะวิกฤตในภูมิภาค

 

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์และได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น จึงควรยกระดับบทบาทด้วยการผลักดันให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาร์โดยเร็ว และเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อสันติภาพ เน้นการเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีมีส่วนร่วม เพื่อเร่งให้เมียนมาร์ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อให้ได้สำเร็จ และพลิกฟื้นภาพลักษณ์ด้านต่างประเทศของไทยในกลับมาน่าเชื่อถือ เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เพื่อสร้างการยอมรับในหมู่ประชาคมโลก

 

 

การประชุมครั้งนี้ยังมีนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายหลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศรัสเซีย และผู้นำจากประเทศพันธมิตรอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ถือเป็นบททดสอบสำคัญของอาเซียนในการดำรงความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสมดุลทุกฝ่าย 

 

แม้อาเซียนจะเผชิญความตึงเครียด โดยเฉพาะทางการค้าและเทคโนโลยี เนื่องจากความพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ของจีน ประธานอาเซียนจึงเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการลดความขัดแย้ง เนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นย่อมสั่นคลอนสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้

 

 

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากติดภารกิจนำคณะรัฐมนตรี(ครม.)เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ และได้มอบหมายให้นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมแทน โดยเน้นย้ำจุดยืนการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน หรือ ASEAN Centrality และจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์บนหลัก ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) โดยใช้เวทีอาเซียนนำ อีกทั้งยังตอกย้ำบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์เมียนมาร์ โดยเฉพาะการผลักดันการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

 

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น ทันสมัย และยั่งยืน ผ่านแนวคิด ASEAN green agenda ตลอดจนสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพของโลกผ่านเวทีอาเซียน เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และรักษาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลงนามที่กรุงเทพหหานคร เมื่อปี 2538

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ