ข่าว

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Exclusive เลือกตั้ง66 : 3 บก. เปิดใจ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' แจงข้อกล่าวหา ‘พรรคก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

ศึกเลือกตั้ง 2566 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เปิดใจสัมภาษณ์พิเศษ 'รายการนชั่นสุดสัปดาห์ โดย 3 บก.'

 

ต่อไปนี้เป็นคำตอบของพิธาบางส่วนที่อธิบายถึงจุดยืนของพรรค และนโยบายหาเสียงที่มั่นใจจะชนะการเลือกตั้ง

 

พิธีกร : จะแก้เกมอย่างไรที่เขาบอกว่าไม่เลือกพรรคก้าวไหลเพราะ 1) เลยป้าย 2) ทะลุฟ้า 3) คุมไม่ได้

พิธา : อันที่ 1 คือ ป้ายขยับแล้ว มั่นใจมากว่าปี 62 กับปี 66 ย้อนกลับไปเลย ป้ายขยับมีคนที่ต้องการ หากป้ายนั้นหมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมอนุมานเอานะ ไม่รู้ว่าจะใช่หรือไม่ แต่เชื่อว่าขณะนี้ทุกพรรค เวลาออกดีเบต และโดนถามมากขึ้น เริ่มมีคำตอบให้เห็นว่า ยอมรับว่า ป้ายมีปัญหา ยอมรับว่า ต้องมีการแก้ไข ไม่ให้มีใครให้โทษรุนแรงขนาดนี้ ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่า ป้ายอยู่นั้นอยู่นี่ จะฟ้องก็ได้

 

หลายพรรคก็จะบอกว่า หมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้ายไม่เหมือนกัน บางพรรคบอกว่า ต้องขยับมากขึ้นไปอีก ก็โอเคผ่านกฎหมายผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ผ่านการพูดคุยในรัฐสภา ถ้าท่านบอกว่า อยากให้ป้ายใหญ่และหนักกดทับมากขึ้น เราคิดว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นคุณกับใครกับสถาบันไหนในประเทศนี้เหมือนกัน เราคิดว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ ก็ไปหารือกันในสภา ไปโหวตกันในสภา

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

พิธีกร : ที่บอกเป็นพรรคสุดโต่ง

พิธา : สุดโต่ง ต้องอธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่เราต้องการเป็นเรื่องปกติ ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้ชมที่ดูอยู่ เวลาเราไปต่างประเทศและชอบประเทศเขา นั่นแหละเราต้องการให้ระบบเศรษฐกิจให้คนที่จะเท่ากัน ต้องการให้แต่ละจังหวัดที่เราไปเจริญใกล้เคียงกัน ต้องการให้พลเรือนมีโอกาสทำงาน ไม่ต้องการให้มีการรัฐประหารทุกๆ 5 ปี อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ 

 

จึงถามกลับว่า ที่มันสุดโต่งอย่างที่บอก ระบบจากกระทรวง ทบวง กรม คนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์รู้อยู่แล้วว่าระบบนี้มีมา 130 ปีที่แล้ว ผมถามความท้าทายของประเทศว่า 130 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นก็ท้าทายหนัก ช่วงล่าอาณานิคมก็หนักพอสมควร กับความท้าทายโควิดที่ต้องรวดเร็ว PM2.5 ที่ต้องกระจายอำนาจในการตัดสินใจ

 

สรุปแล้วเราใช้ระบบเดิม 130 ปีที่แล้วในการแก้ไขปัญหาในปี 2566 อันนี้ไม่สุดโต่งเหรอ ในระบบเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับมหาศาล ตลาดยิ่งใหญ่มหาศาล แต่ในประเทศไทยมีผู้ผลิต 7 คน ในญี่ปุ่นมีผู้ผลิต 40,000 คน อันนี้ไม่สุดโต่งเหรอ

 

ในกฎหมายต่างๆ ที่มีเยอะแยะมากมายย้อนหลังไปหลาย 60-70 ปีและยังกลายเป็นโอกาสในการคอร์รัปชันแบบนี้ไม่สุดโต่งเหรอ

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

พิธีกร : หากพูดถึงพรรคก้าวไกลนิยามคือซ้ายสุดขั้วจริงหรือไม่

พิธา : ต้องคิดว่าตอนนี้การเมือง ณ ปัจจุบันไม่มีซ้าย ไม่มีขวา เหมือนที่พวกเราเรียนมา อย่างที่ในรัฐสภาฝรั่งเศสบอกว่าใครที่หัวก้าวหน้าอยู่ฝั่งซ้าย ผมคิดว่าตอนนี้เป็นหนึ่งในบน 99% กับล่าง 1% (ที่ตอนนี้กำไรหลังจากโควิดฟื้นตัวมหาศาล) กับอีก 99% ที่โดนกดทับโดยตลอด

 

เพราะฉะนั้นเวลาคิดหากจะถามเชิงที่จะเป็นการเมืองรัฐศาสตร์แบบคลาสสิคสมัยก่อน ก็คงจะเป็นในเชิงที่เราคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น การรวมตัวของพี่น้องในการต่อรองที่ควรจะมี แล้วจริงๆ วิธีคิดแบบนี้ผมคิดว่า มีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่โควิดเกิดขึ้น เรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องที่แต่ละประเทศไม่เคยเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเพราะระบบโลกเปลี่ยนไป

 

แต่ผมคิดว่าเราเป็นตัวแทนของ 99% ที่โดนกดขี่มาอย่างนั้น แล้วก็ 1% นี้ไม่ได้ตัวเลขที่ผมพูดขึ้นมาสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในมุมมองของรายได้ มั่งคั่ง เงินที่อยู่ในบัญชี ที่ดินที่กระจุกตัว ผมว่าทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดไม่ได้คิดว่าเขาเป็นขวาแล้วเราไม่สนใจ ผมไม่เอานามสกุลใส่ให้คนอื่น ไม่บอกว่าคนนี้อนุรักษ์นิยม อย่างนั้นไม่ใช่ แต่นี่คือคนที่โดนกดขี่ 

 

คนที่กดขี่กับคนที่โดนกดขี่ คนที่อยู่ข้างล่าง ทำอย่างไรให้สามเหลี่ยมมันกลับ ตรงกับโลโก้พรรคก้าวไกล (สามเหลี่ยมหัวกลับ)

 

พิธีกร  : ใครอยู่ซ้ายใครอยู่ขวา แต่สนใจว่า วันนี้กำลังถูกเอาเปรียบ

พิธา : คำว่าใครคืออะไร ถ้าใครเป็นของประชาชน ผมเป็นนักการเมืองเป็นตัวแทนที่รับสมัครลงเลือกตั้ง คนที่เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าความเชื่อทางการเมืองเขาเป็นแบบไหน ความเชื่อศาสนาเขาเป็นแบบไหน เพศวิถีคืออะไร ผมมีวิธีทำหน้าที่ให้เขากินดีอยู่ดีในประเทศนี้ ส่วนคำว่าใครที่หมายถึงนักการเมือง หรือชนชั้นนำ แน่นอนผมไม่สามารถเข้าร่วมกับชนชั้นอนุรักษ์นิยมแบบนั้นได้

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

 

พิธีกร : ถึงวันนี้คุณพิธาพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วหรือยัง

พิธา : พร้อมครับ ผมพยายามทำงานเต็มที่พร้อมกับทีมงาน ด้วยความร่วมสมัยของผมที่เข้าใจประชาชนที่มาก่อนและประชาชนที่ตามหลังผมมา ด้วยความที่เข้าใจทั้งต่างประเทศและชนบทในต่างจังหวัด ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมาก และการทำงานในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในรัฐบาล ในกระทรวง จนกระทั่งมาเป็น สส. เริ่มต้นตั้งแต่เป็นเลขานุการ กรรมาธิการ จนมาเป็นประธานกรรมาธิการด้วยตัวเอง ก็คิดว่าสามารถทำได้

 

ประสบการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง มีประสบการณ์ที่ถูกต้องกับประสบการณ์ที่ไม่ถูกต้อง กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด ฝุ่น PM2.5 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เผลอๆ หากคุณเอาประสบการณ์ผิดๆ คุณอาจจะคิดว่าแก้ปัญหาไข้หวัดนกได้สำเร็จและเอาวิธีคิดแบบนั้นมาแก้กับโควิดยิ่งไปกันใหญ่

 

คุณอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่เด่นในเรื่องความมั่นคง แต่วันนี้ความมั่นคงเป็นเรื่อง Cyber Security (ความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์) เขาทำงานเขาหยุดโรงพยาบาลคุณได้ เขาทำงานเขาจะหยุดโรงไฟฟ้าคุณได้ เขาทำงานเขาจะหยุดแท่นเจาะ ปตท.ได้  คนที่จะทำหรือสู้กับเรื่องนี้ไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อนทั้งนั้น 

 

พิธีกร : เขา (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) บอกต้องไปต่อ ถ้าไม่ไปต่อ...สะดุด

พิธา : ไปที่ไหนล่ะครับ ไปต่อที่ไหนครับ ไปกับงบประมาณ 28 ล้านล้านที่ใช้ไป แต่คนไทยยังจนเหมือนเดิม หรือการกู้มากขึ้น ที่ทำอะไรไม่ได้ 

 

พิธีกร : เหลืออีก 3 สัปดาห์ไปสู่การโหวต หาเสียงมาแล้ว เมื่อกี้บอกพร้อม ชาวบ้านบอกจะให้ไหม

พิธา : ให้ครับ เขาว่าให้ทั้ง 2 ใบด้วย มีตั้งหลายแบบการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนคิดว่าพรรคก้าวไกลเสียเปรียบ เราคุยกันครั้งแรกตอนช่วงปีใหม่ ก็ได้วิเคราะห์ถูกเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าครั้งนี้ก้าวไกลได้เปรียบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • คนเขาเห็นการทำงานของพรรคก้าวไกลมีประสบการณ์ 4 ปี ในสภา เขาเห็นว่า ตรงไปตรงตา ตอบโจทย์ชัดเจน มันคืออะไร ตั๋วช้างก็ดี สว.ทรงเอก็ดี IO ก็ดี เรื่องงบประมาณต่างๆ ที่เราพูดถึงก็ดี และการทำงานในกรรมาธิการทำให้กลายเป็นชนวนได้ด้วย 
  • ในอีกรูปแบบหนึ่งก็อาจจะมีที่บอกว่าไหนๆ คราวนี้มีบัตร 2 ใบเปลี่ยนนามสกุลให้ยังทำใจไม่ได้ แต่ สส.พื้นที่ไม่เคยลงพื้นที่เลย และไม่ค่อยทำงานเลย บอกจะเอา ส.ป.ก.มาเป็นโฉนดตั้ง 4-5 สมัยก็ยังทำไม่ได้ นี่ยังจะเอาลูกมาลงอีก การเมืองเป็นมรดกเหรอ ไม่ใช่ - เอาคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกล เพราะฉะนั้น เขตฉันจะให้คุณ 
  • ในทางกลับกัน ยังมีอีกหลายพื้นที่บอกว่า พรรคจะให้ แต่เขตไม่ให้ เพราะเขตเนี่ยเขาอุดหนุนแผงปลาทูฉันมาตลอด ฉันคงต้องขอเลือกคนเดิม แต่เขาย้ายพรรคแล้ว แต่พรรคที่ย้ายไปฉันรับไม่ได้ เขตฉันเลือกเขา แต่พรรคฉันจะเลือกก้าวไกล 
  • เพราะฉะนั้นในเมื่อเกมยุทธศาสตร์เปลี่ยน ถึงแม้ว่าเราอาจจะยังไม่เห็นด้วย ตอนที่เราอภิปรายในสภา แต่เมื่อมันจบแล้ว เราก็จบ สิ่งที่เราต้องทำคือสิ่งที่เราควบคุมได้คือ การทำยุทธศาสตร์ให้เข้ากับบริบทใหม่ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของพรรคก้าวไกลที่ต้องการให้เป็นพรรคมวลชน ซึ่งการเป็นพรรคมวลชนก็ต้องมี สส.เขตเยอะ 400 เขต และบัญชีรายชื่ออีก 100

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

 

พิธีกร : การเลือกตั้งปี 62 กับปี 66 ที่จะเกิดขึ้นมีความต่างทั้งในแง่กติกาและบรรยากาศอย่างไร

พิธา : วิเคราะห์ให้เห็นภาพแบบตรงไปตรงมา เอาแบบในสภากับนอกสภา นอกสภาผมคิดว่าสังคมเปลี่ยนไปเยอะมากชัดเจน ภายใน 4 ปีมันแสดงให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภายังสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในหลายๆ

 

เรื่อง อาทิ สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้าแม้แพ้ไป 2 คะแนน เรื่องพระราชฐานะ พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 62 ไม่ต้องคุย ไม่มีเรื่องนี้ในดีเบตแน่นอน แต่ปี 66 ไม่ว่าจะช่องไหนก็ต้องถามถึงจุดยืนว่า จะทำอย่างไรต่อไปกับทุกพรรค ฉะนั้นนอกสภาผมคิดว่า สังคมเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร 

 

แต่ในสภา ผมคิดว่าการทำงานโดยเฉพาะของพรรคก้าวไกลเปลี่ยนแปลงไปเยอะโดยเฉพาะ 2-3 ประเด็น คือ ตอนอนาคตใหม่มีเวลา 2 เดือน ตอนนี้มีเวลา 2 ปีในการทำงานและคัดเลือก ตอนนั้นพอมี 2 เดือน คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกุิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ณ เวลานั้น) บอกผมว่า ต้องการเป็นพรรคระดับชาติ ต้องส่งให้ครบ 350 เขตให้ได้ ณ ตอนนั้น 

 

แต่ตอนนี้เราต้องการที่จะให้ครบ 400 เขตปุ๊บ จะมีประตูขึ้นมา 4 ด่านที่อนาคตใหม่ไม่มี คือ ส่งใบสมัครมา สอบสัมภาษณ์ 7-8 คน ต้องมีหลักสูตรการเมืองแบบพรรคก้าวไกล ซึ่งคุณจะโดนทดสอบทั้งอุดมการณ์และประสิทธิภาพอย่างหนัก และคุณต้องออกไปให้ประชาชนสแกนเอ็กซเรย์เลย และเราก็อยากให้เป็นสถาบันด้วย

 

ให้เป็นโมเดลด้วยว่า เลือกตั้งคราวต่อไปจะเข้าฝักมากขึ้น ทรัพยากรก็จะมีมากขึ้น ให้มีการบริจาคจากประชาชน ปัจจุบันก็เป็นโมเดลในการสร้างทรัพยากรในการทำการเมือง ทำให้เรามีอิสรภาพในการทำงานและหลีกเลี่ยงการเกรงใจเมื่อเขาขอร้อง แต่ครั้งนี้หากประชาชน (บริจาค) ให้เฉลี่ยคนละ 500 บาท เป็นการทำงานแบบสถาบันมวลชน 


ไม่ใช่แค่มองกลับไปในอดีตและเทียบกับอนาคตใหม่ แต่ผมมองไปในอนาคตด้วยว่า ครั้งนี้ก็ฉุกละหุกพอสมควร เป็นแบบ start up สส.เขตก็ต้องให้เขตตัดสินใจขึ้นมา และหากหัวหน้าวีโต้ แล้วเกิดการปะทะกัน ภาคสถาบันเสียหายนะ ไม่ได้ คุณต้องหาวิธีทำอย่างไรด้วยเหตุผล พอคุณออกไปประชาชนก็ตรวจสอบว่า เคยพูดแบบนี้ ทำแบบนี้มาก่อน จะเปลี่ยนตัวได้ด้วยเงื่อนไขอะไร 

 

ครั้งนี้พอเป็นระบบขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างในการเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะยิ่งเข้าฝักมากขึ้น เป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น อีกหน่อยถ้าไม่มีธนาธร ไม่มีพิธาก็ไปต่อได้ และที่สำคัญที่สุดในฐานะที่เป็นผู้นำขององค์กร ไม่ว่าจะเอกชน สื่อมวลชนหรือพรรคการเมืองต้องสร้าง challenge ใหม่ๆ คุณจะเห็นว่า คนรุ่นใหม่อายุรุ่น 20-30 ที่เพิ่งเข้ามาอาจจะเข้ามาเป็นผู้ช่วย สส.ก่อน คราวนี้เป็น สส. เป็นผู้เขียน speech (ร่างคำปราศรัยหรือภิปราย) อยู่ข้างหลัง ตอนนี้กลายมาเป็นคนดีเบต ตอนนี้คุณก็จะเห็นภาพแบบนี้เข้ามา

 

พิธีกร : อายุเฉลี่ยผู้สมัครพรรคก้าวไกลทั้งประเทศเท่าไร

พิธา : กทม. 36 เขต 41 บัญชีรายชื่อ 43 

 

พิธีกร : ลงสนามในระยะที่ผ่านมาคู่แข่งของก้าวไกลเป็นใคร พรรคไหน

พิธา : ในแต่ละพื้นที่คู่แข่งไม่เหมือนกัน หากไปอีสานใต้ก็ต้องแบบหนึ่ง ไปภาคใต้ก็อีกแบบหนึ่ง ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อีกพรรคหนึ่ง

 

พิธีกร : เหมือนก้าวไกลเป็นคู่แข่งของทุกพรรค เพราะเป็นพรรคที่ใครๆ ก็ไม่รักใครๆ ก็ไม่อยากร่วมงานจริงหรือไม่

พิธา : แต่ผมคิดว่าเป็นจุดเด่น เป็นจุดต่างของพรรคก้าวไกลที่ต่างจากทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาล

Exclusive : ‘พิธา’ แจงข้อกล่าวหา ‘ก้าวไกล’ สุดโต่ง ย้ำต้องการทำให้คนเท่ากัน

พิธีกร : เคยได้ยินหรือไม่ที่ใครๆ ก็บอกว่าไม่รัก

พิธา : ดีใจเลย ดีใจในลักษณะที่แสดงว่า เรามาถูกทางและจะใช้เวลาที่เหลือในการซื้อใจเขาให้ได้ว่า ที่ไม่เหมือนคนอื่น ที่คุณเคยคิดว่าเป็นแกะดำ จริงๆ แล้วเป็นแกะขาว เป็นแกะปกติที่ต้องการทำให้การเมืองปกติ ทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไทยปกติ ให้การบริหารจัดการข้าราชการปกติ ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นนักการเมืองต้องพร้อมรับทุกคำวิจารณ์


พิธีกร : ในมิติทางนโยบายเดิมทีก้าวไกลวิพากษ์วิจารณ์คนและพรรคอื่นว่าดีแต่แจก ตอนนี้ทำไมก้าวไกลถึงมาเน้นการแจกเงินด้วย

พิธา : นิยามของคำว่า แจกไม่เหมือนกัน 1) ที่มาของเงิน ถ้าเป็นประชานิยม คือ กู้มาแจกและแจกครั้งเดียวจบ เมื่อจะมีการเลือกตั้งเข้ามา จึงมีการแจกอีกทีหนึ่ง แต่ของเรา คือ แจกแบบรัฐสวัสดิการ ต่างจากประชานิยมตรงที่มีพลวัต ผมอายุ 42 ผมข้างบนมีพ่อแม่ให้ดูแล ข้างล่างมีลูกรักที่จะต้องดูแลอยู่ เงินที่จะมามีที่มาที่ไป คือ การรีดไขมันของกองทัพ ระบบราชการ งบกลาง เพิ่มรายได้จากรัฐวิสาหกิจ เก็บภาษีคนรวย ลดภาษีคนจน หวยขึ้นมาบนดิน

 

ดังนั้น 6-7 อย่างนี้ไม่ใช่คาดการณ์อนุมานว่าเดี๋ยวเศรษฐกิจจะโต 10% และจะเอาเงินจากอนาคตมาใช้ หรือแม้ต้องการกู้เพิ่มเพื่อที่จะเอามาแจก ไม่ว่าจะเป็นในรูปของพืชผลทางการเกษตรก็ดี เบี้ยก็ดี และอีกอย่างเป็นการแจกแบบไม่พิสูจน์ความจน เพราะหากคุณพิสูจน์ความจน ตกหล่นตลอด เด็กผู้ใหญ่ก็ตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโควิดที่ผมใส่หน้ากากลงไป เบี้ยคนพิการก็ไม่ได้ เบี้ยผู้สูงอายุก็ไม่ได้ เราถึงต้องแจกแบบถ้วนหน้า

 

พิธีกร : หากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกบัตรคนจนหรือไม่ 

พิธา : ต้องให้มีอยู่ และก็ให้มีทางเลือกมากขึ้น ทำให้เป็นมากขึ้น ในที่สุดก็ต้องเอาออก เราจะหักแบบนี้ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการแก้กฎหมายก่อน มีการขึ้นภาษีก่อนเพื่อที่จะให้ทำได้ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำได้ทันทีภายใน 100 วันแรก คือ เบี้ยเด็กเล็ก อายุ 0 ถึง 6 ขวบ 1,200 บาทต่อเดือนต่อคนใช้งบประมาณทั้งหมด 32,000 ล้านบาท โดยจ่ายถ้วนหน้า

 

พิธีกร : หากเป็นรัฐสวัสดิการแนวทางของก้าวไกล อนาคตของประเทศไทยจะไปแบบไหนจะเป็นประเทศที่สวัสดิการทั้งนโยบายเต็ม 100% หรือเป็นประเทศที่เสรีทางการค้า

พิธา : จะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตด้วย และความเหลื่อมล้ำลดลง โดยระบบรัฐสวัสดิการอย่าไปมองด้านเหรียญ ต้นทุนคุณอยู่ที่ไหนคุณต้องมองด้านพลวัตของมันด้วย ความเป็นผู้ประกอบการผมอยากจะมีอาชีพมีความฝันของผมเอง อยากจะเปิดร้านของผมเอง แต่ผมไม่กล้า ใครจะดูแลพ่อแม่ ใครจะเลี้ยงลูกหลาน ตอนนี้ผมเป็นลูกจ้างอยู่ เงินเดือนแค่จ่ายค่าเช่า ค่ารถก็หมดแล้ว แต่หากรัฐดูแลตั้งแต่ข้างบนคือพ่อแม่และดูข้างล่างคือลูก ผมมีความรู้สึกมีความกล้าที่จะกล้าทำสตาร์ทอัปอะไรมากๆ มีอิสระมากขึ้นและเงินเก็บเงินออมที่ไม่เคยมีก็จะเริ่มมีแล้ว ไม่ต้องให้พ่อให้แม่ตรงนี้ก็จะเริ่มมีการสะสมทุนมากขึ้น 

 

ตอนนี้มีหลายประเทศที่ทำ อเมริกาใต้ก็ทำ ไม่ใช่แค่ประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาเก็บภาษีสูงอย่างเดียว แต่อย่างที่บอกงบประมาณของประเทศไทยทำได้ และต้องถามกลับว่า ทำไมแต่ก่อนซื้อเรือดำน้ำ กระสุนปืนขึ้นมา 15 เท่าไม่เคยมีใครถามว่าเอางบประมาณมาจากไหน พอผมอยากจะลงทุนคนของประเทศไทย อยากจะลงทุนกับประชาชน... แต่ตรงนี้ที่บอกมีตั้งหลายอย่างไม่ได้มาจากภาษีอย่างเดียว ภาษีก็ได้เอางบประมาณนอกระบบ

 

อย่างเช่น สนามกอล์ฟ 74 แห่งทั่วประเทศไทย โรงแรมรีสอร์ทต่างๆ ที่อยู่ต่างประเทศ ถ้าเอามาเป็นในส่วนของกระทรวงการคลังซะ งบประมาณค่าสนามม้า สนามมวย ก็ยังเข้ามาได้อีกและอีกหลายอย่างที่เราสามารถรีดไขมันได้สามารถ จัดกระดูกได้ คราวนี้พอพรรคก้าวไกลอยู่ในสภา 4 ปี งบประมาณ 33 ล้านล้าน ผมสามารถสแกนได้ เช่น ผ้าม่าน หลอดไฟ ในสถานทูตเท่าไร จัดสัมมนากี่ครั้ง ผมก็จะเห็นว่าไขมันอยู่ตรงไหนบ้าง และทำอะไรให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้บ้าง 

 

พิธีกร : รองวิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) บอกว่ามีเหลือให้ 200,000 ล้านล้านบาท

พิธา : เราจะเป็นรัฐบาลได้ เราจะต้องรู้ว่าวาระ 100 วันแรกของเราคืออะไร hundred day agenda ของเราคืออะไร ทุกสิ่งทุกอย่างใน 100 วันแรก ต้องไม่เบียดเบียนงบประมาณก่อนและไม่ต้องผ่านกฎหมาย เช่น เรื่องเกี่ยวกับการทลายผูกขาด สุราก้าวหน้า ทำให้เกษตรกรลุกขึ้นมาเปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์

 

เมื่อวานไปหนองคายมา ถ้าราคาสับปะรดดีขายเป็นสับปะรด หากราคาตก ขายเป็นบรั่นดี อันนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มหรือผ่านสภาทำได้แน่นอน 100 วัน ส่งคุณศิริกัญญา ตันสกุล เป็นรัฐมนตรีคลัง แก้ปุ๊บทำได้เลย เรื่องเกี่ยวกับหวย SME ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มคือ หวยของรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว หากท่านชอบรายย่อย ลุ้นเงินล้าน

 

เช่น จะซื้อของมีให้เลือก ร้านกาแฟทุนกับร้านกาแฟของเพื่อนที่มีทางสะสมแต้ม ราคาถูก มีอะไรให้ผมเลือกไปซื้อเจ้านายทุน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเขาคิดมาก่อน และผมให้เครดิตลอกเขามาเลย ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพราะหมุนจากระบบเศรษฐกิจที่มันเพิ่มขึ้นมาอยู่แล้ว

 

การเมืองคือแก้รัฐธรรมนูญ 100 วัน, ที่ดินมีหลายประเภท มีอยู่ประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า นิคมสหกรณ์กับนิคมสร้างตนเอง เป็นกฎหมายที่มี พ.ร.บ.อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2511 ที่ไม่ต้องแก้กฎหมาย ขอแค่รัฐบาลมีเจตจำนงผลักดันให้เป็นนิคมสหกรณ์ 14 ป่า 1.5 ล้านไร่ ทำได้เลยภายใน 100 วัน ถ้า ครม.ให้ผ่านก็กระจายได้เลย ส่วนนิคมสร้างตัวเองอีก 5 ล้านไร่ ฉะนั้น 6.5 ล้านไร่ ภายใน 100 วันแรก เราสามารถติดกระดุมเม็ดแรกให้กับประชาชน

 

ตรงนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ การเมืองระดับสากล ประธานาธิบดีสหรัฐ นายกฯญี่ปุ่น นายกฯ ในยุโรป ทุกคนเขาก็ประกาศกับพี่น้องประชาชนทั้งนั้นว่า 100 วันแรกเขาทำอะไร ภายใต้เงื่อนไขไม่ต้องเอางบประมาณเพิ่มและไม่ผ่านกฎหมาย

 

พิธีกร : หากพูดถึงกฎหมายหลายพรรคก็บอกว่ามีกฎหมายกิโยติน (ทบทวนกฎหมาย) ต่างๆ ก้าวไกลมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร

พิธา : เราแตกต่างจากพรรคอื่น เขาถามข้าราชการ แต่เราถามเอกชน หากถามราชการเขาก็จะบอกว่าสำคัญหมด กฎหมายนี้ปี 2494 ก็ยังสำคัญ ส่วนเอกชนก็จะทราบดีว่าบางอันซับซ้อนใช้เวลานานมีต้นทุน ร้ายที่สุดเปิดทางส่วยอีก แต่ของผม ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นประธานกรรมาธิการเศรษฐกิจ จึงตั้งอนุฯ กิโยตินขึ้นมาเลย

 

คราวนี้อนุฯ นี้ก็เรียกราย sector เอกชนมาและบอก 1,047 ฉบับ ตัดตรงไหนได้บ้าง ศิริกัญญาก็เลยวางแผน แบ่งเป็นครึ่งๆ ครึ่งแรกแทบไม่ได้ใช้ ทิ้งได้เลย 700 กว่า แต่อีก 500 กว่า ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน  อาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มในการบริหารจัดการ และผมคิดว่า เรื่องพวกนี้เราทำได้ เพราะเวลาดีเบต พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคจะพูดเหมือนกัน คุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย) ก็จะมีชุดของเขา เฉพาะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเอกชนเป็นคนคิด มีสตรีมไลน์ เจตจำนงทางการเมืองก็ทำได้ 

 

พิธีกร : จะเข้าสู่ 100 วันต้องได้กี่เสียง

พิธา : น้ำหนักทางการเมืองมากที่สุด ตอนนี้เป้าขยับขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้น่าจะทะลุร้อย คิดว่ามีน้ำหนักทางการเมืองพอที่จะทำให้ฝ่ายค้านร่วมกันตั้งรัฐบาลได้ 

 

พิธีกร : จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องเป็นพรรคที่ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล 

พิธา : หวังว่าจะเป็นพรรคที่ 1 แต่หากไม่ได้เป็นพรรคที่ 1 ก็ควรที่จะให้สิทธิ์ที่พรรคเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้มาเป็นที่ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอเขาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

พิธีกร : หากพรรคลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) ได้เป็นที่หนึ่ง

พิธา : ผมคิดว่าเป็นการอนุมานที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เอาให้ถึง 25 ก่อนเถอะ 

 

พิธีกร : เขาก็ประเมินเป็น 100 นะ

พิธา : ต่างคนต่างประเมิน แบบนี้ต้องเชิญลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มานั่ง เพราะพิธาก็จะประเมินอีกแบบหนึ่ง 

 

พิธีกร : ส่วนแนวคิดประชาธิปไตยคิดเห็นอย่างไรกับการที่คนอาสาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ลงทั้งปาร์ตี้ลิสต์ไม่ลงเขต 

พิธา : ในมุมมองของพรรคก้าวไกลเราต้องการที่จะสื่อเจตนารมณ์ตั้งแต่ 2535 พฤษภาทมิฬ มาจาก สส.ยึดโยงทั้งสภาและฝ่ายบริหาร เวลาถามกระทู้ก็ต้องมา เพราะหน้าที่ปกติในการที่จะทำแบบนั้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่าไม่จำเป็น แต่อย่างน้อยมีแคนดิเดตนายกฯ และได้สัญญากับประชาชนว่าคนคนนี้จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ แม้จะนอกสภา แต่ไม่ได้นอกกติกา แต่ที่เรารับไม่ได้ในระบบประชาธิปไตยคือลอยมาพวกที่ลอยมา คนนอกกับคนกลางไม่สนใจ อยู่ๆ เหมือนกับตอนแก้รัฐธรรมนูญปี 60

 

ตอนนั้นเราก็รู้สึกไม่ตรงปก ประชาชนเลือกตั้งไปแล้ว และอย่างน้อยไม่ได้เป็นทั้ง สส.และบัญชีรายชื่อ มันจะมีระบบยึดโยงของพรรคการเมืองมันก็จะยากหน่อย และการบริหารก็สำคัญ พอผ่านกฎหมายผ่านงบประมาณ ก็ต้องมี สส.อยู่ในมือ อยู่ในสภา ถึงแม้จะเป็นฝ่ายบริหารถ้าเกิดเป็นนายกฯ ขาลอย ไม่ได้เป็น สส.ด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะคุมสส.ในสภาได้หรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาก็ลำบาก พรรคเราก็เลยตัดสินใจแบบนี้ เป็นทางแคนดิเดต และเป็น สส. 

 

พิธีกร : สู้ระบบอุปถัมภ์ได้หรือไม่เพราะยังไงเมืองไทยก็ยังเป็นสองนครา

พิธา : ได้ เพราะตอนนี้ผมมีหัวคะแนนธรรมชาติ ผมมีบอกเก้าเล่าสิบ เวลาไปหาเสียงในตลาดผมขอบคุณเขา แนะนำเสร็จ บอกเขาว่า ต้องขออภัยจุดอ่อนของพรรคก้าวไกล คือ ทรัพยากร เพราะเราไม่เอาจากทุนใหญ่ ป้ายอาจจะน้อยหน่อย แต่ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปกับพรรคก้าวไกลได้ มีพี่บอกพี่มีพ่อบอกพ่อ มีน้องบอกน้อง ช่วยกันบอกไปเลือกตั้งอย่าไปคนเดียว

 

ไปให้เหมือนกับไปกินหมูกระทะถึงจะสนุก ไปคนเดียวไม่สนุก เอาพ่อแม่ไปเลือกกันด้วย หรือถ้าท่านถ่ายคลิปถ่ายรูปเราอยู่ ท่านเก่งเรื่อง social อัปใน tiktok ให้ผมหน่อย อัปใน LINE ให้ผมหน่อย 

 

เพราะหากพูดในภาษานักธุรกิจ การค้ามีทั้งการค้าปลีกและการค้าส่ง ถ้าเป็นแบบหัวคะแนนธรรมชาติ คุณไม่ต้องไปเจอลูกค้า คุณไม่เข้าใจหรอกว่า ตอนนี้ลูกค้าลำบากขนาดไหน ปากกัดตีนถีบ ชักหน้าไม่ถึงหลังขนาดไหน คุณจะไปแค่ระบบหัวคะแนน ระบบอุปถัมภ์ของคุณ พอคุณได้แล้วคุณก็ลืมลูกค้า ของผมไม่ใช่อย่างนั้น ปฏิเสธระบบอุปถัมภ์ตรงหาลูกค้าใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ใช้ทรัพยากรใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์ อันนี้เกมพลิกการเมืองแบบที่เป็นอยู่

 

แต่ยังคิดว่ากฎหมายการเลือกตั้งยังต้องแก้อีกเยอะ การหาระดมทุนอะไรสักอย่างยังมีปัญหาเช่น 164 ที่ท่านบริจาคให้ผม 47 ล้าน เป็นอันดับ 1 มา 4 ปีซ้อนเอามาใช้เลือกตั้งไม่ได้ ตอนแรกดูเหมือนมีเงิน กกต.บอกให้เอามาเลือกตั้ง พอเลือกตั้งก็มาระดมทุนกันใหม่ทุกครั้ง แต่เป็นจุดอ่อนของผมที่กลายมาเป็นจุดแข็งตรงที่ทำให้ผมมีอิสระ

 

การอภิปรายในการเสนอกฎหมายและโอกาสที่ผมจะเข้ามาพลิกคอร์รัปชันทีหลัง เพราะเป็นหนี้บุญคุณใครก็ไม่มี 
 

.....
รายการเนชั่นสุดสัปดาห์ ดำเนินรายการโดย 3 บก. ประกอบด้วย สมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และวีระศักดิ์ พงษ์อักษร บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ